วันสตรีสากล ‘เพื่อไทย’ ทวงความเท่าเทียมทางเพศ เศร้า ‘กองทุนบทบาทสตรี’ ไม่ได้รับการสานต่อ

วันสตรีสากล ‘เพื่อไทย’ ทวงความเท่าเทียมทางเพศ เศร้า ‘กองทุนบทบาทสตรี’ ไม่ได้รับการสานต่อ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 8 มีนาคม ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรค พท. น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และเหรัญญิกพรรค พท. น.ส.ชนก จันทาทอง ส.ส.หนองคาย พรรค พท. และน.ส.ขัตติยา สวัสดิผล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค พท. แถลงข่าวเนื่องในวันสตรีสากล 2564

โดยน.ส.อรุณี กล่าวว่า ปี 2563 ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อัตราความเหลื่อมล้ำทางเพศของประเทศตกต่ำลงมาก จากลำดับที่ 65 มาเป็นลำดับที่ 75 สิ่งที่รัฐบาลควรมีท่าทีคือเมื่อมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ พ.ศ.2558 ทางเพศแล้ว ก็ควรบังคับใช้ให้เห็นผล สังคมที่จะมีความเท่าเทียมทางเพศได้ ทั้งนี้ ตนขอสดุดีสตรีทุกท่านที่เป็นลมใต้ปีกของนักสู้ทุกคนด้วย

ด้าน น.ส.ชนก กล่าวว่า เกือบ 10 ปีมาแล้วที่ผู้นำประเทศไม่เห็นความสำคัญของสตรีซึ่งเป็นกำลังหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคครัวเรือน ที่ผ่านมีผู้นำหญิงได้ตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยให้ชุมนุมหรือหมู่บ้านพิจารณาให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อนำไปพัฒนาตัวเองได้ แต่หลังการปฏิวัติรัฐประหาร กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีก็หยุดชะงักไป ไม่มีการเติมเงินให้กองทุน และมีการย้ายกองทุนดังกล่าวไปรวมอยู่กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทำให้การเข้าถึงเงินทุนยากมากขึ้นไปอีก กว่าจะผ่านการพิจารณาระดับอำเภอและจังหวัด ยิ่งยากมากขึ้นไปอีก

Advertisement

ยิ่งประเทศประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ จ.หนองคายกว่า 90% เป็นเกษตรกร ยิ่งลำบากมากขึ้น หากรัฐบาลเห็นความสำคัญของสตรีที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคครัวเรือน ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจและสังคมดีขึ้น ตนอยากให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีกลับมา เพื่อให้สตรีได้มีโอกาสนำงบประมาณมาพัฒนาตัวเองเพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทั้งนี้ กว่า 10 ปีมาแล้วไม่มีโครงการไหนเลยที่ออกมาส่งเสริมบทบาทของสตรี โครงการที่พรรคของรัฐบาลนำเสนอตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้ง เช่น โครงการมารดาประชารัฐที่จะต้องได้เงินช่วยเหลือ 1.8 แสนบาท แต่ผ่านมาสองปีแล้วโครงการดังกล่าวก็ยังไม่เกิดขึ้น เหล่านี้ขึ้นกับผู้นำจริงๆ ว่าจะเห็นถึงความสำคัญของสตรีหรือไม่

ขณะที่ น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า พรรคพท. พยายามผลักดันเรื่องกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพื่อให้โอกาสผู้หญิงได้เข้าถึงแหล่งทุนเพื่อนำมาพัฒนาตนเอง และมีบทบาทในสังคมมากขึ้น แล้วประเทศของเราจะพัฒนาไปด้วย ทั้งนี้ กทม. เป็นพื้นที่ที่สำคัญที่มีสตรีที่ว่างงานมาเข้าร่วมโครงการ และแสดงศักยภาพออกมา แต่เป็นที่น่าเสียดายที่กองทุนนี้ไม่ได้รับการสานต่อ ตนขอยืนยันว่า ตนยังยึดมั่นที่จะสานต่อนโยบายของผู้หญิงต่อไป วันนี้มีผู้นำสตรีระดับโลกไม่ว่าจะเป็นนางอองซาน ซูจี, จาซินดา อาร์เดิร์น, คาเมร่า แฮรีส ตนเชื่อว่า ถ้าวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยังคงดำรงตำแหน่ง ก็จะเป็นผู้นำระดับโลกเช่นกัน

น.ส.ขัตติยา กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญ 2560 ได้บัญญัติให้ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ แต่ในปัจจุบันบริบทของเพศในสังคมไทยเปลี่ยนไปมาก วันนี้เราไม่ได้เพียงเพศหญิง หรือเพศชายแล้ว ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่ในอนาคตรัฐธรรมนูญจะแก้เป็น บุคคลแทน นอกจากนี้ ในการชุมนุม แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเป็นผู้หญิงถูกสะกดรอยตามไปที่บ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น และที่ตนอยากเห็นในรัฐธรรมนูญคือการคุมครองความรุนแรงทางเพศในโลกออนไลน์ด้วย เพราะหลายครั้งที่ผู้หญิงเป็นเป้าถูกโจมตีในโลกออนไลน์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image