ทวี ยก รธน. แนะรัฐจริงใจรับฟังชาวบ้าน ค้านสร้างเขื่อนผันน้ำยวม-เงา อย่าใช้เงินนำหน้า

เวทีเสวนาเครือข่ายชุมชนสี่ลุ่มน้ำ แถลงการณ์ 8 ข้อ ยุติ “โครงการสร้างเขื่อนผันน้ำยวม-เงา” ขณะที่ “ทวี สอดส่อง” แนะรัฐจริงใจรับฟังผู้มีส่วนได้เสีย หวั่นเป็นการทำลาย มากกว่าการพัฒนา

วันนี้ (15 มี.ค.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ได้โพสต์เผยว่า ได้ร่วมเวทีเสวนาเครือข่ายชุมชนสี่ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มยวม ลุ่มน้ำเงา ลุ่มน้ำเมย และลุ่มน้ำสาละวิน แสดงความกังวลและ เรียกร้องให้ยุติ “โครงการ ‘สร้างเขื่อนผันน้ำยวม-เงา’ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล “ มูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ทุกวันที่ 14 มีนาคม ถือเป็นวันหยุดเขื่อนโลก หรือวันปฏิบัติการเพื่อแม่น้ำสากล ได้รับเชิญจาก ส.ส.มานพ คีรีภูวดล (ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล) สัดส่วนชาติพันธุ์ ได้เชิญร่วมกิจกรรมชุมชนชาติพันธุ์บวชป่าและสืบชะตาแม่น้ำยวม ตรวจดูพื้นที่และรับฟังข้อมูลในเวทีเสวนาปกป้องสี่ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มยวม ลุ่มน้ำเงา ลุ่มน้ำเมย และลุ่มน้ำสาละวิน โดยมีตัวแทนเยาวชน ชาวบ้าน ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น และตัวแทนหน่วยงานภาคเอกชน ณ แม่น้ำยวม บ้านสบเงาทตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

“ข้อกังวลและปัญหาของเครือข่ายประชาชนสี่ลุ่มน้ำ กับโครงการที่รัฐบาล โดย กรมชลประทาน กำลังผลักดันคือ “โครงการผันน้ำยวมเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล” ที่กรมชลประทานได้สื่อสารให้เหตุผลว่าสถิติปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลจังหวัดตาก ประสบปัญหามีปริมาณน้ำน้อยติดต่อกันมีประมาณไม่ถึง 10% จำเป็นต้องเติมน้ำในเขื่อนภูมิพลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ขาดน้ำใช้ในการเกษตร น้ำอุปโภคและบริโภค โดยโครงการฯ ผันน้ำจากลุ่มน้ำยวมที่เป็นสาขาของลุ่มน้ำสาละวินไปเก็บไว้ยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลที่สามารถเก็บน้ำได้ปริมาณมาก

“เส้นทางในการเติมน้ำเข้าในเขื่อนภูมิพลตามโครงการฯ แบ่งเป็น การ ‘สร้างเขื่อนน้ำยวม’ ตั้งอยู่บนแม่น้ำยวมเขต อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ทำหน้าที่กักเก็บน้ำและทดน้ำเข้าสู่ ‘สถานีสูบน้ำ’ บ้านสบเงา อ.สมเมย สถานีสูบน้ำจะทำหน้าที่สูบน้ำจากเขื่อนน้ำยวมผ่าน ‘อุโมงค์อัดน้ำ’ ขึ้นสู่ ‘อุโมงค์พักน้ำ’ ก่อนปล่อยเข้าสู่ ‘อุโมงค์ส่งน้ำ’ ที่มียาวประมาณ 60.25 กิโลเมตร มีทางออกอุโมงค์ที่บ้านห่วยแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ก่อนปล่อยน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพลที่มีระยะทางเขตรอยต่อประมาณ 10 กิโลเมตร งบประมาณที่ใช้ในโครงการประมาณ 70,000 ล้านบาท

