โรม ย้ำ รธน.จำเป็นต้องร่างใหม่ เล็งชวนพรรคร่วม ผนึกกำลังโละอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ

‘โรม’ เผย ‘ก้าวไกล’ ยึดคำศาล ใช้อำนาจยกร่าง รธน.ทั้งฉบับ เล็งชวนพรรคร่วมผนึกกำลัง โละอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ชี้ ‘รัฐบาล’ ไม่กล้าคว่ำร่าง พ.ร.บ.ประชามติ

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรค ก.ก. ว่า ขณะนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านยังไม่ได้หารือร่วมกัน เพราะต้องรอให้แต่ละพรรคหารือกันให้เรียบร้อยก่อน โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเป็นเรื่องที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเคยทำมาก่อนแล้ว และก็ไม่ได้มีจุดยืนว่าเมื่อร่างแก้ไขรายมาตราตกไปแล้วจะไม่หยิบกลับมาทำอีก เพียงแต่มีเงื่อนไขคือ เมื่อร่างตกไป การจะเสนอมาพิจารณาอีกครั้งก็ต้องทิ้งช่วงเวลาไว้สักพักหนึ่ง เพื่อรอการเปิดสมัยประชุมสภาอีกครั้ง และนำร่างกลับมาทบทวนกันใหม่

เมื่อถามว่า เบื้องต้นจะเน้นแก้ไขรายมาตราใช่หรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า อาจจะสรุปแบบนั้นไม่ได้ เพราะว่าพรรค ก.ก.ยังมีแนวคิดว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ยังเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเรายังยืนยันว่า รัฐสภามีอำนาจการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ตรงกับที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความไว้ ดังนั้น เราคงไม่จำกัดอยู่ที่การแก้ไขรายมาตรา หากเราต้องการจะเปลี่ยนผ่านจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีปัญหา ก็คงต้องแก้ไขรายมาตราทั้งฉบับ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นก็คงจะมีปัญหาอีก ดังนั้นเราจะต้องหาวิธีการทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอยู่ดี

เมื่อถามว่า จะเริ่มการแก้ไขรายมาตราในประเด็นใดก่อน นายรังสิมันต์กล่าวว่า ประเด็นแรกสุดที่ตนคิดว่าส.ส.รัฐบาลน่าจะเอาด้วยคือ มาตรา 272 เรื่องอำนาจของ ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งจุดนี้ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลออกมาเป็นแบบนี้ คือ การมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ เพราะเราต้องเข้าใจว่าเสียงที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้คือ 100 กว่าคน ต่อให้บวกเพิ่มกับพรรคอื่นก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เมื่อมีเสียงของ ส.ว. กลับสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ดังนั้น จึงสร้างความไม่พอใจให้ประชาชน และฝ่ายการเมือง เราจึงคิดว่าอาจจะต้องเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค นอกจากนี้พรรคร่วมรัฐบาลก็อาจจะต้องการแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้ง ซึ่งก็ต้องคุยกันว่าจะแก้ไขเป็นระบบใด

เมื่อถามถึง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. … ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเสร็จแล้ว มีความกังวลว่าจะถูกคว่ำเหมือนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า “ความจริงต้องบอกว่ามีความพยายามที่จะทำให้เป็นแบบนั้น แต่ว่าในมุมของเรามองว่าหากทำให้ล้ม รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ เพราะตามประเพณีของการเมืองไทยคือ หากรัฐบาลไม่สามารถผ่านกฎหมายที่ตัวเองเสนอได้ จะต้องยุบสภา หรือลาออก”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image