ดุเดือด! ดีเบตไชยันต์ vs ณัฐพล ประเด็นบทบาทกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ในรปห.2490

กรณีนายไชยันต์ ไชยพร นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวหา นายณัฐพล ใจจริง นักวิชาการรัฐศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก หัวข้อ การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา ต่อมา ถูกนายไชยันต์ กล่าวหา ว่ามีการบิดเบือนข้อมูลที่ใช้ในการอ้างอิง 1 จุด โดยนายไชยันต์ส่งหนังสือประท้วงไปยังหน่วยงานต่างๆ ต่อมามีการแจ้งความดำเนินคดีกับนายณัฐพลจากทายาทราชสกุลหนึ่งอ้างว่าได้รับความเสียหาย โดยอ้างอิงข้อมูลจากนายไชยันต์  จนกระทั่งเป็นข่าวดัง

ด้าน นายณัฐพล ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจง ยอมรับว่าอ่านผิดพลาดหนึ่งจุด แสดงเจตนารมณ์แก้ไขแล้ว แต่มหาวิทยาลัยไม่สามารถแก้ไขวิทยานิพนธ์ที่ผ่านแล้วได้ จึงระงับเผยแพร่ ยืนยัน จุดที่ผิดหนึ่งจุด ไม่ส่งผลใดๆต่อข้อถกเถียงหลักและข้อเสนอวิทยานิพนธ์ พร้อมระบุว่า การร้องให้ลงโทษใดๆต่อตนเอง ไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง รวมทั้งตอบโต้ ประเด็นที่นายไชยันต์ กล่าวหาภายหลัง จุดผิด อีก 31 จุด ยืนยันไม่ผิด เป็นความบกพร่องของผู้กล่าวหาเอง ขอยืนยันตีความตามเดิม

ฟ้อง ‘ณัฐพล ใจจริง-ฟ้าเดียวกัน’ 50 ล้าน เขียนธีสิส ป.เอก ทำราชสกุลรังสิตเสียหาย
“ณัฐพล”แจงปมวิทยานิพนธ์ป.เอก ยัน การเรียกร้องให้ลงโทษใดๆ ไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง
สนพ.ฟ้าเดียวกัน โต้ ไชยันต์ กล่าวหา ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’ ผลงานที่กุเรื่อง

ล่าสุดนายไชยันต์ เขียนบทความ แจงปัญหาที่ผิดพลาดระบุว่า

Advertisement

ไชยันต์ ไชยพร ถึง ณัฐพล ใจจริง

เมื่อขอมา ก็จัดให้ ไล่กันไปทีละจุด

ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” ของณัฐพล ใจจริง ที่สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2552 และเป็นวิทยานิพนธ์ที่ได้รับการประเมินผลในระดับดีมาก  ในหน้า 63 ของวิทยานิพนธ์ ณัฐพลเขียนว่า

“แต่การรัฐประหารครั้งนี้ (พ.ศ. 2490/ผู้เขียน) ไม่อาจสำเร็จได้ หากปราศจากสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯและทรงมีบทบาทในการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน”

Advertisement

ณัฐพลรู้ได้อย่างไรว่า กรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงมีบทบาทในการรับรองรัฐประหารอย่างแข็งขัน ?

ณัฐพลอ้างว่า เขาได้ข้อมูลจากหน้า 210 ในหนังสือของ Edwin Stanton ชื่อ Brief Authority: Excursion of a Common Man in an Common World ที่ตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2500

ทีนี้ เมื่อไปดูตัวเอกสารอ้างอิงของ Stanton หน้า 210 ที่ณัฐพลใช้อ้างในการเขียนให้คนอ่านเข้าใจว่า “กรมพระยาชัยนาทเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯและทรงมีบทบาทในการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน”

พบว่าในหนังสือ Brief Authority: Excursion of a Common Man in an Common World ของ Stanton หน้า 210 มีข้อความดังนี้:
: “Later the Prince told me it seemed to be the best interest of the country to acquiesce in what had been done in order to avoid bloodshed. ‘As you know,’ he told me, ‘bloodshed is abhorrent to us as Buddhists.’ ”

ข้อความดังกล่าวแปลเป็นไทยได้ว่า

“ภายหลัง the Prince (กรมขุนชัยนาทฯ) กล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า มันดูจะเป็นผลประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับประเทศที่จะยอมรับในสิ่งที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด ‘อย่างที่รู้’ พระองค์กล่าวแก่ข้าพเจ้า ‘การนองเลือดเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจสำหรับเราในฐานะชาวพุทธ”

จากข้อความของ Stanton คำถามคือ มีข้อความหรือคำอะไรที่สื่อได้ว่า กรมขุนชัยนาทฯทรงมีบทบาทในการรับรองรัฐประหารอย่างแข็งขัน ?

