เปิดตัว ‘OctDem’ คนเดือนตุลา ขออัยการทบทวนท่าที ยึด ‘นิติรัฐ’ ยัน ต่างความคิด ต้องไม่ผิดถึงตาย

เปิดตัว ‘OctDem’ คนเดือนตุลา ขอ อัยการทบทวนท่าที ยึด ‘นิติรัฐ’ หวั่น ปวศ.รุนแรงซ้ำรอย ยัน ต่างความคิด ต้องไม่ผิดถึงตาย

เมื่อเวลา 13.00 น วันที่ 2 เมษายน ที่ประติมานุสรณ์ 6 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการแถลงข่าวเปิดตัว กลุ่ม OctDem หรือ กลุ่มคนตุลาเพื่อประชาธิปไตย นำโดย นายเกรียงกมล เลาหไพโรจน์, นายจาตุรนต์ ฉายแสง, นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, นายสมศักดิ์ ปริศนานันนทกุล และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี

พร้อมทั้งแถลงเรียกร้องต่อขบวนยุติธรรม ให้ยึดมั่นในหลักนิติธรรม นิติรัฐ ตามหลักสากล ก่อนเดินทางไปยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของกลุ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติ รวมถึง นายสนานจิตต์ บางสพาน นักเขียนและนักวิจารณ์ภาพยนตร์ ไปจนถึงอาจารย์ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประชาชนราว 50 คน ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย

Advertisement

นายสิตา การย์เกรียงไกร อดีตกรรมการ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) กล่าวเปิดตัวกลุ่ม OctDem ความว่า พวกเราที่มารวมตัวกัน ณ ที่นี้ ในวันนี้ ล้วนเคยเป็นคนหนุ่มสาวนักกิจกรรมที่คิดต่าง พูดต่าง เขียนต่าง และทำต่างจากกรอบปฏิบัติที่ชนชั้นปกครองอยากให้พวกเราเป็น

นายสิตากล่าวว่า เราเคยเป็นเยาวชนคนหนุ่มสาว เช่นเดียวกับเยาวชนคนหนุ่มสาวทุกยุคสมัย เยาวชนคนหนุ่ม คนสาวที่ใฝ่ฝันจะได้เห็นสังคมงดงามของประชาชนทุกหมู่เหล่า และเชื่อมั่นในการอุทิศตนเพื่อสร้างสรรค์สังคมแสนงามนั้นอย่างสุดจิตสุดใจ

นายสิตากล่าวว่า  พวกเราคือกลุ่มคนที่ชนชั้นปกครองในยุคนั้นตราหน้าว่า เป็นพวกหัวรุนแรง เป็นพวกป่วนบ้าน กวนเมือง ทั้งนี้ ที่เราเคลื่อนไหวเพื่อสังคมแสนงามของเรา เราถูกขัดขวาง ต่อด้าน ดักทำร้าย จนถึงขั้นถูกทำให้ตายในหลายครั้งหลายคราว

Advertisement

“ในช่วง 6 ตุลา 2519 การเข่นฆ่า สังหารโหดพวกเรา เกิดขึ้นที่นี่ ตรงนี้ ในเช้าตรู่ต่อถึงสายของวันนั้น

“หลายคนเสียชีวิต หลายคนถูกจับ จำคุก ตีตรวน หมดอิสรภาพ เป็นผู้ต้องหาคดีกบฎในราชอาณาจักรที่มีอัตราโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต พวกเราหลายร้อย หลายพันคน มุ่งหน้าสู่ชนบท เขตป่าเขา จับอาวุธสู้กับอำนาจรัฐทราม

 


“ในวันนั้นเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่เพื่อนเราคนหนึ่งได้นิยามมันสั้นๆ ไว้ว่า เป็นประวัติศาสตร์บาดแผล ที่ลืมไม่ได้ จำไม่ลง เป็นประวัติศาสตร์ที่ผู้ปกครองในวันนั้นต้องสำเหนียกในอีก 2-3 ปีต่อมาจนพวกเขาต้องรีบหาทางเยียวยา สร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยใหม่อีกครั้ง

“เปลี่ยนหัวโขนจากรัฐบาลขวาสุดโต่งที่กำจัดคนเห็นต่าง สร้างแนวนโยบาย 66/23 ออกกฎหมายนิรโทษกรรมพวกเรา ที่ว่าไปแล้วเป็นโจทก์คดี 6 ตุลา ที่พวกเขาก่อขึ้นได้ออกจากคุก และพวกเราที่เดินป่าท่องไพรตามทางฝันได้กลับมาศึกษาเล่าเรียน ร่วมสร้างสรรค์ประชาธิปไตยให้แก่ประเทศชาติ บ้านเกิด” นายสิตากล่าว

