วงเสวนาจี้ผ่านร่าง รธน.วาระ 3 แล้วทำประชามติ ช่วยหยุดวิกฤตซ้อนวิกฤต เชื่อประยุทธ์ออก ประเทศเจริญ

วงเสวนาจี้ผ่านร่าง รธน.วาระ 3 แล้วทำประชามติ ช่วยหยุดวิกฤตซ้อนวิกฤต เชื่อประยุทธ์ออก ประเทศเจริญ

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลุ่ม “คนเดือนพฤษภา 2535 สภาที่ 3” จัดเสวนาหัวข้อ “จาก รสช.คปค.คมช. ถึง 3 ป. มรดกรัฐประหารที่ตกค้างในแผ่นดินไทย”  โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ปี 2535, นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

นายอดุลย์ กล่าวว่า สิ่งที่เห็นคือมรดกของรัฐประหารยังมีตลอดเวลา วันนี้บ้านเมืองเราที่ผ่านการรัฐประหารจาก คสช. และมาสู่ความเลวร้ายและล้มเหลวในทุกด้าน แม้พยายามประนีประนอมและทำตามคำสอนของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 คือหันหน้าเข้าหากัน แต่จนวันนี้ก็ยังไม่สามารถทำได้

นายอดุลย์ กล่าวว่า ขอโทษที่ไม่สามารถเดินได้ถึงจุดที่ปรองดองกันได้ แม้จะพยายามทุกทาง วันนี้สิ่งที่รัฐบาลทำกับตน ทำกับพวกเรา ทำกับสังคมไทยมันไม่เป็นจริงอย่างที่พูด ตนต้องขอโทษเพราะรู้สึกละอายกับวีรชนคนที่ตายไป ตนพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ซึ่งน่าจะดีกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้เกลียด พล.อ.ประยุทธ์เป็นการส่วนตัว แต่ชิงชังการบริหารบ้านเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์มากกว่า ที่ได้กระทำแบบนี้

Advertisement

 

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์


“สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลนี้ไม่มีความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศต่อไปเกิดจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์และพวก ถือปืนเข้ามายึดอำนาจ ประเทศยังไม่เกิดความสามัคคีปรองดอง และทำตรงข้าม สร้างความแตกแยก วางคนของตัวเองไว้ กุมอำนาจเศรษฐกิจ เอื้อนายทุน กุมอำนาจทหาร ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งพาของประชาชนได้ต่อไปแม้แต่องค์กรอิสระก็พึ่งพาไม่ได้”
นายอดุลย์กล่าว

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 วันที่ 17-18 มี.ค.นี้กระบวนการที่จะเริ่มทำประชามติถามประชาชนว่าจะให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาต้องโหวตผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในวาระ 3 จากนั้นจึงจะเริ่มขั้นตอนการทำประชามติ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ส่วนการที่มี ส.ส.และ ส.ว.บางส่วนตีความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในวาระ 1 และ 2 ถือเป็นโมฆะนั้น ตนเข้าใจว่าเป็นความตั้งใจตีความให้ไปต่อไม่ได้ เพราะจะเริ่มร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ต้องมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก่อน จึงจะไปถามประชาชนว่าอยากให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล


“หากเราเคารพในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจริงต้องมีวาระ 3 และหากรัฐสภาต้องการให้ประชาชนได้แสดงความประสงค์ว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ รัฐสภาต้องผ่านวาระ 3 ถึงจะมีการทำประชามติ หากประชาชนไม่เอาก็ใช้ฉบับ 2560 ต่อไป แต่หากประชาชนเห็นชอบด้วยจึงจะเกิด ส.ส.ร. เราจะเห็นด้วยกับรัฐบาลกับรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ ก็ให้ใช้ 1 คน 1 เสียงจบที่ประชามติ ถ้าประชาชนไม่เอา ก็ใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไป เรื่องง่ายๆ แค่นี้”
ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวด้วยว่า หากจะมีการทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 เราจะใช้รัฐธรรมนูญมาตราไหนมาดำเนินการ เพราะหากใช้มาตรา 116 ก็จะกลายเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ใช่อำนาจของรัฐสภา และอาจจะเกิดการติดขัดขึ้น แต่ในมาตรา 256 ไม่ได้มีการเขียนไว้ว่าให้ทำประชามติก่อน ดังนั้น การจะทำประชามติก่อนจึงต้องแก้ไขมาตรา 256 เพราะส่วนตัวมองหาไม่เจอว่ารัฐสภาจะใช้อำนาจตามมาตราใด

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า หากเราประสงค์จะให้พี่น้องคนไทย ไม่ว่าฝ่ายไหนยุติปัญหาด้วยรัฐสภา คิดว่าขั้นตอนที่จะนำความขัดแย้งนอกสภามาสู่กระบวนการที่ใช้รัฐสภาเป็นตัวแก้ปัญหา เกรงว่าหากคว่ำไป การเมืองนอกสภาอาจจะแรงขึ้น ดังนั้น ในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาเรื่องความยอมรับของประชาชนจำนวนมาก ต่อให้ผ่านประชามติมาก็เป็นประชามติที่ไม่สมบูรณ์แบบ ตนจึงเห็นว่าควรจบด้วย 1 คน 1 เสียง เพราะเมื่อผลออกมาแล้วจะแก้ข้อครหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ และจะได้รู้กันไปเลยว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาจริงหรือไม่ แต่หากไม่มีวาระ 3 ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่แย่ที่สุด เพราะเท่ากับว่ารัฐสภาด้อยค่าตัวเอง ในการพิจารณา 2 วาระที่ผ่านมา จึงมองว่าอย่างไรก็ตามต้องมีวาระ 3 ส่วนจะโหวตอย่างไร เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภาที่มีต่อประชาชน

