‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’วิพากษ์ 3 ดุลอำนาจ แก้รัฐธรรมนูญ

ปิยบุตร แสงกนกกุล’วิพากษ์ 3 ดุลอำนาจ แก้รัฐธรรมนูญ หมายเหตุ - นายปิยบุตร

‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’วิพากษ์ 3 ดุลอำนาจ แก้รัฐธรรมนูญ

หมายเหตุนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงแนวทางการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการขับเคลื่อนของดุลอำนาจ 3 ฝ่ายดังนี้

⦁1 ปี หลังยุบพรรคอนาคตใหม่ การถูกบังคับให้เปลี่ยนเส้นทางการเมือง ออกไปนอกสภา รู้สึกเขวหรือเสียศูนย์หรือไม่
ความจริงก็ปกติ เพราะเราตั้งใจรณรงค์เรื่องการเปลี่ยนแปลงประเทศ โดยเฉพาะปัญหาทางโครงสร้างต่างๆ ไม่ว่าจะใช้บทบาทใด ทั้งช่วงที่เป็นนักวิชาการ สภาผู้แทนราษฎร หรือกลุ่มการเมืองแบบคณะก้าวหน้า ดังนั้นทุกบทบาทก็ทำหน้าที่ได้เหมือนกันหมด ถ้าไปยึดติดว่าจะต้องเป็นบทบาทใด จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามได้ใจ ผมจึงยืนยันว่าเราต้องรณรงค์ต่อสู้กันต่อไป เพื่อทำให้เห็นว่าอาวุธนิติสงครามที่เขาใช้ห้ำหั่น ทำไม่สำเร็จ

⦁มีความรู้สึกกับการวางระเบียบแบบแผนหลักการปฏิบัติของอำนาจทั้ง 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการหรือไม่
ระบบแบ่งแยกอำนาจซึ่งเป็นการปกครองในระบบรัฐสภา แบ่งออกเป็น 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ เรามักจะทำให้เข้าใจว่าฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารคือฝ่ายการเมือง ส่วนฝ่ายตุลาการ คือศาล แต่ความจริงการตัดสินคดีความหลายเรื่องมีความเกี่ยวโยงกับนโยบายสาธารณะ และการเมืองทั้งสิ้น โดยเฉพาะเมื่อสร้างศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองขึ้นมา ซึ่งไปตัดสินคดีที่เกี่ยวกับอำนาจรัฐ ในแง่ของฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร สิ่งหนึ่งที่อาจจะทบทวนคือ ระบบโครงสร้างรัฐธรรมนูญ และโครงสร้างความคิดที่ออกแบบมาเป็นไปในลักษณะที่สร้างโครงข่ายให้กับนักการเมือง เมื่อคุณเข้ามาสู่แวดวงทางการเมือง คุณอาจจะมีความคิดความอ่านที่สร้างสรรค์ อยากจะเป็น ส.ส.ที่ดี หรือเป็นรัฐมนตรีที่มีนโยบาย แต่กลับต้องเจอระบบที่มีเครื่องอุปสรรคขัดขวาง ติดกฎหมายติดระเบียบข้อบังคับ ทั้งยังมีฝ่ายตรงข้ามทำตัวเป็นนักร้องเรียนคอยไปเรื่อยๆ ทำให้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่เข้ามาในวงการการเมือง แต่ที่จะมาคิดว่าจะต้องทำอะไร กลับต้องมาคอยระวังตัว อยู่ไปเรื่อยๆ ก็ต้องไปร้องเรียนอีกฝ่ายกลับ เมื่อร้องเรียนมา ก็ร้องเรียนกลับ สุดท้ายจึงวนอยู่แบบนี้ นี่คือข้อเสียข้อแรกที่เป็นการสร้างกรงขัง

