ชาติพันธุ์ก็คือชาติ ‘ประจักษ์’ ซัดโครงสร้าง-วัฒนธรรม ปลูกฝังวิธีคิด แบ่งแยกคน ต้นเหตุรุนแรง

ชาติพันธุ์ก็คือชาติ ‘ประจักษ์’ ปาฐกถา ซัดโครงสร้าง-วัฒนธรรม ปลูกฝังวิธีคิด แบ่งแยกคน ต้นเหตุรุนแรง

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่สะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ ภายหลังตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) และ ภาคี #saveบางกลอย จำนวน 25 คน เป็นตัวแทนร่วมหารือ ในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟภายในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะวันนี้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในประเด็นข้อเรียกร้องแก้ปัญหาบางกลอย ด้วยนั้น

เวลา 11.07 น. ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถา ความว่า ตอนเรียนปริญญาตรี ตนเป็นนักศึกษาที่ ม.ธรรมศาสตร์ ก่อนจะตื่นตัวทางการเมือง ได้อยู่ชุมนุมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก่อน เคยมาคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เคยไปกับกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือที่เชียงใหม่ วันนี้ยินดีและเป็นเกียรติที่ได้มาพบเจอกับพวกท่าน

โดยปกติตนศึกษาวิจัยเรื่องความขัดแย้ง และความรุนแรง จึงอยากจะพูดแค่ 2 ประเด็น คือ1.ความรุนแรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์ และ 2. ความเป็นไทยในสังคมไทย

Advertisement

ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าวว่า เรื่องความรุนแรง คงทราบว่าพี่น้องบางกลอยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงอย่างชัดเจนในรอบหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลอบสังหาร อุ้มหาย เผาบ้านเรือนที่อยู่อาศัย นี่คือความรุนแรงทางตรงที่เห็นได้ง่าย มีความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่ยังมีพี่น้องอีกทั่วประเทศที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในลักษณะนี้ จากที่เคยเก็บรวบรวมข้อมูลความรุนแรงทั่วประเทศ ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มีความารุนแรงที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ กับชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์ โดยเฉพาะความขัดแย้งในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คู่ขัดแย้งมักจะเป็นรัฐ แผนที่ความรุนแรงได้ชี้ให้เห็นว่า กระจุกตัวออยู่ที่ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บางครั้งคู่ขัดแย้งก็มาในรูปของกลุ่มทุนและนายทุนที่ไปจ้างชายชุดดำมาปะทะชาวบ้านอีกทีหนึ่ง หลายครั้งนำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แกนนำถูกอุ้มหาย ถูกฆาตกรรม บางครั้งก็เป็นการเผาทำลาย ไล่ที่

“นี่เป็นความรุนแรงที่ดำรงอยู่มาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีความรุนแรงอีก 2 ชนิดที่สังคมทั่วไปอาจไม่ตระหนัก เป็นความรุนแรงที่ชาติพันธุ์ได้รับมาโดยตลอด เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม

ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เขาถูกปิดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ลูกหลานไร้โอกาสทางการศึกษา รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิของชาวบ้าน มาตรการเหล่านี้เป็นผลจากนโยบายและโครงการของรัฐ คืออาจไม่มีใครตายทันทีจากความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การเข้าไม่ถึงโอกาส การไม่สามารถดำรงวิถีชีวิตแบบเดิม ไม่มีใครเสียชีวิตทันที แต่ความรุนแรงแบบนี้ทำให้คนตายอย่างช้าๆ เพราะเราถูกปิดกั้นโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์ของเรา ในหลายประเทศกลุ่มชาติพันธุ์แบบพี่น้อง เช่น ออสเตรเลีย อเมริกา มีอายุสั้นกว่าคนทั่วไป ในออสเตรเลีย ชนพื้นเมืองอยู่มาก่อนจะตั้งประเทศ พอคนขาวเข้าไปก็ยึดทุกอย่าง และปิดกั้นโอกาส ชนพื้นเมืองกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง อายุเฉลี่ยแค่ 40 กว่าปีเท่านั้น แต่คนขาวอายุเฉลี่ย 80 ปี ต่างกันถึงสองเท่า

