กสม.เผยผลสอบเหตุยิงโจมตีป้อม ชรบ.ยะลา ปี 62 ชี้ละเมิดสิทธิมนุษยชน แนะหลายหน่วยงานปรับปรุงนโยบาย

กสม. เผยผลตสอบเหตุยิงโจมตีป้อม ชรบ.ยะลา ปี 62 ชี้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แนะ ‘มหาดไทย-ศอ.บต.-สมช.’ ร่วมปรับปรุงนโยบาย มาตรการและแนวปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายสมณ์ พรหมรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะผู้ดูแลและตรวจสอบงานด้านสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. ซึ่งได้หยิบยกเพื่อตรวจสอบกรณีการก่อเหตุยิงโจมตีป้อมยามของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านในพื้นที่หมู่ 5 ตำบลลำพะยา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 เป็นเหตุให้อาสาสมัคร ชรบ.และประชาชนเสียชีวิต จำนวน 15 คน และได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง โดยผู้ก่อเหตุยังได้นำอาวุธปืนไปจากที่เกิดเหตุ ลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้า เผายางรถยนต์บริเวณใกล้เคียง และโปรยตะปูเรือใบเพื่อสกัดกั้นการเข้าช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่

นายสมณ์กล่าวต่อว่า กสม.ได้พิจารณาข้อเท็จจริงเห็นว่า การก่อเหตุดังกล่าวเป็นการกระทำโดยกลุ่มบุคคลที่มีการวางแผน การตระเตรียมการและใช้อาวุธสงคราม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บซึ่งมุ่งประสงค์ให้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลอันเป็นสิทธิและเสรีภาพ

นายสมณ์กล่าวว่า ภายหลังเหตุการณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนโดยสามารถจับกุมตัวผู้ถูกกล่าวหานำเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้ว และได้ร่วมกันวางแผนเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและญาติของผู้ที่เสียชีวิตในทันที

Advertisement

“เพื่อป้องกันปัญหาลักษณะคล้ายคลึงกันซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต กสม.จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ควรปรับปรุงนโยบายเกี่ยวกับการจัดตั้ง ชรบ. โดยให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจในการจัดตั้ง ซึ่งอาจดำเนินการจัดตั้งเฉพาะบางพื้นที่ที่มีความจำเป็น สามารถเลือกรูปแบบการจัดตั้งให้เหมาะสมกับการบริหารจัดการและการดูแลสมาชิก” นายสมณ์กล่าว

นายสมณ์กล่าวอีกว่า ศอ.บต. ควรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่แก้ไขปัญหาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตกอยู่ในสถานะเด็กกำพร้า เด็กที่อยู่ในสภาพยากลำบากและเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ควรนำข้อเท็จจริงและปัญหาของ ชรบ. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งข้อเสนอแนะของหน่วยงานและองค์กรภาคประชาสังคม พิจารณาประกอบการจัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในประเด็น เช่น การเพิ่มมาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยให้ภาคประชาชนและสร้างความเชื่อถือของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายความมั่นคง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image