รายงานหน้า 2 : จับเข่าคุย‘คุณหญิงกัลยา’ ดัน‘โค้ดดิ้ง’ปฏิรูปประเทศ

รายงานหน้า 2 : จับเข่าคุย‘คุณหญิงกัลยา’ ดัน‘โค้ดดิ้ง’ปฏิรูปประเทศ

รายงานหน้า 2 : จับเข่าคุย‘คุณหญิงกัลยา’ ดัน‘โค้ดดิ้ง’ปฏิรูปประเทศ

หมายเหตุ มติชนสัมภาษณ์พิเศษคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้โค้ดดิ้งในโรงเรียนซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 10 นโยบายหลักที่ดำเนินการมากว่า 1 ปี

⦁ ความคืบหน้าการดำเนินการนโยบายโค้ดดิ้งในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา

เฉพาะในส่วนของ ศธ. เดินหน้าไปค่อนข้างมาก มีการอบรมครู ทั้งแบบตัวต่อตัว และในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 มีการพัฒนาหลักสูตรสำหรับสอนออนไลน์ 4 หลักสูตร ในระดับประถมศึกษาตอนต้น ประถมศึกษาตอนปลาย มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือที่เรียกว่า อริยสัจสี่ เปิดโอกาสให้ครูทั่วประเทศไม่ว่าจะจบอะไรมาก สามารถที่จะเรียนโค้ดดิ้งได้ โดยขณะนี้มีการอบรมครูไปแล้วกว่า 2 แสนคน ที่ผ่านมามี Coding for Teacher ต่อมาได้พัฒนาเป็น Coding Online for Teacher Plus ซึ่งต้องผ่านการอบรมในรอบแรกมาก่อนจึงจะสามารถเข้ามาอบรมตรงนี้ได้ นอกจากอบรมแล้ว เพื่อให้ความมั่นใจว่าโค้ดดิ้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับบริบทการเรียนการสอนของแต่ละภูมิภาคแต่ละกระทรวง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดวิทยากรลงไปอบรมโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกล จำนวน 13 โรงเรียน ให้สามารถเรียนโค้ดดิ้งและบูรณาการกับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างน่าสนุก ซึ่งมีทั้งโค้ดดิ้งรำแต้ๆ โค้ดดิ้งปลาเค็ม โค้ดดิ้งกะปิคลองโคน ลงไปเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชุมชน

Advertisement

⦁ โค้ดดิ้งกับเศรษฐกิจชุมชน เกี่ยวข้องกันอย่างไร

โค้ดดิ้ง คือ สอนให้คนคิดวิเคราะห์ อย่างมีเหตุ มีผล เป็นระบบเชิงคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แก้ปัญหาเป็นขั้นตอน เพราะฉะนั้นจึงสามารถนำหลักการไปปรับใช้กับบริบทต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การท่องเที่ยว เป็นการสอนให้คนคิดเป็นระบบ เป็นเหตุ เป็นผล เป็นขั้น เป็นตอน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าและแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อนได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเรียนสาขาใดก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้

⦁ พอใจกับผลการทำงานที่ผ่านมาหรือไม่

Advertisement

พอใจ เพราะผลักดันจนถูกบรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วน ข้อที่ 7 ของรัฐบาล มีคำว่า Coding for Allin ขณะนี้ขยายออกไปสู่ภายใน ศธ. โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญ ตั้งคณะกรรมการโค้ดดิ้งแห่งชาติ มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนจากทุกกระทรวง รวมถึงภาคเอกชน มาร่วมเป็นกรรมการ เพื่อจัดทำหลักสูตรโค้ดดิ้งสำหรับคนวัยทำงานอาชีพต่างๆ นอกจากนี้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตั้งอนุกรรมการ เพื่อใช้โค้ดดิ้งในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น โค้ดดิ้งจึงมีความเชื่อมโยงทั้งระบบ โดยจะใช้โค้ดดิ้งเพิ่มมูลค่าให้กับประชาชนทั้งประเทศไม่ว่าจะระดับไหนก็ตาม

⦁หมายความว่าโค้ดดิ้งไม่ใช่แค่เรื่องในโรงเรียน?

ไม่ใช่เลย โค้ดดิ้งเป็นมากกว่าดิจิทัล แต่เราต้องเรียนโค้ดดิ้งเข้าใจแล้ว จึงจะไปแปลเป็นภาษาดิจิทัล ดังนั้นโค้ดดิ้งจึงมีกิจกรรม Unplugged (อันปลั๊ก) คือไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ แต่ใช้สิ่งที่อยู่รอบตัว และยิ่งทำโค้ดดิ้งมากเท่าไร จะทำให้มีความสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้มากเท่านั้น ที่สำคัญการเรียนโค้ดดิ้งอันปลั๊ก จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะไม่ต้องลงทุน ไม่ว่าจะอยู่ตรงส่วนใดก็เรียนได้ สร้างคนให้สามารถเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในยุค ดิสรัปชั่นที่มีการผันผวนมากในชีวิต ทุกคนในประเทศจำเป็นต้องมีการเรียนโค้ดดิ้ง ซึ่งหลายกระทรวงเข้ามามีส่วนร่วม ในกรรมการโค้ดดิ้งแห่งชาติอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีโค้ดดิ้งปฏิรูปประเทศ ซึ่งได้เชิญ ศ.ดร.สุชัชวีร์
สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ มาร่วมเป็นอนุกรรมการโค้ดดิ้งสำหรับปฏิรูปประเทศ

⦁ โค้ดดิ้งปฏิรูปประเทศ จะปฏิรูปในเรื่องใดบ้าง

โค้ดดิ้งแห่งชาติจะดูเรื่องการพัฒนาอาชีพ ทำหลักสูตร ซึ่งจะเปิดให้นักเรียน นักศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย คนจากอาชีพต่างๆ มาช่วยกันคิด ในทุกขั้นตอน เบื้องต้นตั้งใจว่าจะมีประมาณ 10 หลักสูตรใน 10 อาชีพ สอนให้ทุกคนจัดระบบการคิด วิเคราะห์ สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง

⦁ นายกฯให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

ให้ความสำคัญมาก จึงตั้งเป็นโค้ดดิ้งแห่งชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศไทย

⦁ งบประมาณที่จะใช้ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้?

