‘ชัยธวัช’ เล็งหารือฝ่ายค้าน ขอเปิดประชุมวิสามัญ ผ่าน กม.ประชามติ-แก้ไข รธน.รายมาตรา

‘ชัยธวัช’ เล็งหารือฝ่ายค้าน ขอเปิดประชุมวิสามัญ ผ่าน กม.ประชามติ-แก้ไข รธน.รายมาตรา แนะพรรคร่วมพิจารณาตัวเอง ร่วมทางรัฐบาลต่อหรือไม่

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค ก.ก. ว่า เบื้องต้นแนวทางหลักคือ เมื่อมีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 โดยอ้างว่าจะต้องไปถามประชาชน ในฐานะผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญก่อน เมื่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …. ผ่านการพิจารณา เราจะผลักดันให้ทำประชามติให้ได้โดยเร็วที่สุด

นายชัยธวัชกล่าวว่า ส่วนเรื่องการแก้ไขรายมาตราก็สามารถทำควบคู่กันไปได้ แต่ต้องหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านก่อน เพราะการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา พรรค ก.ก.พรรคเดียวไม่สามารถเสนอได้

เมื่อถามว่า จะต้องเปิดประชุมสภา สมัยวิสามัญ เพื่อให้การดำเนินการเร็วขึ้นหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ความจริงเมื่อวันที่ 18 มีนาคม เราก็คาดหวังว่าจะสามารถผ่านวาระ 2 และวาระ 3 ได้ แล้วเราก็พยายามแปรญัตติในวาระที่ 2 ให้การทำประชามติเปิดกว้างมากที่สุด แต่กลับมีปัญหาในมาตรา 9 ที่ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …. เสียงข้างน้อย ซึ่งฝ่ายค้านได้ขอสงวนการแปรญัตติไว้ โดยเสียงส่วนใหญ่ได้โหวตเห็นชอบ ก่อนจะให้ยุติการประชุมไปเลย

Advertisement

อ่านข่าว : เลื่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติออกไป หลัง ‘กมธ.เสียงข้างน้อย’ พลิกชนะโหวตมาตรา 9

นายชัยธวัชกล่าวว่า เราจึงต้องเรียกร้องขอเปิดประชุมสภาวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ต่อ เพราะเป็นวาระเร่งด่วน หากยืดเวลาไปเรื่อยๆ ก็แสดงว่ามีเจตนาที่จะถ่วงเวลา ไม่ให้ทำประชามติ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะตอนที่คว่ำวาระ 3 ก็อ้างเรื่องการทำประชามติ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็อยู่ที่รัฐบาลว่ามีความจริงใจหรือไม่ เพราะมีส่วนสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้

เมื่อถามว่า กังวลถึงความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง เป็นเหตุให้รัฐบาลตัดสินใจยุบสภา เพื่อยุติความขัดแย้ง นายชัยธวัชกล่าวว่า ภายหลังมีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ หลายคนก็วิตกว่าจะผลักให้ปัญหาทางการเมืองเข้าสู่ทางตัน ทำให้คนจำนวนมากที่คาดหวังว่ารัฐสภาจะเป็นพื้นที่ที่ช่วยคลี่คลายปัญหาทางการเมือง และให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก็ดูเหมือนคนว่าจะหมดหวัง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีทางการเมือง

Advertisement

“เราก็ไม่อยากจะให้เกิดเหตุการณ์ที่บ้านเมืองเดินไปสู่ทางตัน ดังนั้น รัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาล จะต้องตอบคำถามสังคม และมีความรับผิดชอบทางการเมือง ทางหนึ่งในความรับผิดชอบที่สำคัญคือการจัดทำประชามติว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่าจะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 และเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้จัดทำรัฐธรรมนูญ ผ่านการตั้ง ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง

“ส่วนการยุบสภา หรือไม่ยุบสภา ก็คงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และดูเหมือนว่ารัฐบาลก็อาจจะยังมั่นใจว่าตัวเองยังสามารถครองอำนาจได้ ดังนั้น จึงไม่สนใจว่าคว่ำรัฐธรรมนูญ หรือเลือกดำเนินมาตรการรุนแรงกับผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง” นายชัยธวัชกล่าว

เมื่อถามว่า มองว่าการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ และยื้อกฎหมายประชามติ เป็นความพยายามของรัฐบาลเพื่อให้เกิดทางตัน และเลือกวิธีจัดการตามที่ตั้งใจหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชะล่าใจ คิดว่าตัวเองสามารถควบคุมอำนาจ และสถานการณ์ได้ จึงไม่สนใจว่าคนจะไม่พอใจการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ และไม่สนใจว่าจะดำเนินมาตรการกับผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างไม่ยุติธรรมหรือไม่

“หาก พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะไม่เดินหน้าต่อก็ต้องเป็นความรับผิดชอบของพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะร่วมรัฐบาลต่อหรือไม่ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.)” นายชัยธวัชกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image