บทนำมติชน : รากหญ้ายังไม่รู้

ขณะที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือ กรธ. รอความเห็นจากองค์กรสำคัญเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่เพิ่งเปิดตัวจำนวน 270 มาตรา องค์กรสำคัญดังกล่าวเป็นองค์กรที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กำหนดให้มีหลังจากยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ประกอบด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. ซึ่งเกิดขึ้นมาทดแทนสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ยุบลงหลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ร่างขึ้นไม่ผ่านการพิจารณา นอกจากนี้ ยังมีองค์กรสำคัญอื่นๆ ที่ กรธ.เห็นสมควรขอความเห็นก็ได้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยมีกำหนดส่งความเห็นกลับภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เพื่อนำไปปรับปรุง

ขณะที่ประชาชนคนอื่นสามารถติดตามเนื้อหาของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญได้ตามเว็บไซต์ เพื่อโหวตเนื้อหา หรืออ่านจากหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไป ซึ่งในจำนวนนี้มีนักการเมืองที่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และอื่นๆ รวมไปถึงนักวิชาการด้านต่างๆ นำเนื้อหาไปศึกษา และมีการวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาต่างๆ มาเป็นลำดับ ขณะที่แกนนำรากหญ้า ทั้งชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่ายังไม่ได้ศึกษาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมากนัก ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการถ่ายทอดข่าวสารเรื่องร่างรัฐธรรมนูญยังลงไปไม่ถึงชุมชนหมู่บ้าน ในขณะที่อีกไม่นานชาวบ้านผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องออกมาลงประชามติกันแล้ว

ห้วงเวลาที่เหลืออยู่จึงท้าทายผู้มีอำนาจว่าจะทำเช่นไรให้บทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ.ปรับปรุงแก้ไขแล้ว กระจายลงสู่ชุมชนและหมู่บ้าน เพื่อทำให้ทุกคนเข้าใจภาพรวม เนื้อหา ตลอดจนข้อโต้แย้งในหมวดหรือมาตราต่างๆ เพื่อชั่งใจในการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยนี้ ซึ่งการทำความเข้าใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนหลายสิบล้านคนไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องมีแผน มีแนวทาง มีการวัดประสิทธิภาพประสิทธิผลเป็นระยะๆ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด ทำให้เกิดความเข้าใจได้มากที่สุด ก่อนเข้าคูหาไปลงประชามติต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image