‘สุรเกียรติ์’ ชี้ ‘พม่า’ อยู่นอกเหนือหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในแล้ว ห่วงจุดยืน-ภาพลักษณ์ไทย

“สุรเกียรติ์” ชี้ ”พม่า” อยู่นอกเหนือหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในแล้ว ห่วงจุดยืน-ภาพลักษณ์ไทย

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทยประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย(APRC)และอดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในเมียนมาว่า

เหตุการณ์ความรุนแรงในเมียนมาในขณะนี้มีผลกับประเทศไทยทั้งในเชิงจุดยืน ภาพพจน์และชื่อเสียง และมีผลกระทบที่เป็นรูปธรรมต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงของไทยอย่างมาก

ในด้านจุดยืน ภาพพจน์ และชื่อเสียงของประเทศไทยนั้น เมื่อกองทัพเมียนมา มีการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง โดยใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ประท้วงจนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ใช้กำลังในการปราบปราม เช่น การซ้อม ทุบตีคนเห็นต่าง ทำร้ายร่างกายคนที่ใช้อารยะขัดขืนไม่ออกไปทำงาน ไม่เว้นแม้แต่การใช้กระสุนจริงต่อเด็กอายุ 5 ขวบ 7 ขวบ 10 ขวบ และประชาชนทั่วไป ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยในวันเดียวก็เกิดขึ้นมาแล้ว ทำให้หลักการไม่แทรกแซงในกิจการภายในของประเทศอาเซียน ต้องมีการทำความเข้าใจกันใหม่ เพราะตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติแล้ว เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงเช่นที่กล่าวมานี้ เรื่องการละเมิดหลักมนุษยธรรม เรื่องอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เป็นข้อยกเว้นของหลักการไม่แทรกแซงในกิจการภายในของประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ

การกระทำเช่นว่านั้น ทำให้ประเทศที่กระทำการนั้นๆ หมดสิทธิที่จะอ้างหลักการไม่แทรกแซง เพราะสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องของสังคมระหว่างประเทศไปเสียแล้ว โดยมีกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายขององค์การระหว่างประเทศ และองค์การภูมิภาค เช่น กฎบัตรของอาเซียนใช้บังคับอยู่

Advertisement

ดังจะเห็นได้ว่า สมาชิกประชาคมระหว่างประเทศ แม้บางประเทศไม่ได้ประณามการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา แต่ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้กองทัพเมียนมายุติการใช้กำลัง ยุติการใช้อาวุธร้ายแรงกับประชาชนที่นำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายนับร้อยตั้งแต่มีการยึดอำนาจตั้งแต่ 1 กพ.2564 เป็นต้นมา ประเทศไทยเอง แม้เราจะไม่ก้าวก่ายกิจการภายในว่าใครจะชนะ จะแพ้การเลือกตั้ง ไม่ก้าวก่ายว่าเมียนมาจะจัดการบริหารประเทศอย่างใด แต่ในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด และมีความสัมพันธ์ที่ดีกัน การกระทำใดที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง การกระทำที่จะนำไปสู่การเป็นอาชญากรต่อมนุษยชาติ ประเทศไทยย่อมอยู่ในฐานะทางกฎหมายและทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่จะเรียกร้องให้เพื่อนยุติการกระทำเช่นนั้น เพราะการกระทำดังกล่าวได้ทำให้เมียนมาพ้นสิทธิในการอ้างหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในแล้ว หากแต่เป็นเรื่องของหลักสากล ที่ย่อมไม่ให้มีการเลือกฆ่าประชาชนผู้เห็นต่าง อย่างที่เป็นอยู่ในเมียนมาขณะนี้

การที่ประเทศไทยเลือกที่จะนิ่งเฉยเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงโดยอ้างหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในนั้น นอกจากจะเป็นการอ้างหลักต่อสถานการณ์ที่ผิดจากหลักปฏิบัติระหว่างประเทศแล้ว จะทำให้สังคมระหว่างประเทศมองด้วยความเข้าใจว่าประเทศไทยยอมรับหรืออาจมองว่าสนับสนุนการใช้กระสุนจริง การกระทำของกองทัพเมียนมาที่มีผลต่อการสูญเสียชีวิตของคนเมียนมาทั้งๆที่ผมมั่นใจว่าไม่ใช่จุดยืนของประเทศไทยและคนไทย

