เดินหน้าชน : ยุติรุนแรง

ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของ ร.ต.อ.วิวัฒน์ เสริฐสนิท สังกัด สน.ธรรมศาลา เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เสียชีวิตจากการทำหน้าที่ กรณีการชุมนุมของกลุ่มรีเดม (REDEM) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ และก็คงไม่สามารถไปโทษใครได้

เพราะเป็นการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ต่างเห็นว่าแนวทางของตนเองเป็นแนวทางที่ถูกต้อง

คงได้แต่ฝากถึงทุกคนที่เกี่ยวข้อง ควรระมัดระวังอย่าให้เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดเช่นนี้อีก

Advertisement

ไม่ว่าจะจากการปะทะกันของทั้งสองฝ่าย หรือแม้แต่การเตรียมตัวและการดูแลของแต่ละฝ่าย

ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง เจ้านายก็ต้องคอยสอดส่องดูแลเอาใจใส่ตำรวจชั้นผู้น้อยที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ มีปัญหาอะไร
ที่น่าเป็นห่วงหรือไม่

ฝ่ายผู้ชุมนุมก็ควรต้องหาวิธีดูแลผู้ชุมนุมที่ตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุม

Advertisement

จะดูแลกันอย่างไรไม่ให้ลุกลามขยายวงจนไม่สามารถควบคุมได้

เพราะจะทำให้เกิดความชอบธรรมในการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม

สิ่งสำคัญที่สุดเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลายในการชุมนุมทุกครั้ง

จะต้องไม่มีการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบอย่างเด็ดขาด

แม้ว่าการชุมนุมได้มีการพัฒนามาถึงจุดที่ไม่มีแกนนำ

จะด้วยสาเหตุแกนนำถูกจับกุมไปหลายคน

หรือเป็นกลยุทธ์ใหม่ในการชุมนุมก็ตาม

หากทุกฝ่ายไม่ช่วยกันหาทางแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงในการชุมนุมและการสลายการชุมนุม

เดาได้ไม่ยากว่าสถานการณ์จะนำไปสู่ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างไร

เพราะทุกคนต่างผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงอันเลวร้ายครั้งแล้วครั้งเล่าในอดีตมาแล้ว

เราไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปสู่จุดนั้น ซ้ำรอยประวัติศาสตร์อีก

ช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมักมีประสบการณ์จากการชุมนุมของม็อบในรูปแบบที่มีการจัดตั้ง มีแกนนำ

มีระบบบริหารจัดการการชุมนุมในรูปแบบต่างๆ และยุทธวิธีทั้งแบบกองโจร แบบจรยุทธ์ในเมือง

เราจึงมีประสบการณ์เห็นการชุมนุมแบบนี้กันมาทั้งชีวิต

พอมาเจอรูปแบบการชุมนุมแบบใหม่ มาเจอม็อบไม่มีแกนนำ

หากยังใช้วิธีรับมือกับม็อบแบบเดิม ใช้น้ำฉีด แก๊สน้ำตา กระสุนยาง

นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาได้แล้ว จะยิ่งทำให้ม็อบขยายวงกว้างออกไปอีก

เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ ไม่กลัวการกระทำของเจ้าหน้าที่

และจะเริ่มหาวิธีมาตอบโต้เจ้าหน้าที่รุนแรงมากขึ้น

ความจริงแล้ว หากการชุมนุมโดยผู้ชุมนุมปราศจากอาวุธ

เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิใช้ทั้ง น้ำฉีด แก๊สน้ำตา หรือกระสุนยาง ทำให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ

เพราะจะทำให้สถานการณ์ส่อเค้าบานปลายออกไปจนควบคุมยาก

สังเกตได้จากเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น ทุกครั้งที่มีการฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา เข้าใส่ผู้ชุมนุม

จนพัฒนามาเป็นเหตุการณ์วันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมามีการใช้กระสุนยาง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

ทุกครั้งจะเห็นการปะทะกันรุนแรงมากขึ้น และอนาคตมีโอกาสถึงขั้นใช้อาวุธจริงกันได้

ทางที่ดีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

เพราะลำพังตำรวจชั้นผู้น้อยที่เผชิญหน้าผู้ชุมนุม ย่อมต้องทำตามคำสั่งเจ้านาย

ดังนั้นผู้ที่รับผิดชอบทั้งสองฝ่าย จะต้องศึกษาบทเรียนการปะทะกันครั้งนี้

แล้วเร่งหาทางแก้ไข เพื่อไม่ให้ต้องวนกลับไปที่เก่า ใช้ความรุนแรงกัน เกิดความสูญเสียเหมือนในอดีต

สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image