“อรรถจักร์” เขียนบทความถึง “เอนก” มหาวิทยาลัยไม่ใช่ “ค่ายกักกันปัญญา”

กรณีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกมาให้สัมภาษณ์ ปกป้องคณบดีวิจิตรศิลป์ มช.ทำตามหน้าที่เป็นการกระทำโดยชอบแล้ว และขอให้กำลังใจผู้บริหารทุกระดับของทุกมหาวิทยาลัย ที่ยืนหยัดรักษากฎหมาย กรณีการเก็บงานศิลปะนักศึกษา

วันนี้ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นักวิชาการ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนบทความเรื่อง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ “ค่ายกักกันปัญญา”  มีรายละเอียดดังนี้
​​​​​​

​​​​​​ ๑.

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “ตนเข้าใจดีเรื่องเสรีภาพ แต่เสรีภาพนั้น ไม่ว่าที่ไหนในโลก ต้องมีขอบเขต ใครที่ต้องการเสรีภาพที่สุดขั้ว ที่มากล้นกว่านี้ ก็ไม่ควรอยู่ในชุมชนมหาวิทยาลัย เพราะไม่มีใครบังคับให้อยู่ที่นี่” และ “อาจารย์ส่วนใหญ่พอใจในเสรีภาพวิชาการ แต่อาจารย์ส่วนน้อยนิด ถ้าไม่เชื่ออยากจะรุกล้ำอะไรมากกว่านี้ ตนก็เสียใจที่จะบอกว่าขอให้เตรียมตัวรับผลที่จะตามมาก็แล้วกัน”

Advertisement

ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีกล้าข่มขู่คุกคามเสรีภาพของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้ และเหมือนกับว่าเป็นการพูดโดยไม่รู้เรื่อง/ไม่สำนึกถึงความหมายของมหาวิทยาลัยเลย ทั้งๆที่เอนก เหล่าธรรมทัศน์ควรจะสำนึกว่ามหาวิทยาลัยมีความหมายอย่างไรต่อสังคม เพราะเอนกก็เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เคยเป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์ อยู่ในบรรยากาศการสร้างสรรค์สติปัญญามาเนิ่นนาน แต่กลับมากล่าวข่มขู่และคุกคามเสรีภาพและนักวิชาการอย่างไร้สติปัญญา

การพูดที่แสดงว่าเอนกไม่มีความสำนึกสำคัญเช่นนี้แล้ว ก็ควรจะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษาฯไปเสียเลยดีกว่า เพราะเอนกกำลังจะใช้อำนาจทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็น “ค่ายกักกันทางปัญญา”

เอนกคงเคยจำได้กระมังว่าเสรีภาพทางวิชาการสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการแสวงหาความรู้เพื่อเข้าใจต้นตอของปัญหาในชีวิตของคนและสังคม และสร้างทางเลือกที่ดีกว่าเดิม ถ้าเสรีภาพในการอธิบายปัญหาและสร้างทางเลือกให้แก่การแก้ไขปัญหาถูกทำลาย แล้วบังคับให้ทุกคนต้องเดินอยู่บนเส้นทางแคบๆ เส้นทางเดิมและเส้นทางเดียวตลอดไป คนทั้งสังคมก็จะเสมือนตกอยู่ในความมืดบอดตลอดกาลไม่มีโอกาสมองเห็นแสงสว่างใหม่ๆ ยิ่งสังคมเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและซับซ้อนมากเพียงใด เสรีภาพของมหาวิทยาลัยก็ยิ่งสำคัญมากขึ้น หากมหาวิทยาลัยกลายเป็น “ค่ายกักกันทางความคิด” เสียแล้ว จะอธิบายปัญหาและสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างไร

Advertisement

ใครที่ขัดขวางทำลายเสรีภาพทางวิชาการจึงเท่ากับทำลายทางเลือกของสังคมไทยที่ที่จะแสวงหาเส้นทางไปสู่อนาคตที่งดงาม นักศึกษาประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้กล่าวไว้ว่าประวัติศาสตร์จะจารึกว่า “ ยุคสมัยนี้ทรราชครองเมือง” และอเนกก็ได้ขายวิญญาณให้แก่ทรราชไปแล้ว

​​​​​๒.

​สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าไปสู่ “ยุคนาซีใหม่” เพราะอำนาจดิบ/เถื่อน/ของทรราชเถลิงอำนาจขึ้นครอบงำสังคมไทยและปรับเปลี่ยนผู้คนในสังคมไทยให้กลายเป็น “อณู” ที่จะมีความหมายได้ก็ต่อเมื่อไปเชื่อมตัวเองกับอำนาจของทรราช “อณู”เล็กๆที่แยกกระจัดกระจายจึงทนรับได้กับการทำลายล้าง/ฆ่าเพื่อนบ้านชาวยิวที่เคยสนิทสนมกัน เช่น ในคืนวันกระจกแตก (Night of Broken Glass ) เอนกยอมเป็นเครื่องมือของ “นาซีใหม่” ในการเปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้เป็นค่ายกักกันทางความคิด ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเพาล์ โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ (Paul Joseph Goebbels) รัฐมนตรีกระทรวงประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลฮิตเลอร์เลย

​“นาซีใหม่” ในสังคมไทยเถลิงอำนาจด้วยการสร้าง “วัฒนธรรมแห่งความกลัว” ( Culture of Fear ) ด้วยการทำให้เกิดการกระจายความกลัวไปทุกระดับและทุกมิติ ในระดับสังคม ความยุติธรรมก็เอียงข้างอย่างเห็นได้ชัด การใช้คนเสื้อเหลืองที่พร้อมใช้ความรุนแรง การระบุและเลือกฝ่ายตัวเองให้ปรากฏต่อสายตาคนในสังคม ที่สำคัญ ทำให้ชีวิตคนที่ต้องการเสรีตกอยู่ในความไม่แน่นอนและมีแนวโน้มที่จะถูกกระทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังคำข่มขู่ของรัฐมนตรีข้างต้น

​“นาซีใหม่” ได้ทำให้ช่องทางการเลื่อนตำแหน่ง/การได้รับการอุปถัมภ์/หรือได้รับผลประโยชน์ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ส่วนตัว ดังที่มีข่าวว่ามีตำแหน่งรัฐมนตรีจากโควตา กปปส. หรืออีกหลายกรณี ซึ่งเป็นกระบวนการสั่นคลอนระบบที่เคยดำรงอยู่ให้มีความไม่แน่นอนแต่ทั้งหมดกลับกลายเป็นการทำให้ขึ้นตรงต่อผู้นำ “นาซีใหม่”
​“ นาซีใหม่”ปิดกั้นความคิดคนและพยายามดันให้คนทั้งสังคมคิดคำนึงไปในทางทิศที่ตนเองต้องการ จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐมนตรีได้แสดงความคิดเห็นข่มขู่ไม่ให้มีความคิดต่างออกไป ด้วยการสร้างให้“วัฒนธรรมความกลัว” ขยายตัวและกระจายออกไปให้กว้างขวางมากที่สุด ปราการที่ต้องทำลายก่อนก็คือ “มหาวิทยาลัย”เพื่อที่จะขยายความกลัวได้สะดวกมากขึ้น

​​​​​​๓.

​เสรีภาพคือลมหายใจของผู้คน เสรีภาพจึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดของการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม การปิดกั้นเสรีภาพในมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะด้วย การเก่าอ้างเหตุผลใดก็ตามเท่ากับเป็นการทำลายชีวิตของผู้คนในสังคม นวัตกรรมทางสังคมที่อาจจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆก็จะสูญสลาย

​เสรีภาพในมหาวิทยาลัยจึงเป็นสิ่งที่สังคมจะได้รับผลประโยชน์กลับคืนในอนาคต ความพยายามจะปิดกั้นเสรีภาพของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ จึงเป็นเรื่องที่จะทำลายอนาคตของสังคม สิ่งที่ต้องย้ำให้สังคมได้รับรู้ก็คือมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายกักกันทางปัญญา เราไม่มีวันจะยินยอมให้เกิดการทำลายสติปัญญาของสังคมอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image