นอกจากนี้ ศ.ดร.สุรเกียรติ์ ได้กล่าวว่า ในด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของไทยนั้น สถานการณ์ในเมียนมาที่ลุกลามเกิดความไม่สงบเช่นนี้ เป็นเรื่องของไทย จะบอกว่าเป็นเรื่องของเมียนมาฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะกระทบผลประโยชน์ของประชาชนคนไทยอย่างมาก

ประการแรก การปราบปรามผู้ประท้วงโดยใช้อาวุธนี้ และการไม่หาทางเจรจากับผู้เห็นต่างเพื่อนำไปสู่ทางออกที่สันติ ทำให้เศรษฐกิจเมียนมาดิ่งเหวลงไปอีก นอกจากผลต่อเศรษฐกิจจากโควิดแล้ว นักธุรกิจจากทุกประเทศ รวมทั้งคนเมียนมาเอง ย่อมยุติหรือชะลอการลงทุน การทำการค้าขาย ทำให้คนยากจนในเมียนมาเดือดร้อนขึ้นไปอีก ซึ่งก็ต้องหนีร้อนมาพึ่งเย็นในประเทศไทยเป็นธรรมดา

ประการที่สอง การสู้รบระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยและบางรัฐกับกองทัพเมียนมาจะทำให้มีผู้หลบลี้หนีภัยพลัดถิ่นมายังประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเอง หรือองค์การระหว่างประเทศที่ทำงานอยู่ที่ชายแดน ก็จะต้องใช้ความมีมนุษยธรรมที่จะไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยออกไปสู่ภยันตราย เป็นภาระที่เคยเกิดกับไทยเมื่อ30กว่าปีที่แล้ว จนปัจจุบันก็ยังมีผู้ลี้ภ้ย ที่เราเรียกว่าผู้พลัดถิ่น อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนจำนวนมาก

ในสองประการนี้ ยังไม่ได้รวมปัญหาความเสี่ยงจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจติดมากับผู้หนีความยากแค้น และหนีการสู้รบ มาหางาน หาทางรอดในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งเมื่อมีการลักลอบเข้ามาแล้วเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย ปัญหาการระบาดที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤจิกายน 2563 จนเราต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้น ปิดกิจกรรมธุรกิจบางพื้นที่ในหลายจังหวัดมาจนเศรษฐกิจไทยล้มซวนเซเป็นระลอกที่สองมาแล้ว ก็อาจจะมาเกิดขึ้นอีกได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครปรารถนา ไม่ว่ารัฐบาลหรือประชาขน

ดังนั้น ผมเห็นว่าประเทศไทยควรมีการแสดงจุดยืนร่วมกับนานาประเทศในเรื่องการไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงของกองทัพเมียนมาจนเกิดการล้มตายเป็นจำนวนมากได้ โดยไม่ต้องห่วงการที่เพื่อนบ้านจะไม่พอใจ เพราะจุดยืนของไทยในการไม่แทรกแซงการเมืองภายในเมียนมายังเหมือนเดิม แต่การขอร้องให้หยุดการ กระทำที่ไม่มีมนุษยธรรม ย่อมเป็นสิ่งที่เพื่อนต้องตักเตือนกัน ต้องโน้มน้าวให้ยุติเสีย และยิ่งกว่านั้น การใช้ความรุนแรงปราบปรามนั้น จะมีผลให้ไทยต้องรับภาระดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกด้วย

ดร.สุรเกียรติ์กล่าวว่า ส่วนการใช้การทูตที่ไม่เป็นข่าว (Quiet Diplomacy) เพื่อให้กองทัพเมียนมากับนาง ออง ซาน ซูจี และผู้ประท้วงได้มีการเจรจากันนั้น ก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง ต่อเนื่องจากที่ไทยได้จัดให้ รมต.ต่างประเทศเมียนมา อินโดนีเซีย และไทยได้พบกัน และการประชุม รมต.ต่างประเทศอาเซียนในเรื่องสถานการณ์ในเมียนมาไปแล้ว ไทย และอาเซียนคงต้องทำงานหนักขึ้น ร่วมกับจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินเดีย เพื่อช่วยให้เมียนมากลับคืนสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็วที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image