นายสิตากล่าวต่อว่า เรากลับเข้าเมือง ทำหน้าที่ประชาชนพลเมืองที่ดีซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศของเรา ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ประกอบอาชีพแตกต่างหลากหลาย เป็นครูบาอาจารย์ พ่อค้า นักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม และนักการเมือง

นายสิตากล่าว จนถึงวันนี้ ปีพุทธศักราช 2564 เป็นเวลา 45 ปี นับจากเหตุการณ์ 6 ตุลา เหมือนประวัติศาสตร์อำมหิตกำลังหวนกลับมาอีกครั้ง รอที่จะสร้างบาดแผลใหม่ เมื่อเยาวชนคนหนุ่มคนสาวผู้มีอุคมการณ์ของวันนี้ ได้รวมตัวกันบอกกล่าวกับสังคมว่า สังคมงดงามของปวงชนที่พวกเขาอยากเห็นและอยากมีชีวิตอยู่เป็นเช่นไร แต่พวกเขากลับถูกจับกุมคุมขัง ด้วยอำนาจรัฐและข้ออ้างทางกฎหมาย มีการจัดชุดควบคุมฝูงชน ยิงแก๊สน้ำตา ฉีดน้ำแรงดันสูง เข้าสลายการชุมนุมที่กระทำอย่างสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ

นายสิตากล่าวว่า เยาวชนคนหนุ่มคนสาวนับสิบนับร้อยถูกแจ้งข้อหาร้ายแรง ถูกจับกุมคุมขังในเรือนจำเสมือนผู้ต้องโทษที่ผ่านการตัดสินความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจบสิ้นกระบวนความไปแล้ว ถูกจับกุมคุมขังอยู่ในเรือนจำที่มีสภาพไม่ต่างจากนรกบนแผ่นดิน

“ตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม ที่เป็นสากล พวกเขาต้องได้รับการประกันตัวในฐานะมนุษย์ที่ยังไม่ถูกพิพากษาว่า ได้กระทำผิดจริง เรา คนหนุ่มคนสาวในยุคนั้น จึงรวมตัวกันอีกครั้งในวันนี้ ในนาม คนเดือนตุลาเพื่อประชาธิปไตย Octoberists For Democracy หรือ OctDem เราไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์บาดแผลของพวกเราที่เคขถูกกระทำในอดีดและยังไม่ได้รับความยุดิธรรมเกิดขึ้นอีกครั้งกับเยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นลูกหลานของเราในวันนี้

“ประวัติศาสตร์บาดแผลที่โหคร้ายป่าเถือน เช่น เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เกิดขึ้นครั้งเดียวก็เกินพอแล้ว เราไม่ควรปล่อยให้มันเกิดขึ้นมาอีกในชั่วชีวิตของคนรุ่นเรา การจับกุมคุมขัง เข่นฆ่า ล่าสังหาร กดข่มผู้คน คนหนุ่มคนสาว คนเห็นต่าง ต้องไม่หวนกลับมา สังคมนี้ต้องสรุปบทเรียน ไม่กระทำผิดซ้ำซาก


“การล้อมปราบ การเข่นฆ่าอย่างโหดเหี้ยมของกองกำลังอาวุธต่อผู้คนในชาติที่เกิดขึ้น ครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 และเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2552 และ 2553 มันมากเกินพอที่เราจะสรุปบทเรียนได้แล้วว่าการแก้ปัญหาด้วยวีธีใช้ความรุนแรงไม่สามารถหยุด สยบ ความเห็นต่าง พูดต่าง ทำต่าง ไม่สามารถยุติความขัดแย้งใดๆ ได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว มีแต่การรับฟัง ร่วมกันแก้ไข ด้วยนิติรัฐ นิติธรรม คนเท่ากันเท่านั้น สังคมนี้จึงจะดำรงอยู่ร่วมกันได้ อย่างสงบ สันติ

“ต่างความคิด ต้องไม่ผิดถึงตาย และยิ่งไม่ผิดถึงขนาดต้องจับกุมคุมขังให้หมดสภาพ ในระหว่างการต่อสู้คดี เช่นที่เป็นอยู่ในวันนี้ เวลานี้” นายสิตากล่าว

