เผยตั้งแต่ 66 ผู้สูงวัยในไทยเพิ่มปีละล้านคน สวนทางเกิด ชี้รบ.ต้องดูแลสวัสดิการรอบด้าน

เผยตั้งแต่ 66 ผู้สูงวัยในไทยเพิ่มปีละล้านคน สวนทางเกิด ชี้รบ.ต้องดูแลสวัสดิการรอบด้าน

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 30 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2562 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยในปี 2562 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11.6 ล้านคน หรือร้อยละ 17.5 ของประชากรทั้งประเทศ และตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะมีคนไทยอายุถึง 60 ปี ปีละล้านคน และในปี 2576 จะมีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่การเกิดในปี 2562 มีจำนวนลดต่ำลงเหลือเพียง 6.1 แสนคน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ (Social Welfare for Elderly) มาตลอด โดยดำเนินการจัดสวัสดิการด้านต่างๆ อาทิ 1.ด้านการศึกษา เช่น จัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ จำนวน 1,555 แห่ง โดยกำหนดเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ในมิติสุขภาพ มิติสังคม มิติเศรษฐกิจ และมิติสภาพแวดล้อม

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 2.ด้านสุขภาพอนามัย เช่น สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง ซึ่งมีผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแล จำนวน 219,518 คน 3.ด้านที่อยู่อาศัย ดำเนินการปรับปรุงซ่อมบ้านให้แก่ผู้สูงอายุ จำนวน 3,200 หลัง และปรับปรุงสถานที่สาธารณะให้เอื้อต่อผู้สูงอายุและคนทุกวัย จำนวน 20 แห่ง 4.ด้านการทำงานและการมีรายได้ เช่น 1)รัฐบาลออกมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนจ้างแรงงานผู้สูงอายุเข้าทำงานมากขึ้น 2)ตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) 1,489 แห่ง 3)สนับสนุนเงินทุนกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพผู้สูงอายุผ่านกองทุนผู้สูงอายุ จำนวน 8,991 คน 4)เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 9.09 ล้านคน และ 4)สวัสดิการบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนการออมแห่งชาติ 5.ด้านบริการทางสังคม เช่น ช่วยเหลือการทำศพผู้สูงอายุตามประเพณี การช่วยเหลือผู้สูงอายุในภาวะยากลำบากผ่านกลไกในระดับพื้นที่ คือ อาสาพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงพม. มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและพัฒนากลไกให้ดียิ่งขึ้น ดังนี้ 1)ทบทวนและคำนึงถึงความยั่งยืน และภาระด้านงบประมาณอย่างจริงจังต่อการจัดสวัสดิการฯ ผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ควรคำนึงถึงการนำเงินที่ได้รับไปต่อยอดให้เกิดรายได้เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาชีพและการดำรงชีวิตในระยะยาว 2)ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม และเป็นสากลมากขึ้น โดยไม่มุ่งเน้นเฉพาะแนวคิดการสงเคราะห์ แต่ควรจัดสวัสดิการสังคมบนพื้นฐานของสิทธิพลเมือง ที่ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงและได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐาน 3)กระจายความรับผิดชอบในการจัดสวัสดิการสังคมผ่านการสร้างหุ้นส่วน โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมและสนับสนุนการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม

น.ส.รัชดา กล่าวว่า สถานการณ์ผู้สูงอายุของโลกก็เป็นเช่นเดียวกับประเทศไทย ในปี 2562 มีผู้สูงอายุครบ 1,000 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรทั้งโลก โดยประชากรโลกกำลังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่ช้าลง แต่ประชากรผู้สูงอายุ 100 ปีขึ้นไป กลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สำหรับทวีปเอเชีย มีผู้สูงอายุมากที่สุดจำนวน 586 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรทั้งทวีป รองลงมาคือ ทวีปยุโรป มีผู้สูงอายุจำนวน 189 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19 ของผู้สูงอายุทั้งโลก และอาเซียน มีประชากรสูงอายุจำนวน 70 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 11 ของประชากรอาเซียน ส่วนประเทศที่มีอัตราผู้สูงอายุสูงสุดในโลก คือ ญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 34 ของประชากรทั้งหมด 127 ล้านคน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image