Advertisement

ข้อเสียที่สองที่สร้างกรงขังต่อ คือ ไม่ว่าเป็น ส.ส. หรือเป็นรัฐมนตรี หากคิดอ่านที่จะทำสิ่งที่ Radical หรือแหวกขนบธรรมเนียมจากที่เคยเป็นมา ปัญหาที่ตามมาคือจะถูกองคาพยพ หรือกลไกรัฐต่างๆ เข้ามาบดขยี้ทันที หากเลือกสู้ก็จะได้รับผลร้าย หรือมิเช่นนั้นก็ต้องปลอบใจตัวเองว่าอดทนเวลารอไปก่อนรักษาเนื้อรักษาตัวอยู่ให้รอด ถ้าต่อสู้ตั้งแต่แรกก็จะไม่มีพื้นที่ให้ต่อสู้ต่อ ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้ตลอด เราไม่สามารถกลับไปพบเห็น ส.ส.ที่กล้าอภิปรายเหมือนยุค 2475 หรือ 2492 ได้ ปัจจุบันไปไกลถึงขนาดที่คำอภิปราย ก็ลุกขึ้นประท้วงทันที แสดงให้เห็นถึงความถดถอยของพลังและอำนาจของ ส.ส. แต่พลังของฝ่ายบริหารกลับมีเพิ่มมากขึ้น

ส่งผลต่อเนื่องให้การดำเนินการต่างๆ ไปตกอยู่ที่องค์กรอิสระกับศาล ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยลงโทษนักการเมือง อำนาจจึงไหลไปที่ตุลาการแทน แต่แทนที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการจะผนึกกำลังกัน สร้างให้เป็นสถาบันการเมืองที่มีอำนาจทำงานแทนประชาชน เพื่อประชาชน กลับต้องมาสู้รบชิงดีชิงเด่นกันเอง แบ่งว่าใครเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายไหนที่ควรจะต้องถูกกำจัด และส่งต่อให้ศาลหรือองค์กรอิสระจัดการ เหมือนฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารยื่นดาบให้ศาลกับองค์กรอิสระจัดการตัวเอง เราไม่เคยมีความคิดว่าเราเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชน ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างกับฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ก้าวหน้า หรืออนุรักษนิยมก็ว่าไป

Advertisement

⦁คิดว่าอะไรที่ทำให้ประเทศไทยยังเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ฝ่ายกุมอำนาจยังไม่ยอมปล่อย หรือประชาชนยังแสดงความต้องการไม่เพียงพอที่จะเคลื่อนข้อเรียกร้อง
เมื่อเรามองเหตุการณ์ทางการเมืองในรอบนี้ ก็ต้องมองย้อนถอยหลังไปเมื่อการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ปัจจุบันก็ยังอยู่ในวงจรนี้อยู่เพราะเป็นการรัฐประหารที่ต้องการจัดการรัฐบาลที่ได้รับความนิยมสูงและเป็นรัฐบาลที่ชนชั้นนำเกิดความรู้สึกไม่สบายใจกับการมีรัฐบาลแบบนี้ ทั้งที่รัฐบาลชุดนั้นจะถูกจะผิด ก็ควรต้องแก้ไขกันด้วยระบบแต่กลับใช้วิธีการรัฐประหารจัดการ สิ่งที่ตามมาคือการเปลี่ยนแปลงกติกาและให้มีการเลือกตั้ง แต่ขั้วการเมืองเดิมก็กลับมาได้อีก ในการเลือกตั้ง 2551 และ 2554 สุดท้ายก็ต้องไปจบที่การทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งผมเรียกว่ารัฐประหารซ่อมเพราะรัฐประหาร 2549 จัดการไม่อยู่ เมื่อเรารอดูระยะยาวก็จะพบว่านี่คือเส้นเรื่องเดียวกัน ที่คนกลุ่มหนึ่งต้องการมีอำนาจในการปกครองประเทศ แต่ไม่สามารถใช้กติกาแบบประชาธิปไตยเข้ามามีอำนาจในการปกครองประเทศได้

