นักวิชาการประเมิน 3ข้อเสนอแก้‘รธน.’ ยุบ‘ส.ว.-โละยุทธศาสตร์-ปฏิรูปศาล’

นักวิชาการประเมิน 3ข้อเสนอแก้‘รธน.’ ยุบ‘ส.ว.-โละยุทธศาสตร์-ปฏิรูปศาล’

นักวิชาการประเมิน
3ข้อเสนอแก้‘รธน.’
ยุบ‘ส.ว.-โละยุทธศาสตร์-ปฏิรูปศาล’

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการจากกรณีที่ภาคประชาชนเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 3 ประเด็นคือยุบ ส.ว. ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ
รวมทั้งองค์กรอิสระ


สมชัย ศรีสุทธิยากร
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง
อดีตรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์
และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ

หากพิจารณาจากเนื้อหาสาระ 3 ประเด็นดังกล่าว เชื่อว่าเป็นการเสนอที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนเพื่อให้ร่วมเห็นชอบจากประเด็นร้อน เป็นปัญหาที่เกิดจากการกระทำขององค์กรเหล่านี้ กระทั่งเห็นว่าทนไม่ไหวแล้ว จำเป็นต้องมีความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะ ส.ว.และศาลรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะมีประชาชนมากพอสมควรเข้ามาร่วมเสนอร่างแก้ไข

Advertisement

แต่การหวังผลจะเป็นจริงหรือไม่ถือว่ายังไกลเกินไป และเชื่อว่าหวังผลได้ยาก แต่การรณรงค์จะทำให้ประชาชนทราบและเข้าใจปัญหา ทำให้มีโอกาสเปลี่ยนแปลงในอนาคต หากมีโอกาส

ขณะที่การยุบ ส.ว.ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ แต่มีผลต่อโครงสร้างใหญ่ของฝ่ายนิติบัญญัติจากสภาคู่เป็นสภาเดียว และกลไกการตัดสินต้องใช้เสียง ส.ว.ร่วมเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 84 คน ในแง่ของความเป็นไปได้ยังยาก

สำหรับศาลรัฐธรรมนูญชัดเจนว่า หากจะทำจริง นอกจากจะฝ่าด่าน 84 ส.ว.ในวาระ 1 และวาระ 3 ยังต้องไปทำประชามติ ตามบทบัญญัติมาตรา 256(8) ก็จะเป็นปัญหามากขึ้น

Advertisement

ส่วนยุทธศาสตร์ชาติถือว่าประชาชนยังไม่มีอารมณ์ร่วมมากนัก แต่ ส.ว.ต้องกำกับดูแลยุทธศาสตร์ชาติ ถ้า ส.ว.เห็นว่าดีอยู่แล้วก็คงไม่ผ่านให้ในวาระ 1 และวาระ 2

ทั้ง 3 ประเด็นภาคประชาชนที่นำเสนอ ไม่ควรสนใจ ส.ส.หรือ ส.ว.จะเห็นด้วยหรือไม่ เหมือนกับร่างของไอลอว์ที่มีความก้าวหน้า แต่ไม่ผ่านในวาระ 1 ดังนั้น หากจะทำให้เห็นประโยชน์ของความต้องการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมก็ต้องวางเป้าหมายดำเนินการให้ชัดเจน แต่อย่าเพิ่งคิดว่าจะสำเร็จ

ข้อเสนอแก้ไขรายมาตราเหล่านี้ทุกฝ่ายสามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องทำในประเด็นที่ซ้ำกัน ส.ส.เข้าชื่อ 100 คนก็ทำได้ ส.ส.หรือ ส.ว.รวมแล้ว 150 คนก็ทำได้ หรือจะมาจากประชาชน 50,000 ชื่อ และ ครม.ก็ทำได้ แต่เมื่อเสนอเข้าสู่สภาแล้ว ต้องบรรจุวาระเพื่อลงมติ หากผ่านวาระ 1 ก็จะต้องตั้งกรรมาธิการมาศึกษารายละเอียด ก่อนทำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ต้องยอมรับว่ากระบวนการค่อนข้างซับซ้อน

