‘นศ.-อาจารย์’ จุฬา-มธ. อ่านกวี ฝากข้อคิด ยิ่งมืด ยิ่งต้องส่องไฟ อยู่ในที่ปิด ยิ่งต้องช่วย ‘ส่งเสียง’
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ที่ลานจักรพงษ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะจุฬา ร่วมกับ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) และ สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย I Student Council of Chulalongkorn University จัดกิจกรรม ไว้อาลัยให้กระบวนการยุติธรรมไทย
โดยจะมีการจุดเทียน และมอบดอกไม้ เพื่อเป็นกำลังใจให้ครอบครัวของนักกิจกรรมทางการเมือง และแกนนำกลุ่มราษฎร ที่ถูกฝากขังในเรือนจำ อาทิ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน, นายอานนท์ นำภา, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ หมอลำแบงค์, น.ส.นัสยา สิทธิจิรวัฒกุล หรือ รุ้ง กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง, นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน และ นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ หัวหน้าการ์ดกลุ่ม We Volunteer หรือ วีโว่
โดย เวลา 17.30 น. นายกสโมสรนิสิตจุฬา กล่าวเชิญประชาชนทุกภาคส่วน ช่วยเหลือด้วยการสะท้อนเสียง ของนิสิต และประชาชน ไว้อาลัยให้กับความอยุติธรรม และส่งกำลังใจให้ครอบครัว ผู้ที่บาดเจ็บ และต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม
เวลา 17.39 น. นิ้ง กลุ่มนักเรียนเลว กล่าวว่า พี่น้องอาจถูกขังอย่างไม่เป็นธรรม เราอาจถามตัวเองว่า บนเส้นทางอันยาวไกลนี้ เมื่อไหร่เราจะชนะ เมื่่อไหร่เราจะได้ประชาธิปไตย แต่จงอย่าละทิ้งความหวัง เรามากันไกลมาก นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา ลุงป้าเสื้อแดง หรือแม้แต่จากปีที่แล้ว พวกเราเดินทางมาไกลมาก วันนี้มวลชนทั้งหลายได้ตื่นขึ้น แม้เขาจะดูเหน็ดเหนื่อย หรือสิ้นหวัง
“การต่อสู้ของเราจะยาวนาน และเหน็ดเหนื่อยอย่างแน่แท้ แต่อย่าละทิ้งความหวัง ที่จะทำให้เราก้าวต่อไปได้ ขอจงฝันใฝ่ในสิ่งที่ดีกว่านี้ รดน้ำ พรวนดิน อย่าลืมว่า ยิ่งมืด แสงเทียนจะยิ่งสว่าง เพื่อนพี่น้องของเรายังอยู่ในคุก ถูกคุมขังอย่างไร้มนุษยธรรม นี่คือสิ่งที่เราต้องทำ คือรักษาความหวัง และสู้ต่อไป อย่าให้ความตั้งใจของพวกเราสูญเปล่า แม้เส้นทางยาวไกล เชื่อว่าวันหนึ่ง ฝันของเราจะเป็นจริง” นิ้งกล่าว
จากนั้น ฝากบทกลอนที่เพื่อนของตนได้แต่งไว้ ความตอนหนึ่งว่า
“แม้จันทราจะลาลับแล้ว แม้ดวงแก้วจะแตกระเหิน แม้ความฝันจะอยู่ห่างไกลเกิน ก็ะเดินตามไปใจมั่นคง”
ต่อมา ผู้แทนนิสิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ่านบทกวี “Still I Rise” ของ มายา แองเจลู สตรีผิวดำชาวอเมริกัน โดยอ่านทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาไทยที่แปลโดยนักศึกษาไม่ประสงค์ออกนาม ความว่า
