‘เดอะควอด’พันธมิตรระหว่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและอินเดียเพื่อต้านจีนโดยเฉพาะ

“เดอะควอด”

ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมีพรมแดนทางทิศตะวันออกจรดทะเลจีนทั้งสองคือทะเลจีนตะวันออกกับทะเลจีนใต้ โดยทะเลจีนตะวันออกครอบคลุมจากชายฝั่งตะวันออกของจีนไปถึงเกาะคิวชิวและหมู่เกาะริวกิวโดยผ่านทางใต้ของเกาะเชจูของเกาหลีส่วนอาณาเขตทางใต้อยู่ที่เกาะไต้หวัน พื้นที่ของทะเลจีนตะวันออกมีประมาณ 751,100 ตารางกิโลเมตร สำหรับพื้นที่พิพาทในทะเลจีนตะวันออก คือ หมู่เกาะเซนกากุในภาษาญี่ปุ่น หรือเตียวหยูในภาษาจีนที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของโอกินาวาและอยู่ทางตะวันออกของจีน ซึ่งจากประวัติศาสตร์หมู่เกาะเล็กๆ แห่งนี้ถือเป็นแนวชายแดนของจีนที่ใช้ป้องกันโจรสลัดญี่ปุ่นจนกระทั่งจีนพ่ายแพ้ในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 พ.ศ.2438 หมู่เกาะนี้จึงตกเป็นของญี่ปุ่นตามสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ครั้นญี่ปุ่นแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 หมู่เกาะนี้จึงตกเป็นของสหรัฐอเมริกาและเมื่อสหรัฐอเมริกาให้เอกราชแก่ญี่ปุ่นแล้วก็คืนหมู่เกาะเซนกากุให้ด้วยแต่เนื่องจากหมู่เกาะแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณเส้นทางเดินเรือที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของโลกและอาจจะมีแหล่งน้ำมันใต้ทะเลทำให้จีนอ้างกรรมสิทธิ์ดั้งเดิมว่าหมู่เกาะแห่งนี้ไม่ควรเป็นของญี่ปุ่นเนื่องจากเป็นของจีนมาก่อนซึ่งก็มีปัญหากระทบกระทั่งกันมาโดยตลอดระหว่างเรือรบกับเรือประมงของทั้ง 2 ประเทศนี้

อาณาเขตที่จีนอ้างว่าเป็นของจีนในทะเลจีนใต้

ส่วนทะเลจีนใต้ เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิกที่ครอบคลุมตั้งแต่ชายฝั่งของประเทศสิงคโปร์ไปจนถึงช่องแคบไต้หวัน รวมถึงอ่าวตังเกี๋ย อาณาเขตของทะเลจีนใต้อยู่ทางทิศใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่และเกาะไต้หวัน ทิศตะวันตกของฟิลิปปินส์ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐซาบาห์และรัฐซาราวักของมาเลเซียและประเทศบรูไน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรมลายูและสิงคโปร์ และทิศตะวันออกของเวียดนาม หมู่เกาะทะเลจีนใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกาะ มีจำนวนหลายร้อยเกาะ ทะเลและเกาะที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัยส่วนใหญ่นี้เป็นหัวข้อพิพาทอธิปไตยโดยหลายประเทศ ในช่วงที่ผ่านมา จีนได้สร้างเกาะเทียมและลาดตระเวนทางทะเลเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ในทะเลจีนใต้ ขณะที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ได้มีข้อพิพาทเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้ แต่ได้อ้างเรื่อง “เสรีภาพในการเดินเรือ” ในการส่งเรือและเครื่องบินของทหารหลายลำเข้ามาใกล้กับบริเวณเกาะพิพาทในทะเลจีนใต้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า สามารถเข้าถึงเส้นทางการขนส่งสินค้าทั้งทางน้ำและทางอากาศที่สำคัญได้ ทะเลจีนใต้มีเนื้อที่ใหญ่กว่าทะเลจีนตะวันออกถึงสี่เท่าเศษคือมีพื้นที่ประมาณ 3,500,000 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ดังกล่าวเป็นเส้นทางขนส่งทางเรือที่สำคัญของโลก โดยมีเรือบรรทุกสินค้าผ่านคิดเป็นอัตราหนึ่งในสามของโลก นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อกันว่าใต้พื้นทะเลมีน้ำมันและแก๊สธรรมชาติสำรองขนาดใหญ่อีกด้วย ซึ่งเป็นต้นเหตุของกรณีพิพาททั้งปวงในทะเลจีนใต้นั่นเอง

เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2563 รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศจากอินเดีย สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียได้เข้าร่วมประชุม “เดอะควอด” (The QUAD – Quadrilateral Security Dialogue) ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (ความเป็นมาของ “เดอะควอด” คือการที่ญี่ปุ่นประสานความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดียเพื่อปฏิบัติภารกิจให้ความช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติสึนามิเมื่อ พ.ศ.2547 ที่คร่าชีวิตคนไปกว่า 280,000 ของ 14 ประเทศรอบมหาสมุทรอินเดีย) ต่อมาความร่วมมือ “เดอะควอด” ดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยอีกครั้งใน พ.ศ.2550 โดย นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ แห่งญี่ปุ่นต้องการร่วมมือกับชาติพันธมิตรในการรับมือกับจีนแบบว่าหาพวกเพื่อคานอำนาจจีนที่วิตกว่าจีนคุกคามญี่ปุ่นในอนาคตโดยนายอาเบะได้เริ่มกล่าวถึง แนวทางในการสร้างความร่วมมือระหว่างพื้นที่ 2 มหาสมุทรคือมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกโดยเน้นย้ำถึงความสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือดังกล่าวในรัฐสภาของอินเดียตั้งแต่ พ.ศ.2550 จนกลายเป็นที่มาสำคัญของแนวความคิดว่าด้วย “อินโด-แปซิฟิก” ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายจนถึงทุกวันนี้

Advertisement

แต่ “เดอะควอด” ในช่วงแรกไม่ได้รับความสนใจจากสหรัฐอเมริกาในสมัย ประธานาธิบดีโอบามา เท่าไรนักจึงแผ่วลงไม่มีกิจกรรมใดๆ เท่าไรนัก จนกระทั่งถึงสมัย ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ที่ได้ให้ความสนใจอย่างยิ่งกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างดีจากทั้งอินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เนื่องจากทั้ง 4 ประเทศต่างเผชิญต่อการขยายอิทธิพลอย่างรวดเร็วของจีนภายในภูมิภาค ทำให้ “เดอะควอด” ได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งเนื่องจากทั้ง 4 ประเทศต่างได้รับผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เช่นปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา ปัญหาข้อพิพาทหมู่เกาะระหว่างจีน-ญี่ปุ่น ความขัดแย้งเหนือชายแดนหิมาลัยตลอดแนวของจีน-อินเดีย รวมถึงข้อพิพาทจีน-ออสเตรเลียในประเด็นเรื่องโควิด-19 จนลุกลามกลายเป็นการกดดันกันทางเศรษฐกิจ ทำให้ทั้ง 4 ประเทศก็ได้มีการพูดคุยประเด็นความมั่นคงภายในภูมิภาค “อินโด-แปซิฟิก” มาอย่างต่อเนื่องจนถูกมองว่าเป็นกรอบความร่วมมือที่ใช้ในการปิดล้อมจีน และนับตั้งแต่ พ.ศ.2560 เป็นต้นมาจนกระทั่งเกิดมีการประชุมเดอะควอดเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2563 ซึ่งส่งผลให้อินเดียตัดสินใจให้ออสเตรเลียเข้าร่วมการซ้อมรบทางทะเลมาลาบาร์ (Malabar Naval Exercise) เป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2563 ซึ่งเดิมเป็นการซ้อมรบทางทะเลแบบไตรภาคีระหว่างอินเดีย-สหรัฐอเมริกา-ญี่ปุ่น ทำให้การซ้อมรบครั้งใหม่นี้เป็นการซ้อมรบทางการทหารที่ประเทศสมาชิก เดอะควอดทำการฝึกร่วมกันเป็นครั้งแรก จึงเป็นไปได้ที่ว่าต่อไปจะมีการร่วมมือทางการทหารรูปแบบอื่นๆ ต่อไปอีก

ครับ! ตอนนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยิ่งกระตือรือร้นในเรื่องภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมากกว่าใครๆ เสียอีกเพราะเพียง 5 เดือนที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา ก็ได้มีการชักชวน แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีเข้าร่วมการซ้อมรบทางทะเลและซ้อมความช่วยเหลือภัยพิบัติทางทะเลกับสมาชิกของเดอะควอดเรียบร้อยแล้ว

จีนหนาวแล้วละครับ !

Advertisement

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image