บิ๊กตู่ ชี้สัญญาณบวก ศก. ‘คนละครึ่ง-เราชนะ’ เข้าเป้า วัคซีนมาแล้ว เงินคงคลังก็เพียบ

‘บิ๊กตู่’ ร่ายยาว นโยบายช่วยเหลือ ปชช. เผยร้านค้าปลื้ม ‘คนละครึ่ง-เราชนะ’ ทำขายของได้เป็นเทน้ำเทท่า อวดเงินคงคลังเต็มกระเป๋า ไม่ได้ถังแตกอย่างที่พูดกัน ‘อังค์ถัด’ ยกไทยมีความพร้อมธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ 3 อาเซียน คะแนนการไปรษณีย์สูงปรี๊ด ‘บิ๊กตู่’ เชื่อไทยมาถูกทาง

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 6 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในรายการ PM PODCAST นายกรัฐมนตรีเล่าเรื่องว่า เรื่องการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ผมทราบดีและเข้าใจความเดือดร้อนของประชาชนว่าจะทำอย่างไร ซึ่งเราก็ต้องบริหารอย่างเหมาะสมกับงบประมาณที่เรามีอยู่ หลายคนเป็นห่วงเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งก็ต้องเรียนว่าไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบทั้งหมดอยู่ สาเหตุสำคัญก็มาจากโควิด-19 ที่ระบาดไปทุกที่ เช่น อังกฤษเศรษฐกิจหดตัวติดลบ 9.9% ฟิลิปปินส์ติดลบ 9.5% ยูโรโซนติดลบ 6.8% เปอร์เซ็นต์ ฮ่องกงติดลบ 6.7%

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็มีข่าวดีออกมา เพราะบริษัท S&P Moody’s และ Fitch สถาบันจัดอันดับเครดิตแนวหน้าของโลก ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของเราจากการที่มีเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง เสถียรภาพและวินัยทางการคลังอยู่ในเกณฑ์ดี ฐานะการคลังของประเทศไม่ได้มีการถังแตกอย่างที่พูดกัน เพราะระดับเงินคงคลังงวดเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ 473,000 ล้านบาท มากกว่าปีก่อนหน้าถึง 49.5% หลังจากนี้ทางกระทรวงการคลังก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มขยายตัวดีขึ้นเพราะมีสัญญาณบวกจากการได้รับวัคซีน รวมไปถึงมาตรการต่างๆ ที่เป็นผลปรากฏออกมา เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการมาตรา 33 เรารักกัน ดูได้จากในช่วงตรุษจีนมีการจับจ่ายใช้สอยอย่างคึกคัก โดยร้านค้าต่างๆ ก็สะท้อนว่าได้ประโยชน์จากโครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะที่ทำให้ขายของได้มากกว่าปกติถึงสองเท่า

“สำหรับการระบาดรอบแรกในปี 2563 รัฐบาลได้ออกมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยลดผลกระทบของประชาชนกลุ่มต่างๆ เริ่มจากมาตรการเยียวยา เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โครงการมาตรา 33 เรารักกัน โครงการคนละครึ่ง ล่าสุดข้อมูลวันที่ 3 มีนาคม 2564 มีผู้ใช้สิทธิแล้ว 14.7 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 92,412 ล้านบาท มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการกว่า 1,500,000 ร้านค้า ซึ่งผมอยากให้ขึ้นไปถึง 2,000,000 ถึง 2,000,000 กว่าในการลงทะเบียนร่วมโครงการ”

“ส่วนมาตรการช่วยเหลือแรงงานและนายจ้าง มีโครงการ เช่น การช่วยลดหย่อนเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ส่งเสริมการจ้างงานใหม่ของผู้จบการศึกษาใหม่ และการจัดงาน JOB EXPO 2020 และการบรรเทาค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ส่วนมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวก็มีโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งขณะนี้มีการจองสิทธิเต็มแล้ว 6 ล้านสิทธิ แต่ตั๋วเครื่องบินยังเหลืออยู่ จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนมาเข้าใช้สิทธิกัน นอกจากนี้ยังมีโครงการเปิดรับนักท่องเที่ยวพิเศษที่เรียกว่า Special Tourist Visa หรือ STV มาตรการด้านการเงินมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออมสิน มีการอนุมัติเงินสินเชื่อไปแล้วกว่า 135,000 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประกอบการ 15,041 ราย และธุรกิจ Non-bank อีก 32 ราย โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานของสำนักงานประกันสังคมอีก 30,000 ล้านบาท”

