ผลจาก ‘ประชามติ’ เติมพลัง ‘บิ๊กตู่’ เข้มแข็งขึ้นทุกวัน

ปรากฏการณ์ทางการเมืองเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าพลิกไปพลิกมา

ความจริงเหตุการณ์ทางการเมืองไทยนั้นเริ่มเดายากมาตั้งแต่การทำประชามติแล้ว

ทั้งนี้ก่อนหน้ามีการลงประชามติทั้งร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง ได้ปรากฏกระแส “ไม่รับ” ดังอื้ออึง แต่ส่งเสียงดังไม่ได้

ยิ่งเมื่อพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือ เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ออกมาบอกรับไม่ได้

Advertisement

ยิ่งกลุ่มพลังการเมืองอย่างคนเสื้อแดงออกมาสำทับ มีเพียง กปปส. พลังเดี่ยวที่เห็นชอบไปกับ คสช. และ กรธ.

ยิ่งมองว่าร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงคงสะดุด

บ้างก็ว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่านเฉียดฉิว แต่คำถามพ่วงท่าทางจะไม่รอด

แต่ที่ไหนได้…ผลการประชามติออกมาว่าผ่านทั้งร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง

แถมยังผ่านฉลุยอีกด้วย !

 

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านการประชามติมา สิ่งที่ดำเนินการเป็นอันดับแรกคือการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ

ประเด็นปัญหาอยู่ที่การตีความคำถามพ่วง ซึ่ง สนช.มองว่า คำถามพ่วงที่ว่า “ให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบนายกรัฐมนตรี” นั้น คือให้ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีด้วย

มุมมองของ สนช. แตกต่างจากมุมมองของอดีต ส.ส. เพราะฝ่ายการเมืองเดิมมองว่า ถ้อยคำดังกล่าวเพิ่มอำนาจให้ ส.ว.แค่ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

แต่สิทธิในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรียังคงเป็นของ ส.ส.

ความขัดแย้งในถ้อยคำดังกล่าว ต้องพึ่งพา กรธ. เพราะเป็นผู้แก้ไขร่าง ซึ่งเดิมคาดหมายกันว่า กรธ.จะว่าไปตาม สนช.

ทั้งนี้เพราะ กรธ. และ สนช. มีต้นกำเนิดเดียวกันคือ เกิดขึ้นจาก คสช.

ยิ่งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีความเห็นว่า ส.ว.น่าจะได้เสนอชื่อในก๊อกที่สองด้วย

ความน่าจะเป็นที่ กรธ. แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก็ควรให้อำนาจ ส.ว.เสนอชื่อนายกฯ

แต่ที่ไหนได้… ผลการประชุมของ กรธ.ออกมาว่า ส.ว.มีสิทธิแค่ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ไม่ให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีดั่งที่ สนช.ต้องการ

มติดังกล่าวนำไปสู่การพาดหัว “กรธ.หัก สนช.” ในวันรุ่งขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำดังกล่าวยังต้องส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดูความถูกต้องอีกคำรบ

ศาลรัฐธรรมนูญจึงถูกจับตามองไม่แพ้แม่น้ำทั้ง 4 สายว่า จะมีความเห็นเช่นไร

มีความเห็นเหมือน กรธ. หรือเหมือน สนช. กันแน่

 

สถานการณ์ที่เรียกว่าโผพลิกนี้เกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่ผลประชามติ และผลการประชุมของ กรธ.เท่านั้น

หากแต่ในการแต่งตั้งโยกย้ายเหล่าทัพก็มีกระแสข่าว “โผพลิก”

เช่นกัน

ทั้งนี้ก่อนหน้ามีกระแสระบุถึง ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ซึ่ง พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ.คนปัจจุบันจะเกษียณอายุราชการลง จึงต้องหาคนมาแทน

แคนดิเดตสำหรับตำแหน่งใหญ่ “แม่ทัพบก” นี้มี 2 คนมาตั้งแต่แรก

หนึ่งคือ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท หรือ บิ๊กเจี๊ยบ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. อีกหนึ่งคือ พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร หรือ บิ๊กแกละ เสนาธิการทหารบก

โดยที่ชื่อของ พล.อ.พิสิทธิ์ มาแรงตั้งแต่ต้น ด้วยเหตุผลการวางตัวของ พล.อ.ประวิตร ที่ต้องการให้กองทัพบกมั่นคง

