เมื่อน้ำแข็งละลายในมหาสมุทรอาร์กติก สมรภูมิใหม่ก็เกิดขึ้น

มหาสมุทรอาร์กติก ช่องแคบเบริงอยู่ด้านบนรูปภาพ

มหาสมุทรอาร์กติก ตั้งอยู่ในซีกโลกเหนือ และส่วนใหญ่อยู่ในเขตขั้วโลกเหนืออาร์กติกมีรูปร่างคล้ายวงกลมครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 14,056,000 ตารางกิโลเมตร แนวชายฝั่งยาว 45,390 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยทวีปยุโรป, ทวีปเอเชีย, ทวีปอเมริกาเหนือ และกรีนแลนด์ รวมทั้งเกาะต่างๆ และทะเลแบเร็นตส์, ทะเลโบฟอร์ต, ทะเลชุกชี, ทะเลคารา, ทะเลลัปเตฟ, ทะเลไซบีเรียตะวันออก, ทะเลลิงคอล์น, ทะเลแวนเดล, ทะเลกรีนแลนด์ และทะเลนอร์เวย์ เชื่อมกับมหาสมุทรแปซิฟิกที่ช่องแคบเบริง และเชื่อมกับมหาสมุทรแอตแลนติกที่ทะเลกรีนแลนด์ มหาสมุทรอาร์กติกปกคลุมด้วยทะเลน้ำแข็งตลอดทั้งปีในฤดูหนาว มหาสมุทรอาร์กติกเป็นมหาสมุทรขนาดเล็กที่สุดและตื้นเขินที่สุดใน 5 มหาสมุทรของโลกอันได้แก่ มหาสมุทรแปซิฟิก, มหาสมุทรแอตแลนติก, มหาสมุทรอินเดีย, มหาสมุทรแอนตาร์กติก และมหาสมุทรอาร์กติก

มหาสมุทรอาร์กติกมีลักษณะคล้ายกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน คือเป็นทะเลกลางธรณีเพราะเป็นส่วนเหนือสุดของมหาสมุทรโลกที่ล้อมรอบทั้งหมดด้วยแผ่นดินของทวีปยุโรป, ทวีปเอเชีย, ทวีปอเมริกาเหนือ และกรีนแลนด์ อุณหภูมิและความเค็มของมหาสมุทรอาร์กติกแตกต่างกันไปตามฤดูกาล เมื่อน้ำแข็งละลายและแข็งตัว ความเค็มของมหาสมุทรมีค่าเฉลี่ยต่ำสุดในมหาสมุทรหลักทั้ง 5 เนื่องจากการระเหยที่ต่ำ และมีน้ำจืดจากแม่น้ำลำธารจากแผ่นดินโดยรอบไหลลงมหาสมุทรอาร์กติกมีปริมาณมหาศาล และมีช่องทางการไหลออกไปยังมหาสมุทรโดยรอบที่มีความเค็มสูงกว่าจำกัดมากเพราะถูกล้อมรอบโดยแผ่นดินนั่นเอง

เส้นทางเดินเรือของจีนต้องผ่านช่องแคบเบริง (ขวาบน)

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นกลางฤดูร้อนปรากฏว่ามีทะเลน้ำแข็งครอบคลุมพื้นที่เพียง 7,200,000 ตารางกิโลเมตร นับตั้งแต่ พ.ศ.2522 เป็นต้นมา ทะเลน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกลดลงเฉลี่ย ราว 70,000 ตารางกิโลเมตรต่อปีในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา และไม่ได้เพิ่มขนาดอีกเลยจึงมีการคาดการณ์ว่า ฤดูร้อนในมหาสมุทรอาร์กติกที่อยู่เหนือสุดของโลกกำลังจะสูญเสียพื้นที่น้ำแข็งทั้งหมดภายใน พ.ศ.2578

ปัจจุบันดินแดนอาร์กติกในครอบครองของรัสเซียมีประชากรรัสเซียอาศัยอยู่สองล้านคน และมีเมืองขนาดใหญ่ตั้งอยู่หลายเมือง รวมถึงเมือง มูร์มันสค์และเมืองนอริลสค์ สำหรับประชากรแคนาดากับสหรัฐอเมริกา ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคอาร์กติก รวมกันแล้วยังไม่ถึง 1 ใน 4 ของประชากรรัสเซียในภูมิภาคอาร์กติก ดังนั้นรัสเซียคือมหาอำนาจเกือบทุกด้านในภูมิภาคอาร์กติก โดยมีกองเรือตัดน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และกำกับดูแลฐานทัพทหารหลายสิบแห่งรัสเซียส่งกองทหารใหม่ๆ ไปประจำการอยู่ทางเหนือมาโดยตลอด นอกจากนี้ ยังเพิ่มกิจกรรมของเรือดำน้ำและส่งเครื่องบินรบลาดตระเวนเหนือน่านฟ้าอาร์กติก ขณะที่สหรัฐอเมริกา มีฐานทัพเพียงแห่งเดียวในเขตอาร์กติก และสนามบินหนึ่งแห่งในพื้นที่ทางเหนือของกรีนแลนด์ซึ่งเป็นการขอใช้พื้นที่จากรัฐบาลกรีนแลนด์