ด้าน นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ท่านที่เคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคมแล้วมารวมกลุ่มในวันนี้ ในชื่อ กลุ่มตุลาคมเพื่อประชาธิปไตย ตนเองเป็นคนรุ่นก่อน ก่อนคนเดือนตุลาคม ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตนได้เรียจบแล้วจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กับอาจารย์ชาญวิทย์ เพราะเรามาจากสำนักเดียวกัน

นายพนัสกล่าวว่า ตนได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 แล้วก็รู้สึกปลื้มปีติยินดีกับชัยชนะในการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ ในยุคนั้น เป็นนิสิต นักศึกษา นักเรียน เยาวชนรุ่นใหม่ มีความรู้สึกว่าได้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน” แต่หลังจากนั้นตนได้ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาขึ้นมา ตนก็รู้สึกเศร้าสลด เสียใจเป็นอย่างยิ่ง ไม่สามารถที่จะตอบคำถามเพื่อนนักศึกษา หรือคนต่างชาติว่ามันเกิดอะไรขึ้นในเมืองไทย เขาไม่กล้าพูดว่าทำไมถึงป่าเถื่อนขนาดนั้น

“ตั้งแต่นั้นมา ก็รู้สึกว่าเราต้องมีคอมเมนต์อะไรบางอย่างเพื่อประเทศชาติและสังคมที่ดีกว่าในปัจจุบันและ นี่คือสิ่งที่ผมมุ่งมั่น ยึดถือ เชื่อถือ และศรัทธามาตลอด คือการที่จะพยายามแสวงหาสิ่งที่เราเรียกว่าเสรีภาพ การต่อสู้เพื่อเสรีภาพโดยเฉพาะยิ่งเป็นข้าราชการยิ่งทำอะไรไม่ได้มาก ผมก็จะช่วยมาโดยตลอด ช่วยในสิ่งที่สามารถจะช่วยได้ ในการเขียนหรือการแสดงออก พยายามเท่าที่จะทำได้ให้ดีที่สุด

“มาจนถึง ณ วันนี้ มันเป็นความรู้สึกที่ค่อนข้างจะสลดใจ เหตุการณ์เมื่อ 45 ปีก่อนดูเหมือนมันจะเวียนกลับมาอีกครั้งแล้ว ผมหวังว่ามันจะไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างที่เคยเกิดในยุคปัจจุบันนี้

“ผมหวังว่า ท้ายที่สุดจะมีการทบทวนความคิด ท่าทีต่างๆ ของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับศาลยุติธรรม ที่ในระบอบประชาธิปไตยจะต้องมีบทบาทในการปกป้องและส่งเสริมนักศึกษา เป็นสิทธิชอบธรรมของประชาชน ต้องปกป้องคุ้มครอง การที่ประชาชนจะถูกย่ำยีจากฝ่ายอำนาจรัฐโดยไม่เป็นธรรม ผมเชื่อว่าจากการที่นักศึกษารวมตัวกับคน 6 ตุลาในวันนี้จะมีส่วนช่วยในสิ่งที่เราคาดหวัง และสิ่งที่เรามุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่ให้เกิดขึ้นอีก” นายพนัสกล่าว

ต่อมา นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนไม่ใช่คนเดือนตุลา แต่เป็นคนที่อยู่ในช่วงประวัติศาสตร์ชาติ ผมทำงานกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ชื่อว่าป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเหยื่อรายแรกของ 6 ตุลาคนหนึ่งก็คือ อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์

ชาญวิทย์


“ผมคงไม่มีอะไรจะกล่าวไปมากกว่าคำว่า ผมอยากจะเห็นกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยดำเนินการไปตามตัวบทกฎหมายที่แท้จริง

“ผมอยากจะบอกไปยังบรรดาผู้พิพากษาทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่จบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสถาปนาโดยท่านปรีดี พนมยงค์ และผู้ประศาสน์การ ซึ่งมีอธิการบดีคนแรกชื่อว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในแง่ของนิติธรรมและนิติรัฐ ผมขอฝากไปยังบรรดาผู้พิพากษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่จบจากธรรมศาสตร์คนที่จบจากนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์” นายชาญวิทย์กล่าว

จากนั้น เป็นการอ่านกลอน “ตรองค่าตราชู” โดย “ยังวัน” ก่อนอ่านแถลงการณ์ถึงศาลยุติธรรม

โดยเวลา 14.13 น. กลุ่ม OctDem มุ่งหน้า ไปยังศาลฎีกา เพื่อยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม และประธานศาลฎีกา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image