หน้า3 : จับตาวัคซีนฟื้นปท. เข้มโควิด-ปรับครม. ลดขัดแย้ง‘การเมือง’

ความเครียดจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มบรรเทาลง เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มอยู่ในการควบคุม และเริ่มฉีดวัคซีนล็อตแรกให้แก่คนไทย

มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฉีดเป็นคนแรก โดยมีรัฐมนตรีที่อาสาเข้าฉีดเพื่อความเชื่อมั่นอีก 3 คน ได้แก่ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ภายหลังจากวัคซีนมาถึง และมีกำหนดรับวัคซีนมาฉีดเพิ่มเติมเป็นระยะ ทำให้ภาคเอกชนเริ่มขยายที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ

Advertisement

ล่าสุด คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน หรือ กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5-3.5% การส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 3-5% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดอยู่ในกรอบ 0.8-1%

พร้อมทั้งเตรียมเสนอแผนช่วยเหลือภาคธุรกิจ ด้วยมาตรการ “ปรับปรุง ฟื้นฟู เปลี่ยนแปลง” คาดว่าภายใน 2 เดือนจะส่งถึงมือรัฐบาล

เป็นการเตรียมการรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

Advertisement

ขณะที่การจัดการปัญหาโรคโควิด-19 ได้ผล และภาคเอกชนกำลังเตรียมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นจังหวะที่ภาคการเมืองกำลังอยู่ในช่วงปรับตัว

เมื่อศาลมีคำพิพากษาจำคุกผู้ต้องหาในคดีชัตดาวน์กรุงเทพฯ โดยในจำนวนนั้นมีรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลอยู่ด้วย 3 คน ประกอบด้วย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

ตามรัฐธรรมนูญเมื่อรัฐมนตรีต้องคำพิพากษาก็ต้องพ้นจากเก้าอี้

หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องปรับ ครม.

ทันทีที่ข่าวการปรับ ครม. สะพัด บรรดาผู้มีส่วนได้เสียก็เคลื่อนไหว

มีกระแสข่าวว่า นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะได้เก้าอี้ที่ใหญ่ขึ้น ให้สมศักดิ์ศรีเลขาธิการพรรคใหญ่อย่างพลังประชารัฐ

มีกระแสข่าวว่า นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ พรรคพลังประชารัฐ จะเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

มีกระแสข่าวว่า นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จะโยกไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

มีกระแสข่าวว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

และยังมีกระแสข่าวว่า นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึง นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มีลุ้นเก้าอี้

รวมถึงกระแสข่าว “ออปชั่นพิเศษ” ซึ่งตีความว่าอาจจะมีการแลกกระทรวงกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าทุกพรรคยังได้โควต้าเดิม

ยืนยันว่าการปรับคณะรัฐมนตรีจะทำเร็ว ภายในเดือนมีนาคมนี้

ตัวบุคคลที่เป็นรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นใคร มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศในเวลาต่อไป

ความสามัคคีของรัฐบาลก็มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเช่นกัน

ขณะที่การจัดทัพใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในคณะรัฐมนตรีกำลังดำเนินต่อไป

ปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองก็ยังดำรงอยู่

ก่อนหน้านี้มีม็อบนักเรียนนิสิตนักศึกษา เคลื่อนไหวผลักดันให้ประเทศมีการเปลี่ยนแปลง กระทั่งรัฐสภานัดประชุมและมีข้อเสนอลดความขัดแย้งด้วยวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์

โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเคยให้คำสัญญาเอาไว้ก่อนร่วมรัฐบาลว่าต้องทำให้ได้

เกิดการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเลือกตั้ง ส.ส.ร. ไปยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

น่าสังเกตว่าทุกจังหวะก้าวของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เต็มไปด้วยความขัดแย้ง

เริ่มจากไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมีกระแสกดดันมากก็เปลี่ยนเป็นเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา

กระทั่งเกิดกระแสกดดันจากกลุ่มผู้ชุมนุมมากขึ้น ในที่สุดรัฐสภาก็เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเลือกตั้ง ส.ส.ร. ไปยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

การเสนอให้เลือกตั้ง ส.ส.ร.ไปยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีความเชื่อว่าจะทำให้เงื่อนไขในความไม่ไว้วางใจต่อกลไกที่เกิดขึ้นจาก คสช.หมดไป

การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ไปยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วนำร่างฉบับนั้นมาทำประชามติอีกครั้ง จะช่วยทำให้ความขัดแย้งเรื่องกฎกติกาของประเทศหมดไป

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวยังมีข้อขัดแย้ง โดยรัฐสภาส่งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดแย้งกับรัฐธรรนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่

ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยวันที่ 11 มีนาคม

การเมือง ณ ห้วงเวลานี้ มีความสัมพันธ์กับความก้าวหน้าของประเทศ

ประการแรก ประเทศไทยต้องเร่งเตรียมพร้อมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังจากสามารถฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 ได้มากพอสมควร

ประการที่สอง ประเทศไทยต้องมียุทธศาสตร์ชัดเจนในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งนอกจากภาคเอกชนที่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือที่ดีแล้ว รัฐบาลที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีทั้งหมด ต้องมีความรู้ความสามารถที่จะผลักดันให้ยุทธศาสตร์ประสบความสำเร็จ

ประการที่สาม ในห้วงเวลาที่โลกทั้งใบยังประสบกับภัยโรคระบาด ประเทศไทยต้องเร่งคลี่คลายความขัดแย้งภายในประเทศ โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมือง

การแก้รัฐธรรมนูญ และการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ มีผลต่อความขัดแย้งทางการเมือง

ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นมีส่วนสำคัญต่อจังหวะก้าวของประเทศไทยในช่วงเวลาต่อไป

ทุกจังหวะก้าวล้วนแล้วแต่มีผู้เป็น “เจ้าภาพ” ในการจัดการ

การจัดการเหล่านี้ เสมือนวัคซีนที่ป้องกันมิให้ประเทศเพลี่ยงพล้ำ

หากจัดการได้ถูกต้อง ผลที่เกิดขึ้นย่อมเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

แต่ถ้าจัดการผิดพลาด ประเทศอาจต้องพลาดโอกาสในการพัฒนา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image