ในท้ายที่สุดก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 จนถึง 2564 เป็นช่วงเวลาที่ฝ่ายชนชั้นนำหรือกลุ่มอนุรักษนิยมที่ไม่มีอำนาจจัดการเลือกตั้ง พยายามเข้ามาครองอำนาจในระบบนี้ แล้วก็ค่อยๆ เติบโตแทรกซึมเข้ามา และผันตัวเองให้เป็นสถาบัน แปลงร่างผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 และกลไกต่างๆ ดังนั้นโจทย์หรือปัญหาใหญ่ที่สำคัญคือการถกเถียงกันว่า ตกลงแล้วอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชนจริงหรือไม่ หรือในท้ายที่สุดแล้วมีอำนาจอื่นที่อยู่เหนือประชาชนอีก

⦁นักกฎหมาย ที่มีส่วนทำกติกาหรือร่างรัฐธรรมนูญ มีส่วนที่พาประเทศมาถึงจุดนี้หรือไม่
แน่นอนที่สุด ไม่ใช่แค่เฉพาะในช่วงนี้ โดยผมขอยืมคำของ อาจารย์เกษียร เตชะพีระ ที่บอกว่า “กองทัพและนักกฎหมาย คือคู่หู ผีเน่ากับโลงผุ” เป็นคู่ที่จะอยู่ด้วยกันตั้งแต่การรัฐประหารเกิดขึ้น คือเมื่อทหารทำรัฐประหารเสร็จก็กลัวว่าการรัฐประหารขัดรัฐธรรมนูญหรือผิดกฎหมาย จึงต้องให้นักกฎหมายมาเขียนนิรโทษกรรมให้ โดยหากทหารต้องการจะอยู่ไปเรื่อยๆ ก็ต้องมีกติกาการปกครองประเทศ จึงต้องให้นักกฎหมายมาเขียนรัฐธรรมนูญเพราะโลกสมัยใหม่ไม่ยอมรับการปกครองด้วยปืนอย่างเดียวจึงต้องทำให้ปืนดูชอบธรรม โดยการแปลงร่างเป็นกฎหมายซึ่งทหารเขียนไม่เป็นจึงต้องให้นักกฎหมายมาช่วย สรุปคือเมื่อใช้ปืนไปยึดอำนาจเสร็จแล้วก็ต้องทำให้อำนาจดูดีดูหล่อดูสวยโดยนักกฎหมาย

ทหารและนักกฎหมายเป็นคู่ที่มีพัฒนาการขึ้นมาเรื่อยๆ สังเกตได้ว่าการรัฐประหารซึ่งเป็นความผิดฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 มีโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต แต่มาตรา 113 ไม่เคยทำงานได้เลย เพราะเมื่อฝ่ายรัฐประหารชนะ ศาลก็จะรับรองให้ทั้งหมดโดยบอกว่าทหารยึดอำนาจสำเร็จแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีการนำคนทำรัฐประหารไปติดคุกได้เลย นอกจากนี้เมื่อคณะรัฐบาลทหารออกประกาศคำสั่งศาลก็ถือปฏิบัติว่าประกาศคำสั่งเหล่านี้คือกฎหมายด้วย

⦁คิดว่าเหตุใดนักกฎหมายบางคนจึงยอมรับใช้อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน
ผมว่าอาจจะไม่ใช่บางคนแต่ว่าส่วนใหญ่ เราอย่าไปคิดว่านักกฎหมายเป็นเทวดา หรือเป็นคนที่ทรงคุณธรรม นี่คือมายาคติที่เราถูกปลูกฝังว่านักกฎหมายเท่ากับความยุติธรรม เพราะเราไปสร้างมายาคติว่าความยุติธรรมมีแต่ศาลหรือนักกฎหมายเป็นผู้ตัดสิน หากเรายกความยุติธรรม ให้ไปอยู่ในมือนักกฎหมายแต่เพียงฝ่ายเดียว คนกลุ่มนี้คงชี้เป็นชี้ตายได้หมด