คุณอาจบันทึกชื่อฉันไว้ในประวัติศาสตร์
เหยียบฉันไว้แทบธุลีให้ล้มกอง
คุณอยากเห็นฉันแหลกสลาย
ยอบไหล่ปลดราวหยดน้ำตาปรอย
คุณอาจฆ่าฉันด้วยถ้อยคำ
ฆ่าด้วยความแค้นเคียดและเกลียดชัง
ประกาศคำเท็จขมระทมหมอง
แต่ดั่งละอองธุลี ฉันจะลอย
ค้อมหัวหายหลุบตาหงอท้อถอย
แผ่วเสียงเศร้าสร้อยสิ้นภินท์พัง
เชือดซ้ำด้วยสองตาคลั่ง
แต่ดั่งอากาศฉันจะลอย
เวลา 17.47 น. เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ไม่ใช่หน้าที่ของอาจารย์ที่ต้องมาประกันตัว แต่เราเผชิญความไม่เท่ากันในทุกหย่อมหญ้า ก็คิดว่าน่าจะมีอะไรที่ทำได้มากกว่าไปประกันตัว ซึ่งเขาถูกลิดรอนเสรีภาพ หลังจากเข้าคุก สิ่งนี้ไม่อาจเรียกว่าความยุติธรรมได้ แต่เป็นความมืดดำที่สังคมพยายามยัดเยียดให้เขา ตั้งแต่สอนหนังสือมา ไม่เคยมีช่วงไหนที่รู้สึกหดหู่ใจที่ไม่ได้ประกันตัว แต่การที่คุณจับ 1 คนไป เขามีพี่ แม่ พ่อ มีประชาชน เพื่อนๆ ที่อยู่ข้างเขา แต่นั่นไม่เป็นธรรมที่จะจับเขาไปเพื่อไม่ให้แสดงออกทางด้านความคิด
“ขอให้เป็นกำลังใจ ให้กับแม่ ของลูกที่ทำหน้าที่ ทำภารกิจเพื่อนำสังคม ด้วยการเป็นปัญญาชน หากเรามุ่งหวังเห็นเพื่อนๆ เรากลับมา นี่คือโอกาสที่จะแสงให้เห็นว่า การทวงความยุติธรรม คือหน้าที่ของเรา ปล่อยเพื่อนเรา คืนความยุติธรรมให้กับมนุษย์ทุกคน” อ.เคท กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อยู่จุฬามาหลายปี ไม่เคยเห็นการเคบื่อนไหวที่เข้มเแข็งขนาดนี้ เราโตมาในช่วงที่ประชาธิปไตยถูกจำกัด นักเรียน ม.5 คนนั้น (นายพริษฐ์) มาแนะนำตัวว่า ชื่อ เพนกวิน เลขาฯ กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เพนกวินบอกว่า อยากส่งเสียงแทนเพื่อนๆ อยากเปลี่ยนการศึกษาไทยให้ดีขึ้น ไม่กี่ปีต่อมา เพนกวินอยู่ในแสงไฟ จนเป็นที่รู้จัก แต่สิ่งที่เกิดกับเพนกวิน น่ากระเทือนใจกับทุกคน ซึ่งเมื่อธันวาคมปีที่แล้ว ตนได้เจอเพนกวินอีกครั้งที่งานหนังสือ สามย่าน มิตรทาวน์
“เพนกวินมีต้นทุนทางสังคม มีต้นทุนชีวิตที่ดี แต่เขาเลือกสู้ต่อ เป็นหนึ่งในนักสู้ หลายวันที่ผ่านมาได้เห็นแม่เพนกวิน เดินกับพวกเขา จึงไม่แปลกใจที่เพนกวินเป็นนักสู้แบบนี้ เพราะคุณแม่ก็เป็นนักสู้ที่เข้มแข็งเช่นกัน
การต่อสู้ใช้เวลา มีการใช้อำนาจ ใช้พรรคพวก จึงเรียกร้องให้ทุกคนใช้ความอดทนในการต่อสู้ อยู่ในที่มืด เราต้องยิ่งส่องไฟ เราอยู่ในที่ปิด ยิ่งต้องช่วยกันส่งเสียง ยิ่งมืดมิดเท่าไหร่ ยิ่งต้องส่องสว่างจากข้างในมากเท่านั้นง
อาวุธที่ผู้มีอำนาจกลัวที่สุด คือความใฝ่ฝันและอุดมการณ์ ขอช่วยกันนำพาสังคมไปข้างหน้า เมื่อคนเราตื่นจากการหลับฝัน แม้ถูกปิดทุกทาง แต่เราจะไม่ยอมหลอกตัวเองด้วยการหลับตาลงได้อีก
ขอช่วยทำในสิ่งที่เผด็จการกลัวที่สุด คือให้ความเงียบส่งเสียง” ผศ.ดร.อรรถพล กล่าว
จากนั้น ผู้ร่วมกิจกรรมทำการยืนเงียบ เป็นเวลา 1 นาที