“ขอตั้งคำถามไปยังที่ประชุมรัฐสภา มีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีฉบับใหม่หรือไม่ นี่คือสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวางเงื่อนไขไว้ว่าทำได้ แต่ต้องถามประชาชนก่อน” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

ด้าน นายจตุพร กล่าวว่า ในเรื่องของการแก้ไขปัญหารัฐธรรมนูญ คนที่ต้องรับผิดชอบมากที่สุดคือ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเพียงแค่ละครฉากหนึ่งที่หลอกกันไปหลอกกันมา การทำประชามตินี้นำมาแอบอ้างเป็นประชามติที่อัปยศอดสู ตนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญไม่ว่าจะผ่านมากี่ฉบับก็จบลงด้วยการถูกฉีกทั้งนั้น ที่สุดแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะเล่นบทลอยตัว สร้างความขัดแย้งให้ประชาชน แล้วตัวเองก็ปกครองสบาย เพราะถ้าประเทศสามัคคีผู้ปกครองแบบนี้จะปกครองไม่ได้ เขาจึงไม่พยายามที่จะสร้างความปรองดองใดทั้งๆสิ้น แต่เป็นคณะรัฐประหารที่มีความประหลาด ไม่เหมือนกับชุดอื่น อะไรที่ตึงเขาพร้อมที่จะถอย ทำอะไรผิดเขาพร้อมจะขอโทษ ไม่อย่างนั้นเขาจะบริหารชาติบ้านเมืองแบบนี้จะได้ถึงเจ็ดปีหรือ

“ประยุทธ์โกหกไม่รู้กี่ครั้งแล้ว แต่คนไทยก็ยังให้อภัย ตนถึงบอกกับประชาชนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องหลวงโลกของรัฐบาล เพราะเป็นกลไกเดียวที่จะต่ออายุของเขา นอกจากนี้บรรดานักการเมืองทั้งหลายก็กลัวกลไกทหาร แบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าที่ปัญหาเต็มไปหมดภายในรัฐบาลเอง

 

จตุพร พรหมพันธุ์


“พรรคประชาธิปัตย์ก็สาละวันเตี้ยลงทุกวัน ถ้าเรื่องรัฐธรรมนูญพรรคประชาธิปัตย์ยังแถกได้อีกครั้งน่าจะเรียกว่าสูญพันธุ์ หรืออาจจะเหลือไม่ถึงครึ่งของครึ่งเพราะเห็นกันอยู่ว่าผลัดกันเล่นผลัดกันต้ม และศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ก็มาจากประยุทธ์ทั้งชุด

“ถึงบอกว่าวันนี้ถ้าประชาธิปัตย์ยังไม่รู้สึกรู้สา กรุงเทพฯหมด และภาคใต้ก็จะทยอยสูญพันธุ์ วันนี้ถ้านักการเมืองยืนหยัดเรื่องประชาธิปไตย เราจะไม่มีสภาพแบบนี้ วันนี้ประชาชนต้องคิดกันใหม่ เราจะถูกแบ่งแยกและทำลายเพื่อผู้ปกครอง ถ้าเรายังทะเลาะกันเหมือนเดิม เราก็สู้คนที่มายึดอำนาจเหล่านี้ไม่ได้ วิธีที่จะดัดหลังพวกนี้ เราต้องคิดเรื่องชาติบ้านเมืองเป็นใหญ่ เอาเรื่องตัวเองวางไว้ไม่เช่นนั้นเราจะไม่ได้อะไรเลย รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ ประเทศก็เจ๊ง” นายจตุพรกล่าว

ขณะที่ นายพิภพ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์และพวก 3 ป.ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่อยากจะเขียนธรรมนูญใหม่ แต่วันนี้ตกกระไดพลอยโจน จากการเคลื่อนไหวของมวลชนและการเรียกร้องทำให้ต้องเอาวาระเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปพิจารณาในวาระของสภา แต่ความจริงไม่ต้องการแก้ไข  อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญจะต้องเป็นของประชาชน และถ้าสถาปนารัฐธรรมนูญได้ ในสิ่งที่ตนฝันไว้คือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกไป แล้วประเทศชาติจะเจริญขึ้น โดยกลไกของรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าจะให้ออกไปด้วยกันโดยกลไกของการชุมนุมขนาดใหญ่แบบสมัยของ นปช. หรือ กกปส.ก็คงจะไม่ได้เกิด

“ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถผ่านกระบวนการไปตามมติของศาลธรรมนูญได้ก็จะเปลี่ยนแปลงอย่างสันติวิธี  ดังนั้น การประชุมร่วมของรัฐสภา อยากจะฝาก ส.ส.และ ส.ว.ว่าหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงประเทศชาติในครั้งนี้คือการสถาปนารัฐธรรมนูญโดยประชาชน ไม่ว่าจะมีมติอย่างไรก็ตาม แต่อย่าไปทำลายเจตนารมณ์ของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องประชาชน” นายพิภพกล่าว

พิภพ ธงไชย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image