Advertisement

ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เขาถูกลิดรอนสิทธิ ลูกหลานไม่ได้เข้าถึงการศึกษา พอไม่มีการศึกษาที่ดีก็ขากโอกาสที่จะมีงานที่ดี เป็นวงจรความยากจน นี่คือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

จะแก้ไขได้ ไม่ใช่แค่การแก้ไขกฎหมาย แต่ต้องแก้นโยบายและวิธีคิดในการพัฒนาของรัฐ” ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าว และว่า

อย่างบางกลอย เป็นปัญหาระดับยุทธศาสตร์การพัฒนาและวิธีคิด ที่มองคนแยกออกจากป่า ในขณะที่ความรู้ในการจัดการป่าทั่วโลกเขาได้ก้าวไปในขั้นที่ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้แล้ว สามารถดำรงวิถีชีวิต อัตลักษณ์ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็ป่าก็ยังอยู่ได้ รัฐไทยยังล้าหลัง

ส่วนถัดไปคือความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม เป็นความรุนแรงที่ดำรงอยู่อย่างยาวนาน ลึกซึ้ง และแก้ไขยากที่สุด เป็นเรื่องทัศนคติของคนในสังคมที่ถูกกล่อมเกลาปลูกฝังมา การที่คนส่วนใหญ่และสื่อมวลชนขาดความรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ นำไปสู่การดูหมิ่น ดูถูก กล่าวหาว่าไม่ใช่คนไทย เป็นพวกล้าหลัง และผลิตซ้ำมายาคติว่าชาวบ้านตัดไม่ทำลายป่า อคติพวกนี้นำไปสู่การสร้างความเกบียดชังและสร้างความชอบธรรมให้รัฐใช้ความรุนแรง

“เมื่อ 2-3 วันนี้มีข่าวเล็กๆ ที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนมาก ที่มีคนแต่งกายคล้ายกะเหรี่ยง โพกผ้า แล้วไปนั่งในร้านอาหาร สั่งอาหารกิน ปรากฏว่ามีชายไทยไม่ทราบชื่อเดินเข้ามาต่อว่าเขา บังคับให้เขาร้องเพลงชาติไทยให้ฟัง ตลกดี จะพิสูจน์ว่าเป็นคนไทยแต่ร้องเพลงชาติให้ฟัง สะท้อนให้เห็นอคติการดูหมิ่น เหยียดหยาม ดูถูกคนอื่นที่มีอัตลักษณ์แตกต่างออกไป เป็นผลผลิตจากการศึกษา การกล่อมเกลาโดยรัฐ และบทบาทของสื่อที่ไม่สร้างความรู้ความเข้าใจ

ครั้งนี้สื่อหลายสำนักมาช่วยทำข่าว และได้ช่วยแก้ข้อกล่าวหาและมายาคติต่างๆ เช่น ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ใช่คนไทย ชาวบ้านบุกรุกอุทยาน สื่อหลายสำนักช่วยในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง

ถ้าเราช่วยกันในอนาคต ถ้าเราเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมได้ ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมจะค่อยๆ หมดไป”

ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าวว่า ทำไมความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมจึงน่ากลัว เพราะเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้คนไม่มองว่าคนเท่ากัน ปัญหาบางกลอย สามจังหวัดชายแดน และอีกหลายพื้นที่มีประเด็นเดียวกันร่วม คือประเด็นนี้ที่ชนกลุ่มน้อยถูกอคติ ถูกกล่าวหาจากรัฐอย่างไม่เป็นธรรม นำไปสู่ความรุนแรงในรูปแบบความรุนแรงทางตรง