เตรียมจัดตั้งกองทุน เบื้องต้นทาง ศธ.จัดงบประมาณสำหรับการบริหารจัดการและการประชาสัมพันธ์ ปี 2564 ประมาณ 20 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชน หรือคณะอนุกรรมการประสานงานร่วมภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถ ทักษะและการเรียนการสอนภาษาคอมพิวเตอร์ (กรอ.Coding) เข้ามาช่วย ส่วนงบปี 2565 จะขยายให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

⦁ หลายคนมองโค้ดดิ้งเป็นเรื่องนามธรรม จะต่อยอดอย่างไร

ถ้าคิดเป็นระบบ คิดถูก วิเคราะห์ถูกต้อง ก็จะดำเนินการเรื่องต่างๆ ในทางที่ถูก ทำในสิ่งที่ถูกต้องเป็นระบบ เป็นขั้นตอน ทำให้มีทางออก มีความมั่นใจ ที่จะต่อสู้กับโลกทันสมัย เป็นทักษะภาษาดิจิทัลที่คนทั้งโลกต้องมี ที่ดิฉันต้องพูดซ้ำๆ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ อย่างซีอีโอของบริษัทระดับโลกหลายแห่ง บอกว่าถ้าให้เลือกเรียนภาษาโค้ดดิ้งกับภาษาต่างประเทศ เขาเลือกเรียนโค้ดดิ้งเพราะเป็นภาษาที่สื่อสารกับคนทั้งโลกกว่า 7,000 ล้านคนได้ แต่ถ้าเลือกเรียนภาษาต่างประเทศก็จะสื่อสารได้เฉพาะคนใน
ประเทศนั้นๆ เพราะฉะนั้นโค้ดดิ้งจึงเป็นภาษาที่สามารถสื่อสารได้ในระดับสากล

⦁ คาดหวังกับนโยบายโค้ดดิ้งอย่างไรบ้าง?

ดิฉันเป็นคนผลักดันให้รัฐบาลบรรจุเรื่องนี้ เป็นนโยบายเร่งด่วนข้อ 7 ของรัฐบาล ที่ให้ทุกคนในประเทศต้องเรียนโค้ดดิ้ง เมื่อโค้ดดิ้งในโรงเรียนติดลมบนแล้ว ก็หวังว่าแต่ละแห่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้บูรณาการได้มากขึ้น และถ้าคนทั้งประเทศเรียนโค้ดดิ้ง หวังว่าวันหนึ่งเราจะผลิตนวัตกรรมส่งขายในต่างประเทศแทนที่จะซื้อนวัตกรรมจากเมืองนอก เช่น มีแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ใช้ในการสื่อสารที่เป็นสัญชาติไทย ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อของต่างประเทศ และเชื่อว่าแม้ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.แล้ว นโยบายนี้ก็เดินต่อ เพราะเป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี จะช่วยลดภาระในหลายด้าน

อีกทั้งยังหวังว่าการเรียนโค้ดดิ้งจะประกอบไปพร้อมๆ กับการเรียนวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ผลักดันโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการนี้กว่า 9,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้เรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้กว้างขวางมากขึ้น จากสิบเป็นร้อย ร้อยเป็นพันคน ทั้งหมดนี้เป็นแผนที่จะทำควบคู่กันไป และคิดว่าความฝันที่จะสร้างนวัตกรรมก็ใกล้ความจริงเข้ามาทุกที แม้ว่าดิฉันจะไม่อยู่ตรงนี้แล้ว โครงการเหล่านี้ก็จะเดินหน้าต่อ ส่วนตัวภาคภูมิใจที่เป็นคนวางรากฐานการปฏิรูปการศึกษาที่ลงไปถึงตัวเด็ก ถือเป็นครั้งแรกที่ปฏิรูปการศึกษาถึงตัวเด็กไม่ใช่เรื่องโครงสร้าง

⦁ การทำงานในส่วนอื่นๆ เป็นอย่างไรบ้าง

ขณะนี้ หน่วยงานอย่างสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) อยู่ระหว่างการสรรหาประธานคณะกรรมการ สมศ. เริ่มการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกไปแล้ว ครั้งนี้ เน้นการประเมินแบบกัลยาณมิตร เข้าไปดูว่า สมศ.จะเข้าไปช่วยเสริมตรงไหน เป็นการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา

⦁ กระแสปรับคณะรัฐมนตรีในพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีการพูดคุยกันหรือไม่

ได้หารือกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป.แล้ว ยืนยันว่าโควต้ารัฐมนตรี ปชป. ยังมี 7 ตำแหน่งเท่าเดิม

⦁ สำหรับรายชื่อแคนดิเดตรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ที่จะมาแทนนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นอย่างไรบ้าง

ดิฉันไม่มีอำนาจเลือก แต่เชื่อว่าทุกคนที่จะเข้ามาก็มีความตั้งใจ และคงทราบว่า ศธ.มีความสำคัญกับบ้านเมืองมากแค่ไหน หวังว่าทุกคนจะทำงานเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ดิฉันไม่มีปัญหา

เบญจมาศ เกกินะ
พัชรินทร์ คำเปรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image