“พี่โทนี่” เปิดสูตรธุรกิจ SME ชี้ไอเดียสำคัญสุด แนะแนวธุรกิจหลังโควิด

“พี่โทนี่” เปิดสูตรธุรกิจ SME ชี้ไอเดียสำคัญสุด แนะแนวธุรกิจหลังโควิด

เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 2 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มแคร์ได้เปิดคลับเฮ้าส์ห้อง ”SMEs มีปัญหา ปรึกาพี่โทนี่” ซึ่งมี Mr.Tony Woodsome หรือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เข้ามาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำธุรกิจ SME ผ่านแอพพลิเคชั่น Clubhouse โดยมีนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกฯ , ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดัง เข้าร่วมเสวนาในห้องดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้นายทักษิณ ในชื่อแอคเคาน์ว่า Tony Woodsome เล่าถึงชีวิตในอดีตจากการทำธุรกิจล้มเหลว ตั้งแต่ทำธุรกิจผ้าไหม ทำคอนโด ทำโรงหนัง ติดหนี้เช็คเด้งและโดนคดีหลายครั้ง ก่อนจะค่อยๆประสบความสำเร็จจากการทำธรุกิจเมนเฟรม คอมพิวเตอร์กับบริษัทไอบีเอ็ม โดยได้รับทุนจากภรรยา ก่อนจะต่อยอดไปสู่ธุรกิจการสื่อสาร เคเบิลทีวีไอบีซี โฟนลิงค์ จนกระทั่งอายุ 43 นิตยสารฟอร์บส์ ประเมินทรัพย์สินของตนเอาไว้ที่ 60,000 ล้านบาท

ทักษิณ เล่าถึงวิธีคิดในการลุกขึ้นจากความล้มเหลว ว่า ปัญหามีไว้แก้ เวลานอนอย่าแบกปัญหาเอาไว้ ต้องรู้จักการปล่อยวาง ยกตัวอย่างตนมีคดีวันรุ่งขึ้นก็นอนหลับได้เสมอ ตื่นขึ้นมาค่อยคิดใหม่  และบอกด้วยว่าที่ปรึกษาที่ดีที่สุดของตนคือคุณหญิงพจมาน ชินวัตร อดีตภรรยา

Advertisement

ทักษิณ เล่าด้วยว่า การจะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น การเงินจะต้องโปร่งใส ต้นทุนต้องโปร่งใสจะได้รับความเชื่อมั่น  ขณะที่ SME นั้นการจะเข้าตลาดจะต้องเริ่มทำ บัญชีชี้ให้เห็นว่าธุรกิจเราเป็นอย่างไร นอกจากนี้การทำบัญชียังช่วยให้ปรับปรุงประสิทธิภาพของธุรกิจได้ด้วย ยกตัวอย่างตนเคยใช้ซอฟท์แวร์มูลค่า 150 ล้านบาท ทำให้ระบบบัญชีสามารถปิดบัญชีได้ทุกวัน สามารถคุมระบบได้ การทำธุรกิจต้องกล้าใช้เทคโนโลยี และใช้บริการที่เป็นมืออาชีพ

ทักษิณ พูดถึงเรื่องการบริหารคนด้วยว่า ตนเป็นคนไม่หยุดนิ่ง ต้องพัฒนาตัวเองตลอด ครั้งหนึ่ง เอไอเอส ที่เคยเป็นเบอร์ 1 มาตลอด อยู่ๆ กลายเป็นเบอร์สอง เพราะแพ้ ดีแทค สาเหตุที่แพ้ก็คือ การดึงคนที่มาจากรัฐวิสาหกิจ และระบบราชการมาทำหลายคน กลายเป็นการทำให้วัฒนธรรมองค์กรเต็มไปด้วยกฎระเบียบ ตนจึงต้องออกกฎว่า ใครทำผิดระเบียบแล้วเป็นประโยชน์กับบริษัทจะให้รางวัล สุดท้ายระเบียบลดลงเรื่อยๆ และบริษัทกลับมาเป็นอันดับ 1 อีกครั้ง

กลับมาพูดถึง SME ทักษิณ ระบุว่า ให้ทบทวนไอเดียธุรกิจ ว่าทำถูกทางหรือไม่ เป็นเรื่องที่สำคัญกว่าเงิน เอาไอเดียมาคิดก่อน อย่าโลภ โกรธ หลง ให้ปล่อยวาง และคิดให้ได้ว่าสิ่งที่กำลังจะทำนั้นทำได้จริงหรือไม่ มีความคิดสร้างสรรค์เพียงพอหรือไม่ และถ้าเป็นไปได้ให้นำเทคโนโลยีมาใช้ ต่อไปลูกค้าจะไปทางดิจิทัลหมด หากได้ไอเดียแล้ว ค่อยไปขอทุนกับธนาคาร ธนาคารก็จะให้กู้ ส่วนวิธีทดสอบว่าไอเดียถูกต้องหรือไม่ ให้ทดสอบและทำเซอร์เวย์แบบง่ายๆก่อน