โดย อเล็กซิส เดอ ท็อกเกอร์วิลล์ (Alexis de Tocqueville) เขียนหนังสือประชาธิปไตยในอเมริกาที่วิจารณ์นักกฎหมายว่านักกฎหมายจะชอบยึดติดกับรูปแบบ (Form) หากเกิดอะไรขึ้นก็จะจับยัดเข้ารูปแบบให้หมด หากไม่เป็นไปตามนั้นก็จะบอกว่าผิด นอกจากนี้นักกฎหมายยังเป็นเครื่องห้ามล้อ และเป็นฝ่ายที่ไม่สร้างสรรค์ หากอะไรที่มีการรุดหน้าก็จะไปเบรก เป็นฝ่ายที่ต้องดูว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ส่วนคนอื่นๆ คิดอะไรก็ไปออกเป็นกฎหมายมาแล้วฝ่ายตัวเองจะเป็นผู้ตีความ อเล็กซิสยังระบุว่า ผู้ปกครองที่ฉลาดต้องไม่ไปจัดการนักกฎหมาย เพราะนักกฎหมายจะแปลงร่างเป็นนักปฏิวัติเพื่อล้มผู้ปกครองทันที แต่ต้องดึงนักกฎหมายมาเป็นพวกให้หมด ใช้งานและให้ตำแหน่งนักกฎหมายก็จะรับใช้อำนาจคุณ

เราจึงต้องช่วยกันปลูกฝังนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ว่านักกฎหมายที่เท่ ที่คูล ไม่จำเป็นต้องรับใช้อำนาจรัฐ เมื่อตอนที่เข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ ก็ให้เหตุผลว่าต้องการผดุงความยุติธรรม แต่เมื่อเข้าไปเป็นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือศาล ก็ทำงานเพื่อรักษาความยุติธรรม หรือเพื่อเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งของตัวเองกันแน่ แต่สิ่งเหล่านี้คือมายาที่ฉาบตัวเองไว้หลอกตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะเอาเข้าจริงๆ คุณกลับต้องการใช้ความเป็นนักกฎหมายในการไต่เต้าเข้าไปมีอำนาจ และขยับสถานะทางชนชั้นของตัวเองจนวันหนึ่งก็เข้าไปอยู่ในคลับของคนชั้นนำ

⦁หากผู้บังคับใช้กฎหมาย ใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม มีการข้ามกระบวนการตามปกติ เช่น เรื่องการขอประกันตัว และการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุม จะส่งผลต่อความเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมอย่างไร
ปรากฏการณ์ในทางอำนาจทุกอย่างทำงาน 2 แบบ คือ 1.การบังคับให้ต้องเชื่อและเคารพ ผ่านกลไกศาล ทหาร คุก ตำรวจ คนไม่กล้าทำผิดเพราะกลัวถูกจับและถูกลงโทษ และ 2.การยินยอม และทำตามเพราะเชื่อว่าสิ่งนั้นถูกต้องและมีเหตุผล ดังนั้นอำนาจที่จะมีประสิทธิภาพจริงๆ จะต้องอาศัยทั้ง 2 ปัจจัยนี้ แต่หากใช้อย่างใดอย่างหนึ่งเช่นการบังคับ ก็จะสะท้อนว่าอำนาจนั้นอยู่ในช่วงขาลงเพราะไม่สามารถสร้างความยินยอมพร้อมใจให้คนนับถือได้ กระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันทำงานเพราะการบังคับ หากเป็นสมัยก่อนใครจะคิดว่า นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน จะขึ้นไปยืนพูดแบบนั้น หรือใครจะคิดว่ามีการตั้งคำถามกับศาล อัยการหรือพนักงานสอบสวนขนาดนี้ แต่ที่ยังเอาอยู่เพราะมีอำนาจบังคับคือ ศาล ทหาร คุก ตำรวจ อย่างไรก็ตาม กระบวนการยุติธรรมใดที่มีแค่การบังคับ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่อันตราย นานวันเข้าคนจะยิ่งรู้สึกว่านี่ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายแต่เป็นการบังคับให้เขาต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งจะเกิดปัญหาขึ้นมาเรื่อยๆ รัฐที่เป็นรัฐล้มเหลวก็มีจุดเกิดขึ้นจากเรื่องแบบนี้

