อินเดียใช้ซอฟต์เพาเวอร์ที่เหนือกว่าจีนอย่างเห็นได้ชัดในกรณีวัคซีนโควิด-19

ในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศนั้นก็เป็นเรื่องของการใช้อำนาจและอิทธิพลเช่นเดียวกับการเมืองภายในประเทศ จึงเป็นที่มาของประโยคที่ว่า “การเมืองคือเรื่องของอำนาจ” ซึ่ง ศาสตราจารย์โจเซฟ ไน นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันได้อรรถาธิบายเรื่องการใช้อำนาจในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศออกเป็น 2 ประเภท คือ ฮาร์ดเพาเวอร์ (Hard Power) กับซอฟต์เพาเวอร์ (Soft Power) คือ

1.ฮาร์ดเพาเวอร์ (Hard Power) มี 2 องค์ประกอบหลักคือการใช้กำลังอำนาจทางทหารเข้าข่มขู่ หรือเข้าปฏิบัติการ เช่น การที่สหรัฐอเมริกาส่งเรือบรรทุกเครื่องบินไปที่อ่าวเปอร์เซีย เพื่อข่มขู่อิหร่าน หรือส่งกองเรือรบแล่นลาดตระเวนบริเวณช่องแคบไต้หวัน เพื่อข่มขู่จีนเป็นต้น และการใช้กำลังอำนาจทางเศรษฐกิจเข้าบีบคั้นประเทศต่างๆ อาทิ การบอยคอตทางเศรษฐกิจที่สหรัฐ
ทำต่อประเทศอิหร่านรวมไปถึงประเทศคู่ค้าของอิหร่านด้วย หรือการทำสงครามการค้าด้วยการขึ้นภาษีสินค้า
ของจีนที่ส่งเข้าสหรัฐอเมริกาเป็นต้น

2.ซอฟต์เพาเวอร์ (Soft Power) เป็นเรื่องที่มีการอ้างอิงถึงบ่อยมาก เพราะซอฟต์เพาเวอร์เป็นกระบวนการสร้างความคล้อยตาม ยอมตามโดยปราศจากการบังคับของนานาประเทศ โดยมีหลักการสำคัญ 3 ข้อ คือ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ ซึ่งในบทความนี้จักเน้นการใช้นโยบายต่างประเทศเป็นหลักระหว่างอินเดียกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในทางภูมิรัฐศาสตร์

ปัจจุบันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สร้างความหายนะให้แก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ถึงขนาดผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนสะสมไม่น้อยกว่า 112 ล้านคน พร้อมกันนั้นยังคร่าชีวิตผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปแล้วเกือบ 2.5 ล้านคน ทำเอาชาติมหาอำนาจตะวันตกพากันตื่นตระหนก เมื่อมีการผลิตวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ ต่างก็แสดงความเห็นแก่ตัวพากันซื้อวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 มากักตุนเอาไว้อย่างล้นหลามทำให้ประเทศที่ด้อยพัฒนา และประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายในโลกแทบจะไม่มีทางได้มีโอกาสใช้วัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 เหล่านี้เลยจึงเป็นโอกาสที่ 2 มหาอำนาจใหญ่ในทวีปเอเชียคือ สาธารณรัฐประชาชนจีนกับอินเดียใช้วัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้เป็นนโยบายต่างประเทศในแบบซอฟต์เพาเวอร์ได้อย่างสะดวก