Advertisement

สำหรับคนที่เป็นพนักงานออฟฟิสที่จะตัดสินใจออกมาเป็นผู้ประกอบการ ทักษิณระบุว่า ต้องมีไอเดียก่อนเป็นอันดับแรก และต้องแตกต่างจากคนอื่นๆ การอ่านหนังสือ การได้เรียนรู้แบบไม่หยุดจะช่วยให้มีไอเดียมากขึ้น ไปงานสัมมนา หรืองานแสดงสินค้าก็ช่วยให้สร้างความแตกต่างได้

เมื่อถามว่าธุรกิจในยุคหลังโควิดจะเป็นอย่างไร ทักษิณ ระบุว่า โควิด ทำให้คนได้รับบทเรียนหลายอย่าง เช่น ด้าน สุขภาพ คนจะเริ่มใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทั้งการรักษาความสะอาด ภูมิคุ้มกัน จากการกินอาหารที่เหมาะสม การออกกำลังกายสม่ำเสมอ เรื่องสุขภาพ จะมาแรง หลังจากที่ทุกอย่างเปิด จะมีการ “ช็อปปิ้งแบบแก้แค้น” ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ แต่ออนไลน์ จะมาแรงมาก

ทักษิณระบุว่าหลังจากนี้ จะมีการเรียนรู้จากที่บ้านจะเพิ่มมากขึ้น ในอนาคต 20 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานจะทำงานที่บ้าน ซึ่งปัจจุบันก็มีการปรับตัวกันมากขึ้นแล้ว

สำหรับภาคการท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวทางธุรกิจจะลดน้อยลง การท่องเที่ยวแบบพักผ่อนหย่อนใจจะมากขึ้นเพราะคนเก็บกด สปริงจะกลับมาเด้งขึ้น ธุรกิจต่างๆก็ต้องปรับตัวรับนักท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนหย่อนใจมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ทักษิณยังเสนอเรื่อง คราวด์ฟันดิ้ง ที่ทำให้มีการกู้ยืมแบบ peer to peer ได้ นอกจากนี้ยังเสนอเรื่อง major capital ซึ่งตนก็ใช้วิธีการนี้ลงทุนในสตาร์ทอัพในอังกฤษเช่นกัน เมื่อมีคนมาเสนอไอเดีย ตนก็ให้ทุนไปทดลอง และเริ่มต้นธุรกิจต่อไป

เรื่อง Bitcoin และ สกุลเงินดิจิทัล ทักษิณระบุว่า จะขึ้นไปเรื่อยๆ แต่รายย่อยจะล้มเหลวได้ง่าย เหมาะกับการถือยาวๆมากกว่า โดยตนเล่นในเงินดิจิทัลแค่นิดหน่อยเท่านั้น

ภายในปี 2022 แรงงานทั้งโลกต้องปรับการทำงาน และพัฒนาการทำงานให้มากขึ้น เนื่องจากหุ่นยนต์จะมาแทนที่ สำหรับไอเดียธุรกิจใหม่ๆ ตนอายุมากแล้ว จะทำอะไรใหม่ๆเสี่ยงๆนั้นไม่มีแล้ว แต่จะเป็นการนำเงินไปลงทุนในสตาร์ทอัพใหม่ๆที่น่าสนใจมากกว่าเช่น

เมื่อผู้ร่วมสนมนาในคลับเฮ้าส์ถามว่า ธุรกิจที่บ้านตนทำแข่งขันกับประเทศจีน เราจะทำอย่างไรดี นายโทนี่ตอบว่า อันนี้เป็นปัญหาที่จะมาอีกเรื่อยๆ เพราะศัยภาพในการผลิตสินค้าของจีนมีมากจริงๆ เขาสามารถทำได้ในราคาถูก และเร็ว เราจะเหนือกว่าเาได้คือความครีเอทและคุณภาพ แต่ถ้าจะแข่งขันกันที่ผลิตภัณฑ์จะสู้ยากมาก ซึ่งเรื่องนี้รัฐต้องเข้ามาช่วยว่าจะทำอย่างไรให้เราสู้เขาได้ ให้คนในประเทศสู้เอง เราสู้ไม่ไหวแน่ ดังนั้น เราต้องคิดเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง และปรับความสามารถของเรา นอกจากนี้ รัฐมีหน้าที่ที่ต้องให้ความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการณ์ในประเทศ เราจะทำอย่างไรให้คนไทยมีโอกาสในการแข่งขัน เราจับมือกันในอาเซียนไหม เรา้องเดินเกมส์เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ และยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ ไม่อย่างนั้นเราสู้ยักษ์ใหญ่อย่างจีน และอเมริกาไม่ได้เลย