“อคติความเป็นไทย ความเป็นไทยที่ถูกนิยามอย่างคับแคบโดยรัฐราชการ ไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และความแตกต่างทางศาสนา เชื้อชาติ รัฐไทยตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ที่เป็นต้นเหตุของกฎหมายป่าไม้และอุทยาน ส่วนใหญ่ออกมาในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นยุครัฐเผด็จการที่เน้นแต่มิติความมั่นคง เอาปัญหาทรัพยากรและชาติพันธุ์ไปผูกกับความมั่นคง ปราบปราม บังคับให้พวกเขาเปลี่ยนอัตลักษณ์ ความเชื่อ วิถีชีวิต เพราะมองว่าเขาเป็นภัยคุกคามของรัฐ ไม่สอดคล้องกับความเป็นไทยแท้

แต่จริงๆ ชนชั้นนำไทยอพยพจากจีนเป็นส่วนใหญ่ เข้ามาทีหลังพี่น้องอีก เข้ามาหลังพี่น้องชาวบางกลอยอีก พี่น้องบางกลอยมีความเป็นไทยมากกว่า ครม. ทั้งหมด ครอบครัวคุณวราวุธ ศิลปอาชา ก็มีชื่อเสียง ผมก็เคยได้คุยกับท่าน จบออสเตรเลียเหมือนกัน ตคดหวังว่าท่านจะผลักดัน มติ ครม. เหมือนกัน คุณบรรหารก็เป็นจีนอพยพ มันไม่มีหรอกครับไทยแท้ แต่ความเป็นไทยที่ดีควรจะโอบรับทุกคน ผมเป็นคนจีน ผมก็ภูมิใจในความเป็นคนไทย ความเป็นไทยที่ดีคือแบบนี้ ยอมรับความแตกต่างหลากหลายของผู้คนไม่ว่าเขานับถือศาสนาอะไร เชื้อชาติอะไร พูดภาษาอะไร มีอัตลักษณ์แบบนี้ มีความเชื่อ อุดมการณ์แบบไหน

ถ้าความเป็นไทยแข็งแรงและมั่นคงจริงมันต้องยอมรับความแตกต่างหลากหลายของผู้คนได้ ไม่ใช่ความเป็นไทยที่ชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ นำมาอ้าง แล้วไปชี้หน้าบอกว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่ไทย ไม่รักชาติ ความเป็นไทยถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองยาวนานเหลือเกิน เอามาปราบปรามประชาชน สังหารทำร้ายคนที่มีอัตลักษณ์ที่รัฐไม่ชอบ เอามาใช้เป็นข้ออ้างในการลิดรอนสิทธิและทรัพยากรของชาวบ้าน ในแง่นี้ แล้วเราจะรับความเป็นไทยแบบนี้ได้อย่างไร ซึ่งตกค้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ยุคอาณานิคม แต่นี่ศตวรรษที่ 21 แล้ว เวลาทั่วโลกเขาพูดเรื่องความรักชาติ เขาไม่ได้มาเน้นย้ำว่าทุกคนต้องคิดเหมือนกัน มีวิถีแบบเดียวกัน ความเป็นชาติในศตวรรษนี้คือความเป็นชาติที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย”

“ชาติไทยที่น่าอยู่คือ ชาติที่เคารพประชาชน
คือชาติที่ประชาชนทุกกลุ่มมีความเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย และกฎหมายมีไว้รับใช้คนธรรมดาสามัญ มิใช่ปกป้องนายทุนและชนชั้นนำจำนวนน้อย
คือชาติที่อันลักษณ์และวิถีชีวิตอันหลากหลายของประชาชน คือ ชาติที่นับรวมทุกคน ปกป้องคุ้มครองทุกคนโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ภาษา ศาสนา เพศสภาพ และความคิดความเชื่อทางการเมือง

ชาติพันธุ์ก็คือชาติ คือส่วนหนึ่งของชุมชนชาติไทย
คนไทยทุกคนรักชาติ รักแผ่นดินเกิด และจะรักยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ถ้าชาติมีความเป็นธรรม เป็นประชาธิปไตย และมีความเท่าเทียม” ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าว และว่า

เพราะชาติพันธุ์ก็คือคน และชาติพันธุ์ก็คือพลเมืองเท่ากับคนอื่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image