Advertisement

โดยทางอินเดียได้จัดตั้งโครงการที่ นายนเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดีย ตั้งชื่อว่าโครงการ “วัคซีนไมตรี (Vaccine Maitri)” ซึ่งเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อแข่งขันการขยายอิทธิพลทางซอฟต์เพาเวอร์ของจีน ที่กำลังแผ่ออกไปอย่างกว้างขวางในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งภูมิภาคอื่นๆ โดยเป็นปฏิบัติการของทางการอินเดีย ที่กำลังพยายามแสดงให้เห็นว่า ประเทศอินเดีย แม้ว่าจะเป็นรองสาธารณรัฐประชาชนจีนในด้านการทหาร และเศรษฐกิจกันอยู่ก็ตาม แต่ทางด้านการแพทย์ การสาธารณสุข และการผลิตวัคซีน ตลอดจนยาเวชภัณฑ์แล้วทางอินเดียเหนือกว่าจีนหลายขุมทีเดียว เนื่องจากทางการอินเดียได้ดำเนินการผลิตวัคซีนหลายชนิด ทั้งชนิดที่ผ่านการวิจัยพัฒนาจากต่างประเทศ เช่น ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ที่วิจัยพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด จากประเทศอังกฤษ คือวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า-มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ทางสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ได้ลิขสิทธิ์มาผลิตเป็น “โควิดชิลด์” ที่ผลิตในอินเดีย นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนขนานที่อินเดีย วิจัยพัฒนาขึ้นมาเอง มีชื่อว่า “โควาซิน” ซึ่งผลิตโดยบริษัท ภารัตไบโอเทคในอินเดียโดยวัคซีนทั้งสองชนิดของอินเดีย จำนวนหลายร้อยล้านโดสเหล่านี้ ทางการอินเดียก็จะแจกจ่ายให้แก่บรรดาประเทศเพื่อนบ้านของอินเดียในแถบเอเชียใต้ เอเชียกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ภูฏาน เนปาล บังกลาเทศ มัลดีฟส์ และเมียนมา รวมถึงศรีลังกา และอัฟกานิสถาน นอกจากนี้ ในปฏิบัติการแจกวัคซีนหนแรกนี้ ทางโครงการวัคซีนไมตรีของอินเดีย ยังไปไกลถึงแอฟริกาตะวันออก เช่น ประเทศมอริเชียส และประเทศเซเชลล์ ไปเรียบร้อยแล้ว

ในขณะที่ทางสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ให้บริษัทเวชภัณฑ์ของทางการในกรุงปักกิ่ง วิจัยพัฒนาวัคซีนขึ้นมาได้ก่อน เช่น วัคซีนชนิด “โคโรนาแวค” หรือที่ถูกเรียกกันคุ้นปากว่า “ซิโนแวค” โดยเรียกตามชื่อบริษัทผู้ผลิตคือ “ซิโนแวค ไบโอเทค” และวัคซีนชนิด “ซิโนฟาร์ม” ของบริษัท ซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นบริษัทด้านเวชภัณฑ์จากจีนเช่นกัน โดยวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ของจีนได้ออกมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยเริ่มฉีดให้แก่บุคลากรในกองทัพปลดปล่อยประชาชน หรือพีแอลเอก่อน ส่วนในปฏิบัติการซอฟต์เพาเวอร์ของจีน ก็ได้นำวัคซีนทั้ง 2 ชนิด บริจาคให้แก่ประเทศต่างๆ หลายภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว ตุรกี เป็นต้น นอกจากนี้ ก็ยังมีบริจาคให้แก่กลุ่มประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ตลอดจนในละตินอเมริกาบางประเทศอีกด้วย

แต่ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้ออกมาวิจารณ์รัฐบาลจีนอย่างรุนแรง เมื่อกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยกล่าวว่า กัมพูชาไม่ใช่ถังขยะ และจะไม่ยอมเป็นพื้นที่ทดลองวัคซีนให้ใคร โดยจะขอรับวัคซีนเฉพาะชนิดที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกเท่านั้น ซึ่งท่าทีที่แข็งกร้าวต่อจีนของสมเด็จฮุน เซน เกิดขึ้นในช่วงที่ตอนนั้นมีรายงานว่า รัฐบาลจีนเตรียมบริจาควัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวคซึ่งมีประสิทธิภาพ 50.4% ที่รัฐบาลกัมพูชาจะไม่ต้องการวัคซีนของบริษัทซิโนแวค จนกระทั่งมีการเจรจากันใหม่ ซึ่งทางสาธารณรัฐประชาชนจีนเปลี่ยนให้บริจาควัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนฟาร์มซึ่งมีประสิทธิภาพ 79% ให้กับทางการกัมพูชาแทน

Advertisement

ในขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวคจากสาธารณรัฐประชาชนจีนตามที่อุปทูตของสาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศอย่างภาคภูมิใจ

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ประเทศอินเดีย เป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่สุดของโลก และได้รับอนุญาตให้เป็น
ผู้ผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า-มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดอีกด้วย ทำให้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อแห่งทวีปแอฟริกา เปิดเผยว่า อินเดียตกลงที่จะส่งมอบวัคซีนให้กับทวีปแอฟริกาอีก 400 ล้านโดสซึ่งเป็นหลักฐานที่แจ่มชัดว่าในการรณรงค์ซอฟต์เพาเวอร์ในกรณีของวัคซีนต้านโควิด-19 ระหว่างอินเดียกับสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น อินเดียดูจะเหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image