ต่อข้อถามเรื่องปัญหาการผูกขาด ปลาใหญ่กินปลาเล็ก การแข่งขันกับต่างชาติ ยกตัวอย่างการเริ่มธุรกิจแบบทักษิณนั้นทำได้ยาก กฎหมายไม่เอื้อ จะแก้ปัญหานี้อย่างไร

ทักษิณระบุว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็กเป็นเรื่องปกติของทุนนิยม แก้ปัญหานี้เป็นหน้าที่ของภาครัฐจะต้องสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น หลังจากนี้แต่ละประเทศจะมีนโยบายเรื่องปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศมากขึ้นในเวทีต่างประเทศ ไทยเราก็ต้องมีด้วย โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

เมื่อถามถึงธุรกิจ DNA mapping ธุรกิจนั้นเป็นอย่างไรบ้างแล้ว

ทักษิณ ระบุว่า ธุรกิจนั้นก็ไปได้ดี หลังเกิดโควิด-19 ก็ปรับเครื่องตรวจดีเอ็นเอดังกล่าว ไปตรวจไวรัสโควิด-19 มีการขายเครื่องตรวจไปหลายล้านเครื่องและกำลังจะเข้าตลาดที่สหรัฐอเมริกาด้วย

สำหรับคำถามที่ว่าตนสนใจเรื่องธุรกิจสุขภาพได้อย่างไร ทักษิณระบุว่าหนึ่งเพราะอายุเยอะขึ้น เริ่มมีความรู้เรื่อง Bio Medicine นอกจากธุรกิจ DNA แล้ว ก็ยังมีอีกธุรกิจที่ไปลงทุนเอาไว้เป็นเทคโนโลยีตรวจมะเร็งจากลมหายใจซึ่ง ก็กำลังจะเข้าตลาดเช่นกัน

นายโทนี่ กล่าวอีกว่า วันนี้ประเทศไทยเรามีคนเก่งๆ มีคนรุ่นใหม่ที่เก่งอยู่เยอะมาก แต่เราจะให้โอกาส และส่งเสริมเขาอย่างไรเท่านั้น วันนี้ เราต้องช่วยกันสร้างะุรกิจที่เป็นความคิดใหม่ๆของคนรุ่นใหม่ อาจจะศึกษาสิ่งที่สำเร็จในต่างประเทศ มาผสานกับความเป็นไทยๆ การเษตรที่ประเทศเราเป็นหลักอนาคตจะใช้โรบ็อทมากขึ้น เราต้องคิดทำอะไรที่มันแตกต่าง อย่างไรก็ตาม วันนี้หลักประกันของประเทศเราท่ามกลางรัฐธรรมนูญแบบนี้ยังต่ำอยู่ จึงไม่มีใครมาลงทุน เราจึงต้องสร้าง ‘ทรัสต์’ ก่อน

เมื่อถามว่า ถ้าคุณโทนี่เป็นนายกฯ จะส่งเสริมสตาร์ทอัพอย่างไร นายโทนี่ตอบว่า สตาร์ทอัพคือการสร้างธุรกิจใหม่ด้วยไอเดียใหม่ เราจะสร้างช่องทาง โดยอาจจะประกวดไอเดียสตาร์ทอัพ เราต้องมีกองทุนให้มหาวิทยาลัย เพื่อให้เด็กและอาจารย์มาร่วมกันคิดเพื่อสร้างสตาร์ทอัพใหม่ๆ ดังนั้น รัฐต้องดำเนินการในสิ่งนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีช่วงหนึ่งที่ผู้เข้าฟังมาแชร์ปัญหาเรื่องระบบระเบียบที่ทำให้ค้าขายปลาสวยงามไม่ได้ นายโทนี่จึงแนะนำว่า ให้บุกไปพบร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรร์เลย เพราะคนที่บุคลิกนักเลงๆแบบนี้ ตนเชื่อว่าเขากล้าช่วย ดีไม่ดี จะสามารถแก้ไปหาให้ได้ทันทีเลย

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image