เพราะจากข้อความของ Stanton กล่าวได้แต่เพียงว่า พระองค์ทรงยอมรับรัฐประหารที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วได้ด้วยเหตุผลที่ว่า การรัฐประหารที่เกิดขึ้นไม่มีการเสียเลือดเนื้อ

และในหน้าเดียวกันนั้นคือหน้า 63 ของวิทยานิพนธ์ ณัฐพลยังเขียนต่อไปอีกว่า

“ขณะนั้นกรมพระยาชัยนาทนเรนทรทรงเป็นเพียงหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 แต่ทรงลงนามพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว”

และข้อมูลที่ณัฐพลใช้ในการเขียนให้คนอ่านเข้าใจว่า “กรมพระยาชัยนาทเรนทรงเป็นเพียงหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 แต่ทรงลงนามพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” คือ หน้า 100 ของหนังสือของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของณัฐพลเอง

หนังสือของ สุธาชัย เล่มนี้ชื่อ แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2491-2500) ตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2550 และถ้าเปิดไปที่หน้า 100 ของหนังสือ แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2491-2500) จะพบข้อความดังนี้:

“อนึ่ง ม.จ. จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ บุตรเขยของ น.อ.กาจ เก่งระดมยิง ก็มีส่วนทำให้ความสำเร็จในการัฐประหารสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ด้วยการเป็นตัวกลางนำ น.อ. กาจและ พล ท. ถนอม กิตติขจร ไปพบกับ กรมขุนชัยนาทเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่วังถนนวิทยุในเวลา ๑.๐๐ น. ของวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เพื่อขอให้ลงนามรัฐธรรมนูญชั่วคราว จากนั้นต่อมา ม.จ. จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ ก็ได้รับแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ให้เป็นตัวแทนเดินทางไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ด้วย”

จากข้อความข้างต้น มีอะไรที่สื่อได้ว่า กรมพระยาชัยนาทนเรนทรทรงลงนามพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็ว ??

ต่อมา ณัฐพล ใจจริง และ ธนาพล อิ๋วสกุล สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน อ้างว่าได้มีการทำการแก้ไขปรับปรุงวิทยานิพนธ์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และนำวิทยานิพนธ์ที่แก้ไขปรับปรุงให้สมบูรณ์นี้มาตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี”

ในหน้า 60 ของหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” ณัฐพลและฟ้าเดียวกันได้ตัดข้อความที่กล่าวว่า “กรมพระยาชัยนาทนเรนทรทรงเป็นเพียงหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 แต่ทรงลงนามพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” ที่เคยปรากฎอยู่ในวิทยานิพนธ์ออกไป

แต่ยังคงข้อความว่า “รัฐประหารครั้งนี้ไม่อาจสำเร็จได้หากปราศจากบทบาทของกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯ ซึ่งมีบทบาทในการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน”

และยังคงอ้างข้อมูลหน้า 210 ของหนังสือ Brief Authority: Excursion of a Common Man in an Common World ของ Stanton อยู่

ซึ่งอย่างที่ชี้ให้เห็นไปแล้วว่า ในหน้า 210 ของหนังสือดังกล่าว ไม่มีข้อความใดเลยที่จะสื่อว่า กรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯ มีบทบาทในการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน

 

ด้าน ดร.ณัฐพล ใจจริง  ตอบกลับ ไชยันต์ ระบุว่า

ตอบไชยันต์ ไชยพร : เรื่องวิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์