Advertisement

“มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบระยะที่สอง มีโครงการสินเชื่อสำหรับผู้มีอาชีพอิสระและผู้มีรายได้ประจำ ของธนาคารออมสินมีการอนุมัติสินเชื่อรวม 19,503 ล้านบาท ช่วยเหลือประชาชนไปมากกว่า 1,700,000 รายเจ็ดโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 8,797 ล้านบาท ช่วยเหลือประชาชนไปกว่า 883,067 ราย โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของสำนักงานธนานุเคราะห์ อนุมัติสินเชื่อแล้ว 190 ล้านบาท”

“มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบระยะที่สาม มีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำภายใต้ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน อนุมัติสินเชื่อแล้ว 123,717 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประกอบการกว่า 74,000 ราย
มาตรการช่วยเหลือธุรกิจและภาคการท่องเที่ยวเอสเอ็มอี มีโครงการสินเชื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวของธนาคารออมสินอนุมัติแล้ว 800 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานรากของธนาคารออมสิน อนุมัติแล้ว 27,000 ล้านบาท มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ มีโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ไทย สู้โควิด กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท โครงการทำประกันสินเชื่อ Micro ไทย สู้โควิด กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท โครงการทำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส สู้โควิด กรอบวงเงิน 57,000 ล้านบาท มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ มีการมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตาม พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ที่มีการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยธุรกิจเอสเอ็มอีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งได้ช่วยเหลือลูกหนี้รวมแล้ว 11 ล้านบัญชี วงเงินมากกว่า 5 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการพักชะลอลดค่างวดชำระหนี้ให้กับลูกค้าของ SME Bank ธนาคารอิสลาม ธนาคารอาคารสงเคราะห์ EXIM Bank ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เป็นต้น เรื่องเหล่านี้ก็อยากจะขอให้ติดตามว่ารัฐบาลออกมาตรการอะไรในส่วนของตัวเองว่าจะเข้าถึงสินเชื่อนั้นได้อย่างไร”

“มาตรการรองรับการระบาดรอบใหม่ปี 2564 เริ่มจากมาตรการโครงการเราชนะที่มียอดการใช้จ่ายสะสมหมุนเวียนไปแล้วกว่า 69,000 ล้านบาท โครงการมาตรา 33 เรารักกัน ที่จะเปิดให้ลงทะเบียนจนถึงวันที่ 7 มีนาคมนี้ จากนั้นจะใช้จ่ายได้ในวันที่ 22 มีนาคมเป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีการลดค่าน้ำค่าไฟค่าอินเตอร์เน็ตต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ใช้โรงงานที่เป็นที่กักตัวแรงงานใน 5 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ส่วนมาตรการทางภาษีก็มีการขยายเวลายื่นแบบและการจ่ายภาษีปี 2563 ออกไปอีก 3 เดือน ลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์ สุดท้าย คือ มาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องโดย ธ.ก.ส.”

Advertisement

“อีกเรื่องคือเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การประชุมในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ UNCTAD ได้มีการจัดอันดับ B2C e-Commerce Index ประจำปี 2563 เป็นการวัดความพร้อมทางเศรษฐกิจเพื่อตอบโจทย์การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จาก 152 ประเทศทั่วโลก ผลคือประเทศไทยอยู่อันดับที่ 42 ครองอันดับ 3 ของอาเซียน เป็นรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยเรามีความโดดเด่นด้านความเชื่อมั่นการขนส่งไปรษณีย์ ที่ได้คะแนนสูงถึง 97 คะแนน รวมถึงการเปิดบัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการเติบโต e-Commerce ผมจึงเชื่อมั่นว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว ซึ่งจะต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image