ผสานวัฒนธรรม ชี้ จนท.พยายามขอเก็บ DNA ผู้ถูกจับกุมม็อบทะลุฟ้า ย้ำขัดหลักสิทธิมนุษยชน ทุกคนมีสิทธิปฏิเสธ ขอเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของ ปชช.
เมื่อวันที่ 1 เมษายน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยกรณีการได้รับคำยืนยันจากทนายความของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และหนึ่งในทีมทนายของภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ว่า เจ้าหน้าที่มีความพยายามขอเก็บ DNA ผู้ถูกจับกุมจากเหตุสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า สืบเนื่องจากเหตุสลายการชุมนุมของหมู่บ้านทะลุฟ้า บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2564 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) จำนวน 4 กองร้อย เป็นผลทำให้มีผู้ถูกจับกุมและนำตัวไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค1 (บก.ตชด. ภาค1) ทันที 60 คน
ขณะที่ผู้ชุมนุมอีก 32 คน ที่ถูกจับเพิ่มเติมในเวลาเย็นวันเดียวกัน ถูกนำตัวไปยังกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ก่อนจะได้รับการประกันตัวกลางดึกของวันที่ 29 มี.ค.2564
พรพิมล มุกขุนทด ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และหนึ่งในทีมทนายของภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่การจับกุมผู้ชุมนุมรอบแรก ภายหลังการสลายการชุมนุมในช่วงเช้าวานนี้ มาจนถึงการจับกุมครั้งที่สอง เมื่อเย็นวันเดียวกัน พบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามที่จะขอตรวจเก็บสารพันธุกรรม หรือ DNA ของผู้ถูกจับกุมทั้งสองครั้ง แม้ผู้ถูกจับจะสามารถปฏิเสธไม่ให้คำยินยอมในที่สุด
แต่การขอเก็บสารพันธุกรรมยังคงเป็นเรื่องที่สร้างความฉงนใจให้กับผู้ถูกจับกุมถึงขอบเขตและอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมาก เนื่องจากสารพันธุกรรมเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ใช้ระบุตัวตน และสามารถนำไปใช้งานได้ทั้งในแง่คุณและโทษได้
ทั้งนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงได้จัดทำอินโฟกราฟิก “ว่าด้วยเรื่อง DNA เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีอำนาจเก็บ DNA ไปจากเรา” ขึ้น
เพื่อทบทวนสิทธิให้กับประชาชนผู้ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านการชุมนุมโดยสงบ ที่อาจตกเป็นเป้าของเจ้าหน้าที่รัฐในการบุกเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมโดยมิชอบ ซึ่งอาจตามมาด้วยการสูญเสียสิทธิเสรีภาพบางประการ รวมทั้งการถูกตรวจเก็บ DNA จากความไม่รู้ได้
โดยอินโฟกราฟิกนี้จะเป็นเครื่องยืนยันว่า
1) บุคคลทุกคนมีสิทธิในชีวิต เนื้อตัว ร่างกาย และสิทธิในความเป็นส่วนตัวที่รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับสารพันธุกรรม หรือ DNA ของตน ที่บุคคลอื่นใดหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่อาจล่วงละเมิดได้ และการตรวจเก็บ DNA ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงโดยที่บุคคลนั้นไม่สมัครใจ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิดกฎหมาย
2) การจัดเก็บ DNA จากประชาชน เจ้าหน้าที่จะทำได้เฉพาะกรณีที่ประชาชนตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา โดยผู้ต้องหายินยอมและเป็นไปตามเงื่อนไขในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 และ 131/1 ซึ่งระบุไว้ดังนี้
2.1) ผู้เก็บต้องเป็นพนักงานสอบสวน (เจ้าหน้าที่ตรวจชั้นสัญญาบัตร) หรือแพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง
2.2) การเก็บต้องทำเพื่อประโยชน์ต่อคดีความที่มีการกระทำความผิดทางอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงกว่า 3 ปี
2.3) เก็บได้เพียงแค่ DNA ของผู้ต้องหาที่ได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ผู้เสียหาย และบุคคลที่เกี่ยวข้อง
2.4) เจ้าหน้าที่ต้องได้รับคำยินยอมจากผู้ถูกเก็บ หากปฏิเสธ ผู้ต้องหาที่จะปฏิเสธหรือไม่ยินยอมต้องมีเหตุผลตามสมควร หากไม่มีเหตุผล พนักงานสอบสวนที่มีคำสั่งให้เก็บ DNA จะสันนิษฐานว่าผลการตรวจเป็นผลเสียต่อผู้ต้องหา
ในกรณีของการบังคับตรวจ DNA ของประชาชนทั่วไปในพื้นที่ชายแดนใต้โดยหน่วยงานความมั่นคง เจ้าหน้าที่จึงไม่มีอำนาจในการเก็บ DNA ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา
3) การจัดเก็บ DNA โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากบุคคลที่ถูกจับกรณีการสลายการชุมนุมที่หมู่บ้านทะลุฟ้า แม้ทนายความจะเข้าชี้แจงและห้ามไม่ให้ตรวจเก็บ DNA ผู้ถูกจับกุม หรือแม้แต่ลงชื่อในเอกสารยินยอมใดๆ ก็ตาม แต่ในพื้นที่อื่น อาทิ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือหมู่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เจ้าหน้าที่ยังดำเนินการจัดเก็บ DNA จากประชาชนในลักษณะกดดันและข่มขู่อยู่
4) เจ้าหน้าที่มักไม่ได้ให้ข้อมูลต่อประชาชนเกี่ยวกับการจัดเก็บ DNA อย่างเพียงพอว่า เก็บไปเพื่อวัตถุประสงค์ ใครเป็นผู้ตรวจเก็บและผู้รักษา มีการเก็บรักษาอย่างไร และใครบ้างที่มีอำนาจเข้าถึง DNA รวมทั้งการจัดเก็บ DNA จะสามารถตรวจสอบความเป็นธรรมและโปร่งใสได้อย่างไร เป็นต้น รวมทั้งต้องอธิบายถึงสิทธิที่ประชาชนจะปฏิเสธการให้ข้อมูล DNA ได้ โดยไม่มีความผิดใด เพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระว่าจะให้ความยินยอมหรือไม่
โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่า การกระทำในลักษณะดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐทบทวนการทำงานของตนเพื่อให้สอดคล้องหลักการสิทธิมนุษยชน และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กัมพูชา แจงยูเอ็น กรณีวันเฉลิม ก่อนฮุนเซนมาไทย อ้างไม่พบจนท.เอี่ยว จึงไม่ใช่กรณีอุ้มหาย
- กองทัพบก ยังไม่ชดใช้ ตามคำสั่งศาล จ่าย 2 ล้าน เยียวยา คดีวิสามัญ ชัยภูมิ ป่าแส
- คิกออฟ รพ.ราชพิพัฒน์ เก็บ DNA พิสูจน์-คืนสิทธิบุคคลมีปัญหาสถานะในพื้นที่กรุงเทพฯ
- รุม ‘พิธา’ แน่นวัดพระยาสุเรนทร์ ผูกข้อมือเดือนเก้า ปกากะญอร่วมนับพัน