09.00 INDEX ท่าที ของ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ต่อร่างรัฐธรรมนูญ มีชัย ฤชุพันธุ์

ทำไม “สังคม” จึงให้ค่า ให้ราคา กับการแสดงความเห็นของ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อย่างเป็นพิเศษ
คำตอบ 1 เพราะเขาเสนอความเห็นต่อ”ร่างรัฐธรรมนูญ”

คำตอบ 1 เพราะเขาเป็น “รองอธิการบดี” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันมีลักษณะพิเศษ
เขาอยู่ทีมเดียวกับ นายสุรพล นิติไกรพจน์

แต่ในเรื่องทาง “วิชาการ” เขาก็มิได้คิดใน “กระสวน” เดียวกันกับ นายสุรพล นิติไกรพจน์
เขาอยู่ทีมเดียวกับ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์

แต่ในเรื่องทาง “วิชาการ” เขาก็มิได้คิดใน “กระสวน” เดียวกันกับ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์
ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นในเรื่อง “วัตรปฏิบัติ”

Advertisement

แน่ชัดยิ่งว่า การแสดงทัศนะต่างๆ ของ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล
มิได้เป็นไปเพื่อสิ่งที่เรียกว่า “อามิส บรรณาการ”

นั่นก็คือ ไม่ได้ต้องการจะ “ไต่เต้า” ในทางการเมือง
เขาไม่เคยเข้าไปมีตำแหน่งใดๆเหมือนกับที่ นายสุรพล นิติไกรพจน์ มี

เขาไม่เคยเข้าไปมีตำแหน่งใดๆ เหมือนกับที่ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ มี
ยังคงเป็น “อาจารย์” อยู่เหมือนเดิม

Advertisement

คำตอบ 1 เพราะเขาเติบใหญ่ในทางความคิดมาจากกระบวนการต่อสู้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535
และยังรับผิดชอบต่อ “การตาย” ของ”วีรชน”

เขาจึงไม่เหมือนกับคนใน “เดือนตุลาคม” บางคน ไม่ว่าจะเป็นเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าจะเป็นเดือนตุลาคม 2519
เป็นเพียง “บางคน” มิใช่ “ทุกคน”

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล จึงไม่เคย “หลงลืม” หัวใจแห่งการเคลื่อนไหวต่อสู้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535
จึงรับไม่ได้กับ “ร่าง”รัฐธรรมนูญ นายมีชัย ฤชุพันธุ์

บทสรุปจากการศึกษาและวิเคราะห์ของ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล จึงควรแก่การล้างหูและน้อมรับฟัง
อะไรคือ บทสรุปที่สำคัญ

1 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะพา “ถอยหลัง” ไปก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กลับไปหารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534
นั่นก็เป็น “ฝีมือ” ของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์

1 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ได้ฉายาว่า “ฉบับหมกเม็ด” ฉบับนี้ก็ยังคง “หมกเม็ด” ไม่ต่างกัน

1 แพ้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ หลุดลุ่ย

หากนำเอา “ถ้อยแถลง” จาก นายอมร วานิชวิวัฒน์ ในฐานะ “โฆษก”คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ว่า

“มีผู้ที่ไม่เข้าใจหรือเข้าใจแต่จงใจบิดเบือนข้อเท็จจริง”

มาเป็น “บรรทัดฐาน” ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า คำบรรยายของ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล
ต่อ “ร่าง” รัฐธรรมนูญ

จะเป็น ความ “ไม่เข้าใจ”

หรือจะเป็นความ “เข้าใจแต่จงใจบิดเบือนข้อเท็จจริง”

นั่นก็ขึ้นกับว่า ประชาชนจะได้อ่าน “เนื้อความ”โดยละเอียดจากที่สื่อหนังสือพิมพ์ฉบับสำนักนำเสนอหรือไม่

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ยัง “เหมือนเดิม”

เหมือนเมื่อครั้งที่เขาเป็น “นักศึกษา” และออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านต่อต้านในเดือนพฤษภาคม 2535
จะต่างก็เพียงแต่ วันนี้เขาเป็น “ดุษฎีบัณฑิต”ทาง “กฎหมาย”

แต่เขาก็ยังยึดมั่นในหลักการ “ประชาธิปไตย” และยังให้ความเคารพต่อ “อำนาจอธิปไตย”
อันเป็นของ “ปวงชน”อยู่อย่างเหนียวแน่นและมั่นคง

“สังคม” จึงพร้อมใจกัน”ปรบมือ”ให้ดังสนั่นหวั่นไหว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image