ครช.-แม่นักกิจกรรม ยื่นจดหมายอุปทูตสหรัฐ ปมละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย

ครช.-แม่นักกิจกรรม ยื่นจดหมายอุปทูตสหรัฐ ปมละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม เวลาประมาณ 10.00 น. ที่สถานเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) นำโดย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยองค์กรเครือข่าย รวมถึงมารดาของนักกิจกรรมทางการเมือง ได้แก่ นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดานายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และ นางพริ้ม บุญภัทรรักษา มารดาของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน เข้าพบและยื่นหนังสือต่ออุปทูตรักษาราชการสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

Advertisement

เรียน Mr. Michael Heath อุปทูตรักษาราชการสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะนอกจากเป็นการแปลงโฉมคณะรัฐประหารผ่านกติกาที่บิดเบี้ยวและวิธีการที่ฉ้อฉล ยังเป็นเงื่อนไขให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางผ่านทางหน่วยงานรัฐ กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกรณีการชุมนุมที่นำโดยนิสิตนักศึกษาในปี 2563 ที่ผ่านมาที่มีการขัดขวางและสลายการชุมนุมอย่างผิดหลักการและขั้นตอนสากล มีการใช้กำลังอย่างไม่ได้สัดส่วนกับการชุมนุม มีการขู่คุกคามผู้ชุมนุมทั้งในสถานศึกษาและที่พักอาศัย

Advertisement

รวมถึงมีการตั้งข้อหาและดำเนินคดีแกนนำและผู้ชุมนุมด้วยกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากเว้นระยะการใช้มาประมาณ 2 ปี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงกลางเดือนมีนาคม 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 อย่างน้อย 73 คน ใน 63 คดี โดยในจำนวนของผู้ถูกจับกุม 18 คน มีเพียง 6 คนที่ได้รับสิทธิประกันตัว ส่วนที่เหลืออีก 12 คนไม่ได้รับสิทธิประกันตัว แม้บางคนจะเป็นนักศึกษาและอยู่ระหว่างการศึกษาเล่าเรียน เช่น นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ไม่นับรวมผู้ต้องหาคนอื่นที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะหลบหนีหรือก่อความยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นนายอานนท์ นำภา นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข หรือนายภาณุพงศ์ จาดนอก

นอกจากนี้ ยังมีการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น การพาตัวผู้ต้องหาจากศาลไปยังเรือนจำก่อนที่ผู้ต้องหาจะลงนามรับทราบคำสั่งศาลในคำขออนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ขณะที่มีแนวโน้มว่านักศึกษาและประชาชนในส่วนที่เหลือจะถูกจับกุมตามหมายแล้วไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวในลักษณะเดียวกัน

การปฏิเสธคำขอปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหา โดยอ้างเหตุผลว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันถือว่าขัดหลักการพื้นฐานทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทั้งในระดับสากลและที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เพราะเป็นการตัดสินล่วงหน้าว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดทั้งที่กระบวนการไต่สวนพิจารณาคดียังไม่ได้เริ่ม

ไม่นับรวมปัญหาของมาตรา 112 ทั้งในส่วนของเนื้อหา การตีความ และการบังคับใช้ ที่หลายส่วนในสังคมได้รณรงค์ให้มีการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง การฟ้องร้องดำเนินคดีผู้ชุมนุมด้วยมาตรา 112 จึงเป็นส่วนหนึ่งของการอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือในการขจัดผู้เห็นต่างหรือศัตรูทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเข้มข้น ซึ่งจะส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยตกต่ำ และส่งผลให้ประเทศไทยถอยห่างออกจากความเป็นนิติรัฐ

เครือข่ายนักวิชาการ นักศึกษา ประชาชน รวมถึงผู้ต้องหาและญาติ จึงเดินทางมายังสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อให้ประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศที่ส่งเสริมประชาธิปไตย ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมถึงผดุงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐและนิติธรรม ได้ตระหนักในสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยเฉพาะที่เกิดขึ้นภายใต้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และสื่อสารไปยังรัฐบาลไทยให้ยุติการกระทำดังกล่าวในทันที

ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
เครือข่ายนักวิชาการ นักศึกษา และประชาชน
19 มีนาคม 2564

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image