เดินหน้าชน : แตะไม่ได้

คอการเมืองเกาะติดเรื่องรัฐธรรมนูญ คงต้องไปลุ้นวันที่ 11 มีนาคม วันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะแถลงคำวินิจฉัยเรื่องที่รัฐสภาส่งให้ตีความ สมาชิกรัฐสภามีอำนาจและหน้าที่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสามารถยกร่างใหม่ทั้งฉบับโดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เป็นเจ้าภาพ ทำได้หรือไม่

ตรวจสอบกระแสรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน ก็มองว่ามีโอกาสค่อนข้างมาก ร่างแก้ไขเพิ่มเติมอาจ “แท้ง” ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระ 3 ที่จะเปิดประชุมสมัยวิสามัญในวันที่ 17 มีนาคมนี้

พรรคร่วมฝ่ายค้านก็ส่งสัญญาณเริ่มหารือ “แผนบี” เดินต่ออย่างไรในเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ในกรณีเกิดเหตุพลิกล็อกขึ้นมา ศาลวินิจฉัยเปิดทางให้สามารถยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ยังต้องไปเจอด่านสำคัญในการโหวตวาระ 3 จำเป็นต้องใช้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.ที่มีในปัจจุบัน หรือ 84 เสียง ต้องลุ้นตัวเกร็งกันต่อไป เพราะรับรู้กันว่า ส.ว.จำนวนไม่น้อยตั้งป้อมล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาตลอด

Advertisement

ความเป็นไปได้นี้ สอดรับกับความเห็นของ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ว่า ประชาชน ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล เสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาโดยให้มี ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนผ่านร่างวาระที่ 2 เรียบร้อย แต่กลับมาเกิดสงสัยในอำนาจของตัวเอง ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้งที่เป็นผู้เสนอญัตติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเอง ทำให้นึกย้อนกลับไปว่า จริงๆ แล้วมีการแสดงออกหลายครั้งตลอดมาว่า ไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะกระทบต่อสถานภาพของตัวเอง เป็นการพิสูจน์ว่าอยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงความพยายามสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

หากหวยออกตามที่หลายฝ่ายเป็นห่วง การเมืองไทยจะยิ่งเพิ่มความร้อนระอุ ทั้งจากบรรดาพรรคการเมืองที่ผลักดันการแก้ไข ทั้งจากนักเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนน จะทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น

ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับถูกปิดลง เหลือช่องทางไปเขย่ารายมาตราหนทางเดียว มีกระบวนการ
ตั้งต้นประกอบด้วย

Advertisement

คณะรัฐมนตรีต้องเป็นผู้เสนอเข้าสู่รัฐสภา

หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 ใน 5 เป็นผู้เสนอเข้ามา

หรือสมาชิกรัฐสภา ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร+สมาชิกวุฒิสภา 1 ใน 5 เป็นผู้เสนอ

หรือประชาชน 3 หมื่นคนเข้าชื่อเสนอ

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2563 มีการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราโดยพรรคฝ่ายค้าน
และไอลอว์ อาทิ แก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แก้ไขมาตรา 159 ปิดทาง
เลือกนายกฯคนนอก แก้ไขมาตรา 270 และมาตรา 271 ตัดอำนาจ ส.ว.ติดตามการปฏิรูปประเทศ

แก้ไขมาตรา 279 ยกเลิกคำสั่ง ประกาศ คสช. แก้ไขมาตรา 91-92 และมาตรา 94 และยกเลิกมาตรา 93 มาตรา 101 (4) และมาตรา 105 วรรคสาม เรื่องระบบเลือกตั้งโดยให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือกลับไปใช้แบบรัฐธรรมนูญ 2540

ต้องไม่ลืมว่า การเสนอแก้ไขรายมาตราข้างต้นเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภากลางเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ถูก ส.ส.พรรครัฐบาลและ ส.ว.เตะสกัดไม่ให้ความเห็นชอบไปตั้งแต่วาระแรก

ชวนสงสัยว่า หากการแก้ไขรายมาตราทำได้จริง เหตุใดญัตติเหล่านี้จึงสิ้นไปตั้งแต่ต้นมือ

และชวนสงสัยหนักขึ้น สมมุติชุดรายมาตรานี้ที่เป็นปมปัญหาสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกเสนอกลับ
เข้าไปอีกครั้ง ส.ส.+ส.ว.กลุ่มเดิมจะโหวตกันอย่างไร

ในเมื่อท่านเพิ่งยกมือ “ตีตก” เมื่อปลายปีกลายนี่เอง

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image