สุรเชษฐ์ เตือน ศักดิ์สยาม อย่าหาทำ แบริเออร์ยางพาราหมื่นล้าน ชี้ เป็นการสร้างดีมานด์เทียม

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล และเป็น รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความ คัดค้านโครงการติตตั้งแบริเออร์ยางพารา 3 ปี 85,624 ล้านบาท ระบุว่า

อย่าหาทำ! ติตตั้งแบริเออร์ยางพารา ประเด็นโครงการติตตั้งแบริเออร์ยางพารา 3 ปี 85,624 ล้านบาทที่ รมว.คค. ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เคยประกาศไว้กลางสภา เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 63 เวลาประมาณ 19:00 เพื่อชี้แจงแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณ ช่วงศึกงบประมาณ 64 และผมได้อภิปรายตอบโต้ในหลายประเด็น แต่ไม่มีเวลาพูดถึงประเด็นการติตตั้งแบริเออร์ยางพารามากนัก เพียงแต่ให้ Hint ไว้ว่า ไม่ควรทำและจะติดตามตรวจสอบต่อไป [1]

ผมเคยเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงในประเด็นนี้ หลัก ๆ 2 ครั้ง คือ (ก) 14 ก.ย. 63 ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และ (ข) 4 ก.พ. 64 ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม รวมถึงอีกหลายครั้งที่ติดตามและตักเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปทบทวนให้ดี อย่าหลับหูหลับตาทำตาม “ธง” โดยไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณในวิชาชีพและงบประมาณซึ่งเป็นเงินภาษีของคนทั้งประเทศ  พอดี เมื่อวานนี้ (30 มี.ค. 64) เห็นข่าว [2] เลยคิดว่าต้องออกมาเตือนดัง ๆ อีกครั้งว่า: อย่าหาทำ!

โครงการนี้เป็นโครงการ “สร้าง Demand เทียม” ไม่ได้มีความจำเป็นและทั่วโลกก็ไม่ทำกัน เหตุผลหลักคืออยากจะหาทางปั่นราคายางพาราให้สูงขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีหากสามารถหา Demand จริงได้ (มีความต้องการใช้และก่อให้เกิดประโยชน์จริง) แต่ที่ทำกันอยู่นี่ มันไม่ใช่! นี่มัน Demand เทียมชัด ๆ และมีโอกาสสูงที่จะล้มเหลวหรือเป็นภาระกับงบประมาณในอนาคตที่จะต้องมาซ่อม/เปลี่ยนแผ่นยางพาราที่นำมาตากแดดเล่น ให้มันแห้งกรอบ ไม่ได้มีผลการทดสอบที่น่าเชื่อถือมา Backup “ความคุ้มค่า” ของการใช้งบประมาณ

Advertisement

ทช. คิดเพื่อเอาหน้า Overclaim ผลการทดสอบ

การหาทำครั้งนี้ เริ่มมาจากนโยบายของรัฐบาลที่จะหาทางช่วยอุดหนุนราคายาง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่มีเพียงฝัน ไม่ได้มีทิศทางที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร ผู้ใหญ่บางท่านในกรมทางหลวงชนบท (ทช.) จึงพยายามเสนอโครงการติตตั้งแบริเออร์ยางพาราเพื่อตอบโจทย์นโยบายที่จะหาทางนำยางพารามาใช้ให้มาก ๆ จนถูกใจนายได้รับการโปรโมทให้เป็นใหญ่เป็นโตเพื่อผลักดันโครงการนี้ เมื่อได้รับการแต่งตั้ง จึงได้พา รมว.คค. ไปดูผลการทดสอบถึงเกาหลีว่ามันดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่!

ประเด็นนี้มันเป็นเรื่อง Engineering อธิบายได้แต่จะยากและยาว เอาเป็นว่าหลัก ๆ คือ มีการ “Overclaim ผลการทดสอบ” เช่น Scenario Tests ไม่มากพอที่จะสรุป, ผลการทดสอบไม่สามารถบอกความแตกต่างระหว่างการมียาง vs. ไม่มียาง ได้ว่ายางที่ใส่ไปก่อให้เกิดความคุ้มค่าหรือไม่, อุณหภูมิที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในการทดสอบกับหน้างานจริง, สภาพความคงทนของยางและกาวเมื่อเวลาผ่านไปในสภาพร้อนจัด, หลักในการรับแรงแบบ Rigid vs. Flexible Body, การติดตั้งแบบถาวร vs. ชั่วคราว, การยึดเหนี่ยวระหว่างยางกับปูน, ความชุ่มชื้นของแผ่นยางที่เหมาะสม, ลักษณะ Approach ที่สั้นกว่ามาตรฐานทั่วไป, การใช้เหล็กดามระหว่าง Blocks ซึ่งอาจหลุดออกมาเกี่ยวมอเตอร์ไซด์ให้ล้มได้ เป็นต้น

Advertisement

รมว.คค. ไม่รู้เรื่อง แต่ชอบสั่งการ ขอให้ได้ผลาญ!