สำหรับประเทศไทยยังมีโอกาสที่ไปต่อได้เพราะเราผ่านประสบการณ์ที่พลังทางสังคมทะเลาะกับรัฐ และหาทางออกได้ในท้ายที่สุด แต่รอบนี้มันติดมานานมาก สิ่งที่ผมกังวลคือ การที่รัฐกังวลว่าหากปล่อยให้พลังทางสังคมมีขึ้นมามากขึ้น คนที่ถืออำนาจอยู่จะอยู่ไม่ได้ ทำให้เกิดลักษณะที่ตึงทั้งคู่ เพราะพลังทางสังคมก็ถอยไม่ได้จึงเกิดโอกาสที่จะหาทางออกได้ยาก

⦁การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเริ่มที่จุดไหน และจะออกแบบเพื่อให้บรรลุข้อเรียกร้องหรือตอบโจทย์การแก้ปัญหาทางการเมืองอย่างไร
รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกออกแบบมาเพื่อไม่ให้เกิดการแก้ไขและกลุ่มคนที่ไม่ให้แก้ก็ยังมีอำนาจอยู่ ดังนั้นการจะไปแก้โดยหวังรัฐสภาก็จะสิ้นหวังมาก จึงต้องใช้พลังของประชาชนเข้าไปกดดัน รัฐธรรมนูญ 2540 เกิดขึ้นมาได้จากกระแสธงเขียว เมื่อปรากฏให้เห็นชัดแล้วว่าอุปสรรคการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ใหญ่ที่สุดคือ ส.ว. และอาจจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหากจะสู้กันในระบบจึงต้องให้ประชาชน เสนอชื่อทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยยกเลิก ส.ว. และให้ประเทศไทยใช้ระบบสภาเดียว พร้อมกับปรับปรุงศาลรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนองค์ประกอบและที่มา รวมถึงการลดอำนาจในการเข้าไปยุ่งกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าชื่อให้เกินล้านคน แน่นอนว่า ส.ว. อาจจะปัดตก แต่หากมาเป็นล้านคน คงจะต้องฟัง แต่ถ้าไม่ฟังอีก ผมว่าเหตุการณ์ทางการเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างทันที

ขณะเดียวกันก็ให้ทำประชามติเพื่อบอกว่าจะขอยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 และทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับทุกหมวดทุกมาตราเพื่อเป็นการยืนยันว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ประชาชนอยากยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะเมื่อก่อนประเทศไทยก็มีการฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วทำไมประชาชนจะออกมาบอกว่าอยากจะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญไม่ได้ การทำประชามติเป็นการแสดงออกอย่างสันติที่สุดว่าประชาชนคนไทยทั้งประเทศในฐานะเจ้าของอำนาจสถาปนาอยากเลิกกับรัฐธรรมนูญ 2560 และทำใหม่ทั้งฉบับหรือไม่

ผมจึงประสานกับกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และไอลอว์ เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อยกเลิก ส.ว. ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ด้วยไอเดียง่ายๆ คือต้องการกำจัด อุปสรรคขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและนั่งร้านระบอบ คสช. เมื่อช่องทางนี้ยังเปิดอยู่เราก็จะใช้ช่องทางนี้ต่อไป พร้อมกันนั้นก็จะพยายามพูดเรื่องการทำประชามติและยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าสามารถเป็นไปได้ หากยังไม่มีสถาบันการเมืองใดนำเข้าไปทำหรือไม่มีใครยอมกล้าให้ทำประชามติยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 วันนั้นผมก็คิดว่า สุดท้ายที่พูดกันตลอดว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนมันจริงหรือไม่ จะทำอย่างไรให้ประชาชนปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image