Advertisement

“เครือข่ายประชาชนร่วมกิจกรรมเสวนาฯ ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ได้แสดงความกังวลไปยังรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้อง เรียกร้องให้ยุติโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล โดยทันที และตัวแทนอ่านแถลงการณ์จำนวน 8 ข้อ โดยสรุป คือ 1) เรื่องน้ำท่วมที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินจากการสร้างเขื่อน และอุโมงค์ ไม่มีความชัดเจนมาตราการป้องกัน การเยียวยาจากผลกระทบจากโครงการ 2) น้ำอุปโภค บริโภคที่ชุมชนใช้ระบบประปาภูเขา ที่โครงการก่อสร้างจะต้องได้รับผลกระทบถึงป่าต้นน้ำที่เป็นแหล่งน้ำประปาของชาวบ้าน 3) ชุมชนเกือบทั้งพื้นที่จะไม่มีเอกสารสิทธิและจำนวนมากเป็นคนไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีความชัดเจนในการช่วยเหลือและด้านกฏหมาย 4) เรื่องวัสดุหลังจากการขุดเจาะอุโมงค์ที่ต้องมีสถานที่ทิ้ง สภาพขยะที่มีจำนวนมากที่จะส่งผลกระทบในฤดูฝนเกิดการสไลด์ของกองดิน และหากกองในป่าจะทำให้สูญเสียป่าและชุมชน 5)การสร้างเขื่อนจะเกิดผลกระทบเรื่องเส้นทางเดินทาง การสัญจรชาวบ้านชุมชนที่ประสบปัญหาอยู่แล้วไม่มีข้อมูลชี้แจง 6) การศึกษาทราบว่าผู้เห็นด้วยกับโครงการ มีข้อมูลบางส่วนมีผู้เก็บบัตรประชาชนไปกรอกเอง ส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องโครงการ อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย 7) ชุมชนที่ปรากฏในโครงการตามแผนที่บางส่วน แต่อีกหลายชุมชนไม่ปรากฏ และยังมีบ้านเรือนไม่ปรากฏในแผนที่

ภาษาในการประชุมเป็นภาษาไทยแต่ชุมนุมสี่กลุ่มส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์มีภาษาถิ่นตนเองไม่เข้าใจภาษาไทย ในที่ประชุมตามรายงานกรมชลประทาน 36 ชุมชน แต่ผู้ประชุม ล้วนใช้ภาษาท้องถิ่น คือภาษากะเหรี่ยง ซึ่งมีทั้งกะเหรี่ยงโปว์และกะเหรี่ยงสกอร์ ผู้ถูกเชิญเข้าประชุมไม่มีความเข้าใจที่ถือเป็นประเด็นสำคัญถูกมองข้ามไป

ส่วนตัวเห็นว่า เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางกระทบต่อชุมชนชาติพันธุ์จำนวนมาก กรณีกลุ่มชาติพันธุ์รัฐธรรมนูญมาตรา 70 บัญญัติว่า “รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดํารงชีวิต ในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตราย ต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย” รัฐต้องให้ความสำคัญตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองและมีกระบวนการขั้นตอนในการรับฟังความเห็นศึกษาและประเมินผลกระทบที่จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชนและชุมชนอย่างจริงจัง และโครงการนี้เป็นการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากรน้ำ และพลังงาน ที่ต้องทำโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วย

Advertisement

การแก้ปัญหาหา “น้ำ” ถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ที่มีวิธีการแก้ปัญหาหลายวิธี การเลือกวิธีการสร้างเขืองกักเก็บน้ำขนาดใหญ่และขุดอุโมงค์น้ำมีระยะทางมากกว่า 60 กิโลเมตร ผ่านชุมชนและชาวบ้านจำนวนมาก การก่อสร้างและขุดอุโมงค์ทำให้เกิดการทำลายป่าต้นน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน และต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างราว 70,000 ล้านบาท ที่เป็นเงินภาษีของประชาชน รัฐจะต้องเชื่อมั่นว่าโครงการเสร็จแล้วจะแก้ปัญหาได้จริง คุ้มค่ากับการสูญเสียการลงทุนไป และการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่ชัดเจน พอเพียงทั้งด้านตัวเงิน จิตใจ และจิตวิญญาณ เชื่อว่าทุกฝ่ายเห็นด้วยกับต้องมีการขั้นตอน “การศึกษาโครงการ” ซึ่งจะต้องหลีกเลี่ยงการศึกษาโครงการที่เป็นระบบเดิมๆ ที่เสร็จสิ้นโครงการแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะเริ่มโครงการด้วยระบบ “ใช้เงินนำหน้าปัญญาตามหลัง” มิฉะนั้นจะไม่เรียกว่า “การพัฒนา” แต่จะเป็น “การทำลาย” แทน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image