‘ฝ่ายค้าน’ ขอดูคำวินิจฉัยศาล รธน.ก่อนกำหนดท่าทีต่อปมแก้ รธน.

“ฝ่ายค้าน” ขอดูคำวินิจฉัยศาลรธน.ก่อนกำหนดท่าทีต่อปมแก้ รธน.ลั่น ยืนหยัดแก้ รธน.ให้เป็น ปชต. พร้อมเตรียมยื่นร้อง รมว.ให้เสร็จภายในเดือน ม.ค.นี้

เมื่อเวลา 11.25 น. วันที่ 8 มีนาคม ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) มีการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรคร่วมแถลงภายหลังการประชุม

โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่มีรัฐมนตรีหลายคนจะถูกยื่นร้อง ป.ป.ช. แต่ไม่จำเป็นต้องยื่นพร้อมกันทั้งหมด ข้อกล่าวหาของรัฐมนตรีท่านใดเสร็จก่อนเราจะยื่นก่อน ซึ่งขณะนี้ฝ่ายกฎหมายกำลังร่างคำร้อง

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พท.กล่าวว่า คณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้านได้มีข้อมูล และหลักฐานพอที่จะร้องไปยังส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งศาล และ ป.ป.ช. โดยจะยื่นทั้งหมด 7 คน ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเราจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค พท.กล่าวว่า สำหรับกรณีร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติที่ กมธ.กำลังพิจารณาอยู่นั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านได้รับทราบประเด็นสำคัญหลายประเด็น 1.พรรคร่วมฝ่ายค้านยินดีว่าร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้านได้เสนอเนื้อหาในร่างว่า ควรจะเพิ่มถ้อยคำที่สำคัญลงไปโดยนอกจากจะสุจริต และเที่ยงธรรมแล้ว ควรจะทำประชามติด้วยความเสรี และเสมอภาค เพราะที่ผ่านมาเรื่องนี้มีปัญหามาก โดยเฉพาะการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีที่ กมธ.รับหลักการในเรื่องนี้ 2.พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่า การทำประชามติครั้งก่อนไม่ได้เปิดโอกาสให้พรรคการเมือง ถภาคเอกชน และประชาชน รณรงค์ได้อย่างเต็มที่ ถึงขนาดใครรณรงค์ถูกแจ้งข้อหาว่าสร้างความวุ่นวาย ดังนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงเสนอว่า การทำประชามติครั้งนี้ควรเปิดโอกาสให้พรรคการเมือง ภาคเอกชน และภาคประชาชนได้รณรงค์กันอย่างเต็มที่ โดยถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีเช่นเดียวกันที่ กมธ.ส่วนใหญ่รับหลักการในเรื่องนี้ 3.การออกเสียงลงประชามติ เราเห็นว่าควรเปิดกว้าง โดย กมธ.ยอมรับว่าควรให้ประชาชนที่อยู่นอกราชอาณาจักรได้ออกเสียงประชามติด้วย เหมือนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ ที่ประชุม กมธ.เห็นว่าควรให้มีการออกเสียงประชามตินอกเขตเลือกตั้งได้ด้วย ซึ่ง กมธ.ก็ยอมรับในข้อนี้ 4.การลงทะเบียนออกเสียงประชามติสมควรที่จะเปิดโอกาสให้อออกเสียงโดยวิธีอื่นได้ด้วย เช่น ทางไปรษณีย์ หรือใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และ 5.บทกำหนดโทษในกฎหมายประชามติหลายเรื่องมีการเปิดช่องให้ตีความได้อย่างกว้างขวางเกินไป เช่น ครั้งก่อน ที่มีการแจ้งข้อหาก่อความวุ่นวาย ทั้งที่เป็นเพียงการแจกใบปลิว เราก็ขอให้ตัดออก ซึ่งสุดท้ายก็ตัดออก

Advertisement

นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า สำหรับกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 และกรณีที่มีการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น พรรคฝ่ายค้านขอสงวนท่าทีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมา ทั้งนี้ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็แล้วแต่ พรรคฝ่ายค้านยืนหยัดที่จะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย

ด้านนายชูศักดิ์กล่าวว่า เราหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีการวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ผู้เสนอญัตติให้เป็นทางออกของประเทศ ให้ปรระเทศเดินหน้าต่อไปได้ เพราะผู้เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมีทั้งภาคประชาชน ฝ่ายค้าน และฟากรัฐบาล ที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปในทำนองเดียวกันทั้งการแก้ไขรัฐะรรมนูญมาตรา 256 และการเปิดช่องให้มี ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 60 นั้น ทุกภาคส่วนเห็นตรีงกันว่ามีปัญหา และเราเห็นว่าแท้ที่จริงแล้วร่าวรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขกันนี้ยึดหลักอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน เราไม่ได้เดินทางผิดกรอบ หรือนอกแนวทางใดๆ เลย แต่อย่างไรก็ตาม ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่าวไรก็แล้วแต่ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่ 3 จะต้องเดินหน้าต่อ

เมื่อถามว่า บอกได้หรือไม่ว่ารัฐมนตรีท่านไหนถูกร้องไป ป.ป.ช. ท่านไหนไปศาล นายวันมูหะมันนอร์กล่าวว่า บางท่านอาจจะโดยทั้งคู่ เช่น การขัดกันแห่งผลประโยชน์ การเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง จากนั้น ป.ป.ช.จึงจะส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแแผนกคดีอาญาทางการเมืองต่อ ตอนนี้เราต้องประมวลเรื่องทั้งหมดก่อนว่าใครจะโดนไปที่ไหนบ้าง

Advertisement

นายประเสริฐกล่าวว่า ทั้งหมด 7 ท่าน ส่วนใหญ่ไป ป.ป.ช. บางท่านอาจจะต้องไป 2-3 แห่ง ยกตัวอย่างวันที่ 10 มีนาคมนี้ เราจะยื่นนายกฯ กับรัฐมนตรีว่าการกรทรวงพาณิชย์ไป ป.ป.ช. แต่การยื่นถอดถอนต้องใช้เสียง ส.ส. 1 ใน 10 ซึ่งขณะนี้ปิดสมัยประชุมสภา ก็อาจจะต้องใช้เวลา

เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านได้คุยกันถึงแนวทางหากศาลมีคำวินิจฉัยออกมา หรือ ส.ว.คว่ำรัฐธรรมนูญไว้บ้างหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค ปช.กล่าวว่า ด่านแรกคือวันที่ 11 มีนาคมนี้ ที่ศาลรัฐธรรมนูยจะมีคำวินิจฉัย ดังนั้น เราต้องรอดูคำวินิจฉัยของศาลก่อน ส่วนกรณีที่กังวลว่า ส.ว.จะล้มร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนยังเชื่อมั่นว่า ส.ว.ยังเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศ ไม่มีเหตุที่จะขวาง เพราะต้องฟังเสียงประชาชชนด้วย ขนาดพรรคฟากรัฐบาลยังเห็นว่าควรต้องแก้ไข

เมื่อถามว่า หากศาลมีคำวินิจฉันว่าไม่สามารถแก้ไขทั้งฉบับได้ จะเดินหน้าแก้ไขเป็นรายมาตราหรือไม่ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) คงต้องรอดูรายละเอียดก่อน หลังศาลวินิจฉัย เพราะสามารถเป็นได้หลายแบบมาก นี่คือบทบาทสำคัญที่จะก้าวไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image