การมองเส้นทางในอนาคตแต่ละฝ่ายอาจมองไม่ชัดเจน ต้องใช้เวลาอีกระยะเพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นถึงเส้นทางที่จะเดินไปข้างหน้า ขณะนี้มี 3 เส้นทางหลัก

เส้นทางแรกเสนอให้แก้ไขรายมาตรา ที่เป็นประเด็นร่วมและทำได้ง่าย แต่อาจไม่เกิดประโยชน์โดยรวมต่อสังคมมากนัก เป็นประโยชน์กับฝ่ายการเมืองมากกว่า โดยสรรหาประเด็นที่ ส.ส.และ ส.ว.เห็นด้วยหรือประชาชนอาจจะพอรับได้ เช่น การแก้บัตรเลือกตั้งจาก 1 ใบเป็น 2 ใบทั้ง ส.ส. ส.ว.และ กกต.เห็นด้วย

ประการต่อมาแก้ไขรายมาตรา เป็นประเด็นที่รุนแรง กระทบต่อโครงสร้าง หากแก้ได้จริงจะเป็นผลดีกับบ้านเมือง เช่น การยกเลิก ส.ว. ไม่ให้ ส.ว.โหวตลงมติเรื่องสำคัญ
ประการสุดท้ายเส้นทางที่ 3 จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หลังจากศาลชี้ว่ากระทำได้จากการทำประชามติก่อน หาก พ.ร.บ.ประชามติฉบับใหม่ผ่าน ก็จะเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมี ส.ส.ร.ได้

ยืนยันว่าทั้ง 3 แนวทางสามารถเดินไปพร้อมกันได้ ฝ่ายการเมืองทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย อาจจะเสนอแก้ไขรายมาตราที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายการเมือง ส่วนภาคประชาชนถ้าเห็นว่าต้องการรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวก็เสนอแก้ไขรายมาตรา หากหวังผลระยะยาวเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภาพรวมทั้งหมดก็ต้องใช้โอกาสในการทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่าจะทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่

ท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญต้องเปลี่ยนแปลง หากไม่เปลี่ยนก็คงอยู่ด้วยกันไม่ได้ เพราะที่ผ่านมามีปัญหาหลายจุด ประชาชนจะต้องเป็นฝ่ายกดดันให้ฝ่ายต่างๆ เดินหน้า เพราะโดยธรรมชาติผู้มีอำนาจจะไม่ทำอะไรให้ผูกมัดตัวเอง

โคทม อารียา
ประธานอำนวยการภาคีรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
มหาวิทยาลัยมหิดล

แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ กระแสสังคมควรจะต้องเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจปล่อยอำนาจออกมาจากมือบ้าง เพราะถึงที่สุดหากยังหวงอำนาจไว้ การเสนอความเห็นและแนวทางปฏิบัติ ก็จะยังไม่ผ่านความเห็นจาก ส.ว. โดยเฉพาะการเสนอแนวทางที่มีการหักดิบ หรือลดทอนอำนาจของ ส.ว.

สำหรับการทำรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องถาม ครม.ว่าคิดเห็นอย่างไร หาก ครม.ยังไม่ให้ความสนใจ ผู้เกี่ยวข้องก็ต้องหาทางแก้ไขรายมาตรา และคงเป็นเรื่องยากหากเริ่มต้นการเสนอแก้ไขเพื่อตัดอำนาจ ส.ว.ไม่ให้ลงมติแก้ไข หรือจะลดอำนาจ ส.ว.บางประการ หรือหากจะเสนอให้ยุบทิ้งก็ยากมาก แม้ว่าบางฝ่ายจะมีความเบื่อหน่ายพอสมควร แต่สุดท้ายข้อเสนอทั้งหมดต้องรอให้ผู้มีอำนาจชั่งใจและพิจารณาวางเกม เพราะหากปล่อยทิ้งไว้แบบนี้ก็จะส่งผลกับการเติมเชื้อให้เกิดความขัดแย้งจากการเมืองนอกสภา

