กลเกม แยบยล จาก วอร์รูม การเมือง กระชับ อำนาจ

กลเกม แยบยล จาก วอร์รูม การเมือง กระชับ อำนาจ

ทําไมต้องประเมินปฏิบัติการเมื่อคืนวันที่ 17 มีนาคม ต่อร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านวาระ 2 มาแล้วค่อนข้างสูง

ด้านหลัก คือ ดูบทบาท “พลังประชารัฐ”

ขณะเดียวกัน ที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาดก็คือ บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ ประสานเข้ากับบทบาทของพรรคภูมิใจไทย

Advertisement

2 พรรคนี้ไม่รู้ว่า “พลังประชารัฐ” คิดอย่างไร

เพราะว่าบทบาทของพรรคพลังประชารัฐอันประสานเข้ากับ 250 ส.ว.ก็คือ การตีความคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า

พิจารณาวาระ 3 ไม่ได้

Advertisement

เบื้องหน้าการประสาน “พลัง” ระหว่างนายไพบูลย์ นิติตะวัน กับ นายสมชาย แสวงการ ในกลยุทธ์เบื้องต้นนี้พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยอ่านออกหรือไม่

ตอบได้เลยว่า ไม่ GET

ความพยายามของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่พยายามเสนอเป็น “ญัตติ” เพื่อสอบถามไปยังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งเห็นได้ชัด

ชัดว่าไม่ GET

ด้วยความเป็นนักการเมืองที่ยึดกุมหลักการ “ประชาธิปไตยสุจริต” จึงได้เสนอญัตติ เป้าหมายก็ชัดเจนก็คือ ซื้อเวลาให้กับร่างรัฐธรรมนูญออกไปอีก

เหมือนกับที่ “ไพบูลย์+สมชาย” เคยทำ

คำอธิบายของความไม่ GET ต่อกระบวนท่าของ “ไพบูลย์+สมชาย” ที่ออกมาเล่นเกมหลอกล่อในเบื้องต้นเช่นนั้นเอง

ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งพรรคภูมิใจไทยเลยเป๋

พลันที่ประสบเข้ากับยุทธการรวบรัดสะบัดพลประกาศเดินหน้าให้ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่วาระ 3 จึงเกิดความตกใจ

กลายเป็น “ไม่ทันเกม” ตามบทสรุปจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล

ท่วงทำนองของ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยที่เปิดปฏิบัติการ “วอล์กเอาต์”เดินตาม นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคจึงได้บังเกิด

นี่คล้ายกับปฏิบัติการ 26 ส.ส.พรรคเพื่อไทย

ไม่ว่าในที่สุด นายชาดา ไทยเศรษฐ์ จะออกมาให้เหตุผลอย่างไร ไม่ว่าในที่สุด นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร จะออกมาทำเสียงหล่อแบบไหน

ในที่สุด ก็คือไม่มีส่วนร่วมกับ “วาระ 3”

หากเป็นการเมืองในยุคก่อนรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 หากเป็นการเมืองในยุคของ “ปลาไหลใส่สเก๊ต” นี่คือลักษณ์ของนักการเมืองผู้เจนจบ

เป็นอาการ “พลิ้ว” ของผู้มากด้วย “ประสบการณ์”

คำอธิบายที่ดีที่สุดต่อปรากฏการณ์ในคืนวันที่ 17 มีนาคมต่อนักการเมืองเหล่านี้มาจากปาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประสานกับปาก นายวันชัย สอนศิริ

ไม่ว่าของพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าของพรรคเพื่อไทย

สถานการณ์ในคืนวันที่ 17 มีนาคม มิได้เป็นสถานการณ์อย่างธรรมดา ตรงกันข้าม มีการกำหนดและวางแผนมาแล้วอย่างแยบยล

ไม่ว่า “ไพบูลย์” ไม่ว่า “สมชาย” เสมอเป็นเพียง “หมาก”

พวกนี้เล่นไปตาม “บท” พวกนี้เดินไปตาม “เกม” ที่แม้กระทั่งหัวขบวนของพรรคภูมิใจไทย หัวขบวนของพรรคประชาธิปัตย์ก็อ่านไม่ออก

เสียง “หัวร่อ” จึงดังขึ้นด้วยความขื่นลึก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image