ด้วยเหตุที่ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร เขียนข้อความพาดพิงถึงผลงานของผมคือวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” และหนังสือขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี ซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านทาง social media (ล่าสุด ดูการกล่าวหาผมใน fb ของศ.ดร.ไชยันต์ https://www.facebook.com/chaiyan.chaiyaporn/posts/4045215122198035) โดยที่เขามิเคยถกเถียงในประเด็นหลักของผลงานดังกล่าว แต่โจมตีซ้ำๆ ในเรื่องการอ้างอิงหลักฐาน ผมจึงขอเขียนชี้แจงถึงวิธีวิทยาที่ใช้ในการเขียนวิทยานิพนธ์ให้สังคมทราบ

วิธีวิทยา: การตีความทางประวัติศาสตร์

ขอบเขตวิทยานิพนธ์ของผมเป็นการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ และหลักฐานที่ใช้เป็นเอกสารทั้งจดหมายเหตุและสิ่งพิมพ์ต่างๆ วิธีวิทยาที่ผมใช้คือ การตีความทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นวิธีการที่นักประวัติศาสตร์ใช้กันทั่วไป วิธีการตีความนี้เป็นกระบวนการวิเคราะห์ ประเมิน และพรรณนาข้อมูลจากหลักฐาน โดยต้องคำนึงถึงบริบททั้งก่อนและหลัง โลกทัศน์ ภูมิหลัง ตลอดจนเอกสารแวดล้อมเพื่อสร้างคำอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต

ดังนั้น การตีความประวัติศาสตร์จะต้องไม่นำข้อความใดข้อความหนึ่งแยกโดดๆ ออกจากบริบท เวลา สถานที่ และมนุษย์ผู้กระทำซึ่งเลือกที่จะพูดหรือแสดงพฤติกรรมที่ทำให้ตนได้ประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ ข้อความหนึ่งๆ ไม่ว่าของผู้กระทำเองหรือผู้อื่นพาดพิงถึง ไม่ว่าเพื่อยืนยันหรือปฏิเสธการกระทำหนึ่งๆ ย่อมไม่ใช้เป็นหลักฐานอย่างทื่อๆ ตรงๆ ได้เสมอไป บางครั้งข้อความเชิงบ่ายเบี่ยงอำพรางอาจชี้ถึงความจริงที่ไม่ได้พูดออกมาได้ดีกว่าเสียอีก ซึ่งต้องผ่านการตีความโดยพิจารณาบริบทของข้อความนั้นควบคู่กับหลักฐานประกอบอื่นๆ อย่างมีวิจารณญาณ (critical) เสมอ

นอกจากนี้ก็ต้องไม่ลืมว่านักวิชาการแต่ละคนล้วนมีภูมิหลังโลกทัศน์ที่ไม่เหมือนกัน จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาในทางวิชาการที่เอกสารชิ้นหนึ่งย่อมสามารถตีความได้มากกว่าหนึ่งความหมาย ซึ่งสามารถถกเถียงกันในทางวิชาการได้เป็นปกติ นักวิชาการย่อมทราบข้อนี้ดี จึงไม่ถือเอาการตีความที่ต่างกันเป็นความผิดทางกฎระเบียบหรือกฎหมายบ้านเมือง เพราะเป็นการปิดกั้นทำลายการแสวงหาความรู้ เป็นการกระทำที่โลกวิชาการไม่ยอมรับ

การตีความบทบาทกรมพระยาชัยนาทฯ: ภูมิหลังของตัวแสดงทางประวัติศาสตร์ในบริบทแวดล้อม

การตีความบทบาทสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ในเหตุการณ์รัฐประหาร 2490 นั้น จึงต้องคำนึงถึงบริบทและภูมิหลังของตัวแสดงในประวัติศาสตร์ด้วย ดังต่อไปนี้

1. ภูมิหลังที่ปรากฏใน คำพิพากษาศาลพิเศษ เรื่องกบฏ 2482 ที่ศาลตัดสินลงโทษกรมพระยาชัยนาทฯ ฐานก่อกบฏ ทำให้ทรงถูกถอดพระอิสริยศ ถูกจองจำ ต่อมาได้รับการอภัยโทษ

2. ภูมิหลังความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสกุลมหิดลมาอย่างยาวนาน

3. เหตุการณ์ 9 มิถุนายน 2489 อันเป็นวันสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

4. กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ตัวแทนจากราชสำนัก ได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในสองของคณะผู้สำเร็จราชการฯ เมื่อ 16 มิถุนายน 2489 คู่กับพระยามานวราชเสวี ตัวแทนของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

5. รายงานสถานทูตสหรัฐฯ ระบุความคืบหน้าในการสอบสวนคดีสวรรคตภายใต้รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ว่าสามารถระบุตัวบุคคลได้ แต่ในที่นี้ผมไม่สามารถขยายความประเด็นนี้ได้มากกว่านี้ เพราะอาจมีผู้ให้ร้ายด้วยกฎหมายอื่นอีก ผมจึงชี้ให้เห็นถึงบริบทก่อนการรัฐประหารได้เพียงเท่านี้

6. การรัฐประหารในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490

7. รัฐธรรมนูญ 2490 ที่เกิดขึ้นจากรัฐประหาร ประกาศใช้ในวันที่ 9 พฤศจิกายน หรือวันรุ่งขึ้นหลังจากการรัฐประหาร มีบทบัญญัติเพิ่มพระราชอำนาจให้สถาบันพระมหากษัตริย์หลายประการ เช่น ถวายพระราชอำนาจในการตั้งวุฒิสภา (มาตรา 33) ถวายอำนาจให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจเพิกถอนรัฐมนตรีเฉพาะตัวได้ด้วยพระบรมราชโองการ (79) การรื้อฟื้นอภิรัฐมนตรี (หมวดที่ 2) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของเจ้านายเมื่อครั้งระบอบเก่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น

8. ต่อมา กรมพระยาชัยนาทนเรนทรทรงเป็นประธานคณะอภิรัฐมนตรี ทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2490 เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ในวันที่ 9 พฤศจิกายน

การตีความประวัติศาสตร์ที่ดีต้องนำบริบทมาพิจารณาประกอบการตีความด้วย หาใช่ตัดข้อความออกจากบริบทหรือดึงเพียงข้อความที่ถูกใจออกมาอ้างโดดๆ ด้วยเหตุนี้ผมจึงตีความข้อความที่กรมพระยาชัยนาทนเรนทรกล่าวอธิบายการกระทำของตนให้กับสแตนตัน ทูตสหรัฐฯ ในหนังสือ Brief Authority: Excursion of Common man in an Uncommon World ที่ว่า “Later the Prince Regent told me it seemed to be in the best interest of the country to acquiesce in what had been done in order to avoid bloodshed.“ As you know, ”he told me, “bloodshed is abhorrent to us as Buddhist” (Stanton 1956, 209-210) ประกอบกับบริบทข้างต้นและหลักฐานแวดล้อมอื่นๆ เช่น

ในหนังสือ แผนชิงชาติไทย ของรศ.ดร สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เขียนถึงว่า เมื่อเกิดการรัฐประหาร 2490 แล้ว “อนึ่งหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ บุตรเขยของ น.อ.กาจ เก่งระดมยิง ก็มีส่วนทำให้ความสำเร็จในการรัฐประหารสมบูรณ์มากขึ้น ด้วยการเป็นตัวกลางนำ น.อ.กาจและพล.ท.ถนอม กิตติขจร ไปพบกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่วังถนนวิทยุเวลา 01.00 น. ของวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เพื่อขอให้ลงนามในรัฐธรรมนูญชั่วคราว และต่อมา ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ ก็ได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ให้เป็นตัวแทนเดินทางไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ 14 พฤศจิกายนด้วย” (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ 2550, 100)

นั่นหมายความว่า ในเวลากลางดึกของคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ครั้นทหารเคลื่อนรถถังออกทำการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์แล้ว เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังการรัฐประหารเริ่มต้นขึ้น ก็มีบุคคลระดับเจ้านายพาแกนนำของคณะรัฐประหาร คือ หลวงกาจสงคราม และถนอม กิตติขจร เข้าเฝ้ากรมพระยาชัยนาทฯ ที่วังถนนวิทยุ ณ เวลาตี 1 ของวันที่ 9 พฤศจิกายน เพื่อขอให้ทรงลงนามใช้รัฐธรรมนูญใหม่ การกระทำดังกล่าวจึงมีผลทำให้การรัฐประหารด้วยกำลังทางกายภาพของคณะรัฐประหารสำเร็จอย่างสมบูรณ์ โดยรัฐธรรมนูญ 2489 ที่ใช้อยู่แต่เดิมสิ้นสุดลง และสภาพของความเป็นรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์สิ้นสภาพลงในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง

หากใครจะตีความว่านี่ไม่ใช่เวลาอันรวดเร็วและเห็นว่าความช้าเร็วเป็นประเด็นร้ายแรง ก็พึงใช้การถกเถียงอภิปรายตามจรรยานักวิชาการ

นอกจากนี้ นักวิชาการยังตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เนื่องจากในเวลานั้นคณะผู้สำเร็จราชการฯ มีสถานะเป็นคณะบุคคล ประกอบไปด้วยบุคคล 2 คน คือ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร และพระยามานวราชเสวี ต้องลงนามทั้ง 2 คนจึงจะเท่ากับเป็นพระปรมาภิไธยที่สมบูรณ์ แต่ “ความจริงแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาเช่นกัน เพราะการประกาศใช้ในวันที่ ๙ พฤศจิกายนนั้น มีกรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น” (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, 2550, 109)

ดังนั้น ข้อความที่กรมพระยาชัยนาทฯ ทรงกล่าวกับสแตนตัน ทูตสหรัฐฯ ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารจบสิ้นลงแล้วนั้น ผมตีความว่า กรมพระยาชัยนาทฯ ผู้ทรงผ่านประสบการณ์ในประเทศตะวันตกและอยู่ในสถานะอีลีทนั้น ท่านย่อมต้องระมัดระวังการสนทนากับทูต ท่านย่อมไม่กล่าวตรงๆ ว่า ท่านสนับสนุนการใช้กำลังทางการทหารในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ดังนั้น ท่านจึง “กล่าวโดยนัย” เพียงว่ามิได้ต่อต้านการรัฐประหารดังกล่าว ซึ่งทูตสหรัฐฯ รับฟังแล้วนำมาบันทึกไว้เป็นข้อความว่า

“Later the Prince Regent told me it seemed to be in the best interest of the country to acquiesce in what had been done in order to avoid bloodshed. “As you know,” he told me, “bloodshed is abhorrent to us as Buddhist” (Stanton,1956, 209-210)

กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ มีใครบ้างที่จะกล่าวว่าตนเองให้การสนับสนุนการรัฐประหาร ซึ่งเป็นการกระทำที่นอกกฎหมาย อันไม่ได้รับการยอมรับจากอารยประเทศทั่วโลกออกไปอย่างชัดแจ้ง

นอกจากนี้ ทูตสแตนตันยังได้บันทึกถึงความเห็นของทูตจากประเทศอารยะเมื่อเห็นการรัฐประหารในไทยครั้งนั้นว่า ทูตอังกฤษและตัวเขาประเมินว่า สิ่งที่เกิดในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ทั้งการรัฐประหารขับไล่รัฐบาลพลเรือนและกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2490 เป็นการหมุนเวลาถอยหลัง (“Neither Thompson nor I liked this overthrow of the Thamrong Government by force; the flouting of the constitutional processes simply set back the hands of the clock” [Stanton 1956, 209])

นอกจากนี้ ภายหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงมีความรู้สึกอย่างไรนั้น สามารถเข้าใจได้จากข้อเขียน เช่น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (เป็นผู้สำเร็จราชการฯ ต่อจากกรมพระยาชัยนาทนเรนทร) ทรงให้ความหมายถึงสภาพการณ์หลังรัฐประหาร 2490 ว่าเป็นประหนึ่ง “วันใหม่ของชาติ” (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, เจ็ดรอบอายุกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, พระนคร: พระจันทร์, 2512, น. 138)

ในทางตรงกันข้ามกับเจ้านายทั้งสองพระองค์นี้ เจ้านายบางพระองค์ทรงมีความแน่วแน่ในการต่อต้านรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 อย่างชัดแจ้ง ดังเช่นหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระราชินีในรัชกาลที่ 7 ขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งทูตไทยประจำสหประชาชาติ เมื่อท่านทราบถึงการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สิ่งที่ท่านตัดสินใจทำคือ การแสดงการต่อต้านการรัฐประหารด้วยการลาออกจากตำแหน่ง ดังธิดาของท่านเล่าถึงความแน่วแน่ในการต่อต้านรัฐประหารของบิดาไว้ว่า