ขณะที่รัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจพูดถึงเรื่องการปรองดอง รัฐสภาตั้งกรรมการสมานฉันท์ แต่ในความเป็นจริงจะเกิดความปรองดองได้อย่างไร หากผู้มีอำนาจไม่ปล่อยมือให้การใช้อำนาจมีความสมดุล

ดังนั้นพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล ควรจะต่อรองกับผู้มีอำนาจที่ควบคุม ส.ว.ได้หรือไม่ และต้องมีข้อสรุปว่าจะแก้ไขรายมาตราหรือจะทำใหม่ทั้งฉบับ ผู้มีอำนาจต้องพูดให้ชัด เพื่อไม่ให้แนวทางที่วางไว้ต้องถูกล้มกระดานอีก

ขณะนี้สังคมมีความเห็นที่หลากหลายจากการระบายอารมณ์ความรู้สึก เพื่อกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของอำนาจ ประชาชนคงจะไม่ปล่อยให้บ้านเมืองมีแต่พวกศรีธนญชัยออกมาใช้โวหารหลอกล่อแล้วยังทำเฉย เพราะฉะนั้นการร่วมกันเสนอความเห็นว่าสิ่งที่สมาชิกรัฐสภาทำไว้ประชาชนไม่ชอบ เป็นเรื่องที่ถูกต้องทั้งหลักการและเหตุผล

ส่วนตัวเห็นว่า ส.ว.ยังมีประโยชน์ ทำหน้าที่ให้เหมาะสมกับโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตย ถ้าเขียนให้ดี หาก ส.ว.เป็นตัวแทนของภูมิภาค ตัวแทนของภาคประชาสังคม มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย คัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และ ส.ว.ต้องไม่ทำหน้าที่อื่นที่ฟุ่มเฟือย แต่การเสนอยุบ ส.ว.ยืนยันว่าเป็นไปได้ยากมาก

สำหรับการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ ก็ควรนำไปพิจารณาให้รอบคอบแม้ว่าดูแล้วจะไม่ไหวจริงๆ เนื่องจากไม่มีใครสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ หากจะเสนอให้ยุบ ก็จะมีตัวแทนของฝ่ายผู้มีอำนาจออกมาถามว่าศาลมีความผิดอะไร หรืออาจจะโยงไปถึงเรื่องอื่นให้บานปลาย กระทบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยภาพรวมโดยไม่จำเป็น

ขณะที่การทำยุทธศาสตร์ชาติมีบางฝ่ายพยาพยามพูดถึงข้อดี แต่กระแสจุดไม่ติด แม้ว่าฝ่ายข้าราชการจะขับเคลื่อนไปบ้าง ต้องยอมรับว่าหากรัฐบาลนี้ไม่ได้เป็นฝ่ายเดียวกับ ส.ว.ก็คงอยู่ไม่เป็นสุขมากนัก เพราะอาจโดนกล่าวหาว่ารัฐบาลไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจากวางเป้าหมายเรื่องนี้ไว้สูงมาก แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นสิ่งที่ทำให้เห็นชัดเจน และประเด็นนี้ ส.ว.และ ส.ส. น่าจะเห็นพ้องต้องกันมากที่สุดที่ต้องการให้แก้ไข