Advertisement

ขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนก็เข้าสู่ภูมิภาคอาร์กติกเพื่อใช้เป็นที่แสวงหาทรัพยากรด้วยการลงทุนในโครงการน้ำมันและก๊าซของรัสเซียแล้ว จีนยังมีความสนใจ โดยเฉพาะกับการได้สิทธิเข้าถึงเส้นทางเดินเรือใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางจากท่าเรือในเอเชียสู่ตลาดในยุโรปได้มากขึ้นถึงสองสัปดาห์เมื่อ พ.ศ.2562 รัฐบาลจีนเผยแพร่เอกสารปกขาวฉบับหนึ่ง เพื่อชี้แจงจุดประสงค์ของการเข้าไปมีส่วนร่วมในดินแดนทางเหนือ

ในเอกสารดังกล่าว จีนเรียกตัวเองว่า “รัฐใกล้ภูมิภาคอาร์กติก” ซึ่งหวังจะได้ความร่วมมือกับชาติอื่นๆ เพื่อสร้าง “เส้นทางสายไหมขั้วโลกเหนือ” อีกด้วย

ใน พ.ศ.2558 กองทัพเรือกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนจำนวน 5 ลำในทะเลเบริงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยเรือดังกล่าวเข้าสู่น่านน้ำอาณาเขตของสหรัฐอเมริกานอกชายฝั่งอะแลสกา เข้ามาในระยะ 12 ไมล์ทะเลจากแนวชายฝั่ง เรือของจีนทำการลาดตระเวนด้วยเสรีภาพในการเดินเรือตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลสำหรับการเดินเรือผ่านโดยสุจริต จึงไม่จำเป็นต้องแจ้งเตือนและ กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนก็ไม่ได้แจ้งเตือนให้ประเทศที่อยู่รอบชายฝั่งมหาสมุทรอาร์กติกทราบ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนต่อสหรัฐอเมริกาและประเทศชายฝั่งอาร์กติกทุกประเทศว่า จีนสามารถและจะจัดตั้งกองทัพเพื่อปกป้องเส้นทางทางทะเลอาร์กติกและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีน กองเรือรบของจีนอยู่ในบริเวณช่องแคบเบริงเป็นช่องทางที่ทำให้จีนและ ประเทศเอเชียอื่นๆ ทั้งหมดเข้าถึงมหาสมุทรอาร์กติก พราะช่องแคบเบริงเป็นจุดบรรจบของเส้นทางเดินเรือในทะเลเหนือและเส้นทางเดินเรือทางตะวันตกเฉียงเหนือและเป็นจุดผ่านที่เรือขนส่งพลังงานและการค้าทั้งหมดต้องผ่านเพื่อไปยังมหาสมุทรอาร์กติก การแสดงบทบาทของจีนแสดงให้เห็นว่าจีนมีขีดความสามารถในการเข้าถึงทางทะเลเพื่อปกป้องพื้นที่ดังกล่าวด้วยกำลังทหารของจีนเอง

Advertisement

นอกจากนี้ จีนยังเข้าร่วมในการซ้อมรบครั้งใหญ่ภายใต้รหัสวอสตอค (ตะวันออก) พ.ศ.2561 ของรัสเซีย ซึ่งมีทหารรัสเซียเกือบ 300,000 คนเข้าร่วม โดยจีนส่งกำลังพล 3,200 นาย ยานพาหนะและอุปกรณ์ทางทหาร 1,000 ชิ้น ตลอดจนเครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์จำนวน 30 ลำเข้าร่วม การซ้อมรบครั้งนี้มีการขนส่งเรือของกองทัพเรือรัสเซียผ่านช่องแคบ เบริง และได้รับการออกแบบมาเพื่อฝึกปฏิบัติการป้องกันดินแดนทางตะวันออกของรัสเซียและเส้นทางเดินเรือในทะเลเหนือเป็นการแสดงถึงขีดความสามารถของกองทัพจีนในการปฏิบัติการในดินแดนที่ไม่คุ้นเคยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอาร์กติกโดยเฉพาะที่ช่องแคบเบริงซึ่งเป็นพรมแดนทางทะเลระหว่างรัสเซียและสหรัฐอเมริกา (อะแลสกา) และเป็นสถานที่ที่ใกล้ที่สุดกับทวีปอเมริกาและเอเชีย

สมรภูมิแห่งใหม่ในยุคนี้ก็น่าจะเป็นที่ช่องแคบเบริงซึ่งเป็นทางเข้าออกมหาสมุทรอาร์ติกนี่เอง

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image