“พฤศจิกายน 2490 เกิดรัฐประหารรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ทหารยึดอำนาจ อาจารย์ปรีดีต้องลี้ภัยออกไปต่างประเทศ ขณะนั้นพ่อร่วมอยู่ในคณะผู้แทนไทยในสหประชาชาติ พ่อประกาศว่าสัมพันธมิตรจะไม่มีวันรับรองรัฐบาลรัฐประหารนี้ แต่แล้ว 2–3 วันต่อมา อังกฤษและอเมริกาก็รับรองรัฐบาลรัฐประหารอันมีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเต็มที่ พ่อในฐานะตัวแทนของรัฐบาลประชาธิปไตยก็เป็นอันหมดหน้าที่ หมดอนาคตที่ได้ทำงานรับใช้ประเทศชาติอีกต่อไปโดยชอบธรรม เช่นเดียวกับอาจารย์ปรีดี เมื่ออายุเพียง 47 ปี” (บทสัมภาษณ์ ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน ใน https://www.the101.world/saisawasdee-interview/)

ด้วยบริบทและเอกสารแวดล้อมข้างต้น ผมจึงตีความบทบาทกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ตามที่ปรากฏในวิทยานิพนธ์หน้า 63 และในหนังสือขุนศึก หน้า 60 นั่นเอง ซึ่งแม้ผมอ้างอิงเอกสารเพียงชิ้นเดียวหรือสองชิ้น แต่งานเขียนไม่กี่บรรทัดนั้นเกิดจากการประมวลความรู้จากเอกสารแวดล้อมต่างๆ มากมาย ผมคงไม่สามารถเขียนหนังสือให้คนอ่านเข้าใจได้ หากผมตัดแปะคำพูดจากหลักฐานชั้นต้นมาเรียงต่อๆ กันโดยไม่ผ่านการตีความหรือสังเคราะห์ประมวลข้อมูลก่อนที่จะถ่ายทอดออกมา ที่จริงแล้วไม่มีนักประวัติศาสตร์คนไหนในโลกเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์ด้วยวิธีต่อข้อความเช่นนั้น

สุดท้ายนี้ ผมจึงอยากให้ ศ.ดร.ไชยันต์ แสดงหลักฐานสนับสนุนการตีความของตนที่ต่างจากผมเกี่ยวกับบทบาทของกรมพระยาชัยนาทนเรนทรในการรัฐประหาร 2490 ถ้าการตีความของอาจารย์น่ารับฟัง ก็จะเกิดประโยชน์แก่วงวิชาการประวัติศาสตร์ไทยและแก่สาธารณชนต่อไป แต่หากว่าการตีความของอาจารย์จะผลิตซ้ำความเชื่อเดิมๆ ผมก็จะไม่มีหาทางลงโทษหรือเอาเรื่องทางกฎหมายกับอาจารย์อย่างเด็ดขาด เพราะมิใช่จริยธรรมของนักวิชาการพึงกระทำต่อความรู้ที่แตกต่างจากที่ตนเชื่อ และไม่ควรเป็นวิสัยที่วิญญูชนกระทำต่อความรู้ที่ไม่พึงใจตน

ขอแสดงความนับถือ
ณัฐพล ใจจริง

*หมายเหตุ
ส่วน 30 จุดในวิทยานิพนธ์ที่อาจารย์ไชยันต์กล่าวหาว่าผมจงใจ “กุ” นั้น บางจุดเป็นการตีความที่แตกต่างกัน หรือเป็นเพราะอาจารย์มิได้นำบริบทเข้ามาตีความด้วยดังที่ผมอธิบายไปข้างต้น แต่กลับโจมตีว่าผมอ้างผิดทำนองเดียวกับจุดนี้ ทั้งที่หลายจุดเป็นความผิดพลาดของผู้กล่าวหาเอง เช่น ใช้เอกสารที่ไม่ตรงวัน เดือน ปี และแผ่น ใช้เอกสารผิดชิ้น ใช้เอกสารไม่ครบถ้วนตามที่ผมระบุในวิทยานิพนธ์ ดังที่ผมได้เคยชี้แจงต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image