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การเสนอแก้ไขทั้ง 3 ประเด็นเป็นรายมาตรา ในทางปฏิบัติจริงถือเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากกระบวนการแก้ไขต้องอาศัยเสียงของ ส.ว.เพื่อลงมติ หากจะเสนอยกเลิก ส.ว.คงเป็นเรื่องยากที่ ส.ว.จะยกมือปิดสวิตช์ตัวเอง แม้ว่าในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 1 จะมี ส.ว.บางรายพูดถึงการปิดสวิตช์
ส่วนการเสนอแก้ไขที่มาของศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ ก็ต้องไปทำประชามติก่อน ขณะที่การแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติ หากแก้ไขแล้วจะต้องไปยกเลิก พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็จะมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ผู้เสนอ 3 แนวทางนี้คงไม่ได้หวังผลในการแก้ไขจริง แต่ต้องการเสนอในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อทำให้เกิดพลังกดดันทางสังคม นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง รวมทั้งสะท้อนความเห็นไปถึงองค์กรเหล่านี้ หาก 250 ส.ว.ยังอยู่ ศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ที่มาจากการเสนอของ คสช. ยังปฏิบัติหน้าที่ โอกาสในการแก้ไขเป็นเรื่องยาก เพราะมีกลไกหลายอย่างล็อกไว้

ทั้ง 3 ประเด็น ส.ส.บางส่วนอาจจะเห็นด้วยแต่ไม่เอกฉันท์ ส่วน ส.ว.จะค้านแน่นอน เป็นภาพการต่อสู้ระหว่างฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและฝ่ายที่มาจากการสรรหา จะได้เห็นพรรคพลังประชารัฐและ ส.ว.จับมือกัน

หลังจากนี้อาจได้เห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับประชาชนมากนัก แต่จะแก้ไขในเชิงเทคนิคเพื่อให้เป็นประโยชน์ของพรรคการเมือง ของนักการเมือง เช่นแก้ไขมาตราที่เกี่ยวกับระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม แก้ไขเรื่องการทำไพรมารีโหวต โอกาสผ่านจะมีสูงมากที่ ส.ว.จะผ่านให้ เพราะที่ผ่านมาทุกพรรคการเมืองได้รับผลกระทบทั้งหมด และเรื่องนี้ไม่กระทบกับอำนาจของ ส.ว.

สำหรับปลายทางของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยู่ที่ผู้มีอำนาจจะมีความเห็นอย่างไร แม้ว่าในหลักการกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ในความเป็นจริงจะต้องได้รับไฟเขียวจากผู้มีอำนาจ หรือหากจะมีแรงกดดันทางสังคมมากขึ้น มีโอกาสที่จะขับเคลื่อนในเชิงยุทธศาสตร์ก็ยังมีความเป็นไปได้

แต่ต้องยอมรับว่าการมีแรงกดดันทางสังคมร่วมกัน จำเป็นต้องมีจุดเปลี่ยน จากปัจจัยหรือสถานการณ์ต่างๆ เกื้อหนุน เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2539 ก่อนที่จะประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 แต่วันนี้เรามีจุดเปลี่ยนแบบนั้นหรือไม่ แม้ว่าจะมีโควิดเข้ามา แต่ระยะยาวอาจมีจุดเปลี่ยนของผู้คนสื่อไปยังผู้มีอำนาจในรัฐบาล แม้ว่าระยะสั้นจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การรณรงค์ให้แก้ไขใน 3 ประเด็นก็คงจะเกิดขึ้น แต่ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร เพราะวันนี้
พลังทางสังคมโดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของมวลชนอ่อนแรงลงมาก จากหลายเหตุปัจจัย

แต่อุดมการณ์ แนวคิดของมวลชนไม่ได้หายไป เนื่องจากการมีส่วนร่วมการเมืองยังมีช่องทางหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้ตัดสินชี้วัดจากจำนวนมวลชนที่เข้าร่วมเท่านั้นที่เป็นพลังในการเคลื่อนไหว เพราะวันนี้ในสังคมโซเชียลมีเดีย มีทั้งคลับเฮาส์ และอีกหลายปรากฏการณ์ที่มวลชนพยายามไปสร้างพื้นที่สาธารณะขึ้นมา เชื่อว่าในระยะยาวรัฐธรรมนูญ 2560 หรือโครงสร้างทางการเมืองจะต้องมีการปรับเปลี่ยน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image