แต่ที่ไหนได้..เมื่อถึงโค้งสุดท้ายก่อนการทูลเกล้าฯ กลับมีกระแสข่าวสะพัดอีกรอบ

ชื่อของว่าที่ ผบ.ทบ.เปลี่ยนจาก พล.อ.พิสิทธิ์ มาเป็น

พล.อ.เฉลิมชัย ไปเสียเฉยๆ

เช่นเดียวกับอีกตำแหน่ง นั่นคือตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1

เดิมมีชื่อแคนดิเดตคือ พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพน้อยที่ 1 กับ พล.ต.กู้เกียรติ ศรีนาคา รองแม่ทัพภาคที่ 1

ชื่อแรกที่ติดโผคือ พล.ต.กู้เกียรติ

แต่ที่ไหนได้… เมื่อถึงโค้งสุดท้าย ชื่อของ พล.ท.อภิรัชต์ มาแรง

และแซงเข้าโค้ง

กลายเป็นตัวเต็งนั่งเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 1

ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงภายหลังจากที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตรเคยบอกว่าทุกอย่างเรียบร้อย

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงกระทบต่อ พล.อ.ประวิตร ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

และพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ ไม่มากก็น้อย

 

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์นั้น หลังจากผลประชามติออกมา

ดูเหมือนว่าโลกทางการเมืองจะสดใส

ทั้งนี้เพราะเมื่อประชาชนโหวตสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง นายไพบูลย์ นิติตะวัน ก็ประกาศตั้งพรรค

ภารกิจพรรคประชาชนปฏิรูปของนายไพบูลย์คือ ผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

ไม่เพียงเท่านั้น สนช. ซึ่งแสดงอาการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์หลายคนก็ออกมาตีความถ้อยคำในคำถามพ่วง

ผลักดันให้ ส.ว. 250 เสียงในสมัยหน้ามีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีและโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

เช่นเดียวกับโพลของนิด้า ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของประชาชนก็สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อย่างเต็มที่

นิด้าโพลเผยผลสำรวจระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่สอบผ่านทุกด้าน

แถมหลายด้านที่สอบผ่านยังได้รับความนิยมระดับสูงขึ้นอีกด้วย

ยิ่งเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เปิดบ้านให้ พล.อ.ประยุทธ์เข้าอวยพร

วันเกิดครบ 8 รอบ อายุ 96 ปี ที่บ้านสี่เสาฯ

พล.อ.เปรมกล่าวชื่นชม พล.อ.ประยุทธ์ในการบริหารประเทศ… เชียร์ให้นำประเทศต่อไป

ยิ่งสะท้อนให้เห็นพลังที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

 

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ก็ใช้มาตรา 44 ในการบริหารประเทศหลายอย่าง

ใช้ ม.44 ขจัดข้อสงสัยของร่างรัฐธรรมนูญ ที่เดิมสงสัยกันเรื่อง “เรียนฟรี 15 ปี” เพราะร่างรัฐธรรมนูญระบุให้ “ไม่น้อยกว่า 12 ปี” เท่านั้น

หลังจากเกิดเหตุชาวใต้ชายแดนไม่มั่นใจร่างรัฐธรรมนูญอันบัญญัติเกี่ยวกับศาสนา

พล.อ.ประยุทธ์ก็ใช้ ม.44 ขจัดข้อสงสัยด้วยการยืนยันว่ารัฐต้องคุ้มครองและสนับสนุนศาสนาทุกศาสนาอย่างเท่าเทียม

ในด้านการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ใช้ ม.44 ดำเนินการ “ฟันก่อน” แล้ว “เคลียร์ทีหลัง”

ล่าสุดทั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. และนพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ก็ต้องพักงานรอการสอบสวนให้เสร็จสิ้น

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ชูแนวทางการปราบปรามการทุจริต โดยทยอยทำคดีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลพรรคไทยรักไทย รัฐบาลพรรคพลังประชาชน

และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

ผลจากคำตัดสินในกรณีต่างๆ ตอกย้ำให้เห็นถึงผลการทำงานของรัฐบาลปัจจุบัน

ไม่ว่าจะเป็นผลการตัดสินใน สนช. กรณีถอดถอน ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินขององค์กรอิสระ

รวมไปถึงผลการตัดสินในชั้นศาล

ทั้งนี้มีคดีใหญ่คือคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยังต่อสู้กันอยู่

ดังนั้น เมื่อพิจารณาโดยสภาพ ณ ปัจจุบัน จากเสียงประชามติ การสนับสนุนจากสภานิติบัญญัติ การถดถอยของคู่ต่อสู้อย่างพรรคเพื่อไทย ฯลฯ

ตอกย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีพลังเต็มถัง…เข้มแข็งขึ้นทุกวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image