การต่างประเทศของไทยจะขยับตัวอย่างไรในโลกยุคใหม่

การต่างประเทศของไทยจะขยับตัวอย่างไรในโลกยุคใหม่

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสทำนัดรับประทานอาหารและนั่งคุยกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เคยอยู่กระทรวงต่างประเทศมายาวนาน สืบเนื่องจากระยะหลังๆ ในวงสนทนากับนักธุรกิจ นายธนาคารหลายๆ ท่านเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์การเมือง (Geopolitics) โดยเฉพาะยุคหลังโควิดว่าสหรัฐฯ กับจีนจะเดินหน้าสร้างฐานอำนาจของตัวเองทางด้านเศรษฐกิจอย่างไร กลายเป็นหัวข้อที่ถูกหยิบขึ้นมาวิเคราะห์กันตลอดเวลา เลยทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะทำความเข้าใจและหาความรู้เพิ่มเติมในด้านนี้บ้าง

สมัยก่อนนะครับต้องเรียกว่านี่คือกระทรวงเกรด A ที่มีความสำคัญมาก นักการต่างประเทศยุคก่อนๆ ดูจะเป็นผู้บุกเบิกในหลายเรื่อง ยกตัวอย่างสมัยที่พ.อ. (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ รมต. ต่างประเทศในยุคนั้นลงนามจัดตั้งภาคีอาเซียน ที่ทำให้ไทยและเพื่อนบ้านกลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีอำนาจต่อรองมากขึ้นแทนที่จะต่างคนต่างอยู่ แต่กลับมาลองคิดดู ก็เห็นว่าปัจจุบันรูปแบบของเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเปลี่ยนไปมากจากเมื่อก่อน ทั้งเรื่องรัฐมหาอำนาจเดิมเสื่อมถอย ผู้เล่นในเวทีโลกเปลี่ยนไป การรวมตัวของกลุ่มภาคีมีความหลากหลายขึ้น ปฏิปักษ์ของรัฐกลายเป็นองค์กรเอกชนข้ามชาติที่ผูกขาดการค้ายุคใหม่  ฯลฯ ทำให้ผมนึกสงสัยว่ากระทรวงต่างประเทศมีบทบาทที่เปลี่ยนไปอย่างไรไหม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่ความขัดแย้งทางด้านการค้าระหว่างมหาอำนาจสหรัฐฯ และจีน กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่นโยบายการต่างประเทศต้องอ้างอิง นโยบายการฑูตเชิงพาณิชย์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น รวมทั้งยุคนี้สิ่งที่ผลักดันเศรษฐกิจ เป็นเทคโนโลยีและบริการประเภทแพล็ตฟอร์มระดับโลกที่ก้าวข้ามอณาธิปไตยของรัฐ หลายอย่างที่นักการต่างประเทศเคยเรียนๆ กันมารวมถึงการเข้าใจประวัติศาสตร์โลกและตีความนโยบายแบบเดิมๆ ไม่ได้สำคัญเท่าการมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและปรับตัวให้ทัน

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ ประเด็นด้านความหลากหลายและความเท่าเทียม (diversity, equality, and inclusivity) ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ นโยบายต่างประเทศจะต้องสอดคล้องกับสภาพใหม่ของรัฐ ที่ประกอบด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติที่มีการโยกย้ายถิ่นฐานหรือเป็นผู้ลี้ภัย ยกตัวอย่างในยุโรปที่ผู้ลี้ภัยเข้าไปตั้งรกรากเยอะขึ้น นโยบายต่างประเทศต้องไม่จุดไฟสร้างความแตกแยกภายใน หรือเช่นนโยบายระหว่างไทยกับเมียนม่ายุคนี้จะส่งผลอะไรกับแรงงานที่ทำงานเป็นจำนวนมากอยู่ในไทยหรือไม่

นอกจากนี้แล้วความเชื่อมต่ออย่างไร้พรมแดนโดยเทคโนโลยีดิจิตัลต่างๆ ก็เป็นเครื่องมือที่กลุ่มตัวแทนด้านความเท่าเทียม ความหลากหลายสามารถใช้ในการสร้างกระแสและประเด็นข้ามขอบเขตอณาธิปไตยของรัฐได้ไม่ยาก คนในรัฐหนึ่งอาจมีแนวคิดและความเห็นที่สอดคล้องกับอีกหลายกลุ่มคนในอีกหลายๆ รัฐ แต่ไม่สัมพันธ์กับนโยบายต่างประเทศของตนก็เป็นได้ ยิ่งในโลกที่ความเหลื่อมล้ำจะมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ จากการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันหลังโควิด เรื่องนี้ยิ่งน่าสนใจ

Advertisement

ถือเป็นความท้าทายอย่างสูงของ รมต. กระทรวงนี้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะแสดงให้เราทุกคนและชาติอื่นเห็นว่านโยบายต่างประเทศของไทยได้มีการปรับตัว แสดงถึงความเข้าใจและยอมรับในประเด็นใหม่ๆ พวกนี้

ส่วนตัวแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รู้สึกว่ากระทรวงต่างประเทศปรับลดบทบาทของตัวเองลงมาอยู่ภายใต้กรอบของเกมการเมืองมาก และระมัดระวังจนเกินไปครับ ถ้าให้เรตติ้งตอนนี้กลายเป็นกระทรวงเกรด B- ไปแล้ว ไม่มีบทบาท ผลงานไม่ค่อยมีนัยยะสำคัญ

แต่นี่ก็ผ่านการอภิปรายในสภาไปแล้ว ไม่น่าจะมีอะไรต้องกังวลไปอีกสักพัก และอย่างที่บอกว่าการฑูตเชิงการพาณิชย์สำคัญ ผมอยากเห็นกระทรวงนี้ขยับตัว สร้างบทบาทให้ตัวเองในเวทีระดับประเทศมากขึ้น ช่วยขายของ สร้างความมั่นใจกับประชาคมโลกว่าเราพร้อมที่จะเปิดรับอะไรใหม่ๆ หลังยุคโควิด ให้สอดคล้องกับนโยบายในเชิงพาณิชย์ด้านอื่นๆ ดูแล้วน่าจะเป็นแนวทางที่ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของประเทศในระยะสั้นและกลางครับ

เศรษฐา ทวีสิน
ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image