ประเด็นนี้ชัดเจนในตัว คงไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม แต่ประเมินได้จากผลงานที่ผ่านมา

ทล. รับโจทย์ของบ 65 สูงถึง 75,000 ล้านบาท (เทียบกับงบแก้ปัญหาความปลอดภัยอื่น ๆ ทั้งหมด 4,500 ล้านบาท)

เมื่อมีธงจาก รมว.คค. กรมทางหลวง (ทล.) จึงตั้งคำของบประมาณ 2565 เฉพาะในส่วนของแบริเออร์ยางพารา สูงถึง 75,000 ล้านบาท ในขณะที่หน่วยงานต้นคิด (ทช.) ขออีก 7,000 ล้านบาท เรียกได้ว่าตั้งงบแบบ “เอาใจนายกันสุด ๆ” ทั้ง ๆ ที่งบประมาณสำหรับการแก้ปัญหาความปลอดภัยทางถนนในด้านอื่น ๆ ทั้งหมดที่ไม่ใช่การทำแบริเออร์มีอยู่แค่ 4,500 ล้านบาทสำหรับ ทล. และ 8,000 ล้านบาทสำหรับ ทช. [3]

ประเด็นคือ หากตั้งใจจะแก้ปัญหาความปลอดภัยทางถนนจริง ก็ควรไปทำฐานข้อมูลเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำก่อน ไม่ใช่หว่านแห หาทำไปเรื่อย ทล. และ ทช. ควรใส่งบไปในการสำรวจและแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยง ซึ่งแต่ละจุดมีลักษณะของปัญหาต่างกันและมาตรการ (Road Safety Measures) ที่ควรใช้ก็ย่อมต่างกัน บางที่อาจต้องการ Guardrail, Limited Access, สัญญาณไฟจราจร, ป้าย, etc. ไม่ใช่จะติดตั้งแบริเออร์ยางพาราแบบ “หาเรื่องสร้างไปเรื่อย” ในทุกที่ที่สร้างได้ แล้วมาอ้างว่าให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความปลอดภัยทางถนน

สำนักงบ ไม่มีตังค์ให้

ประเด็นนี้ เป็นข้อเท็จจริงตามข่าว [2] และผมก็จะติดตามต่อไปเมื่อร่าง พรบ. งบประมาณ 2565 เข้าสภาจริง

ศักดิ์สยาม จะไป ขอกู้เงิน สบน. 4 หมื่นล้าน

ตอนแรกนึกว่าให้ข่าวแก้เก้อแบบขำ ๆ แต่วันนี้ได้ยินว่าท่านโอ๋เอาจริง จะหาทางเอาเงินมาทำแบริเออร์ยางพาราให้ได้ ก็คงต้องตั้งความหวังไว้ที่ สบน. (สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ) ว่าจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ต้องคิดเสมอว่า “ด้วยเงินที่เท่ากัน เอาไปทำอะไรดี” หากมีโอกาส ผมก็จะเรียก สบน. มาติดตามในประเด็นนี้ต่อไป

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ผมมีเจตนาเดียว คือผมอยากเห็นการใช้เงินภาษีอย่าง “คุ้มค่า” ให้สมกับหยาดเหงื่อแรงงานที่พี่น้องประชาชนต้องหาเงินมาจ่ายให้รัฐ

ผมไม่อยากให้โครงการติตตั้งแบริเออร์ยางพาราล้มเหลวไม่เป็นท่าเหมือนกับการสร้าง Demand เทียมรอบที่แล้วในโครงการถนนยางพาราที่พิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวไม่เป็นท่า ซึ่งทั้ง ทล. และ ทช. ก็ยอมรับและเลิกตั้งงบประมาณมาผลาญในโครงการถนนยางพาราแล้ว … จึงต้องขอเบรคโครงการแบริเออร์ยางพาราไว้ก่อนที่ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยและเป็นภาระกับงบประมาณในอนาคตที่จะต้องไปตามล้างตามเช็ดกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้จะค้านท่าเดียวนะ ผมสนับสนุนให้ทำในเชิงวิจัยและพัฒนา ค่อย ๆ ลองทำ ปรับปรุง และประเมินผล … “อย่าหาทำ” (ติตตั้งแบริเออร์ยางพารา 3 ปี 85,624 ล้านบาท) เลยนะโอ๋ #ภาษีกู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image