นักเศรษฐศาสตร์ ยกสถิติชี้กำลังพลทหารไทยเยอะสวนชาวโลก เตือนถึงเวลาทบทวนจริงจัง

เมื่อวันที่ 2 เมษายน นายเดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เขียนบทความในประเด็นอัตรากำลังพลของกองทัพไทย เผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัว  ระบุว่า

การเพิ่มอัตรากำลังพลของกองทัพไทย กำลังสวนทางภาพรวมของโลก เมื่อถึงเดือนเมษายน ผมก็มักจะได้ยินข่าวการเกณฑ์ทหาร วันนี้ ผมเลยลองไปสืบค้นดูว่า กำลังพลของกองทัพไทยนั้นมีมากน้อยเท่าไร เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร และกำลังแรงงาน (คือไม่รวมเด็กและผู้สูงอายุ) ของประเทศ โดยผมได้ข้อมูลมาจาก 2 แหล่งคือ Our World in Data และ World Bank ครับ

ข้อมูลจาก Our World in Data เทียบเป็นอัตรากำลังพลของกองทัพต่อประชากร พบว่า กองทัพไทยมีอัตรากำลังพลเพิ่มขึ้นจาก 0.45% ของประชากร ในปี 2528 เป็น 0.66% ของประชากร ในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้น 45% โดยเปรียบเทียบ

ทิศทางการเพิ่มขึ้นของกองทัพไทยดังกล่าว สวนทางกับภาพรวมของโลก ที่มีอัตรากำลังพลลดลงจาก 0.46% ของประชากรในปี 2528 (มากกว่าไทยในปีนั้นเล็กน้อย) มาเป็น 0.37% ของประชากร ในปี 2558 (น้อยกว่าไทยเกือบครึ่งหนึ่ง) หรือหากเทียบระหว่าง 2 ช่วงเวลา ภาพรวมของกองทัพทั้งโลกต่อประชากรลดลงถึง 19%

Advertisement

หากพิจารณาจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง (Middle income countries) อัตรากำลังพลลดลงจาก 0.38% มาเป็น 0.34% ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือลดลง 8% ส่วนประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper middle income countries) อัตรากำลังพลลดลงจาก 0.44% มาเป็น 0.38% ของประชากรในช่วงเวลาเดียวกัน หรือลดลง 14% โดยเปรียบเทียบ สำหรับกลุ่มประเทศรายได้สูงนั้น การลดอัตรากำลังพลยิ่งเห็นได้ชัดเจน โดนลดลงจาก 0.75% ในปี 2528 มาเป็น 0.46% ในปี 2558 หรือลดลงกว่า 39%

กล่าวโดยนัยยะนี้ ก็คือ นอกจาก ประเทศไทยของเราจะมีอัตรากำลังพลเพิ่มขึ้นสวนทางกับภาพรวมของโลกแล้ว เรายังมีอัตรากำลังพลสูงกว่ากลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง และกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงเป็นอย่างมาก

ตัวอย่างประเทศที่ใกล้เคียงกับไทยในทางเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์คือ เวียดนาม และมาเลเซีย ในปี 2518 ทั้งสองประเทศมีอัตรากำลังพลต่อประชากร 1.74% และ 0.71% ของประชากร ซึ่งมากกว่าประเทศไทยในปีนั้นทั้งคู่ แต่พอมาถึงในปี 2558 ปรากฏว่า อัตรากำลังพลของทั้งสองประเทศลดลงเหลือ 0.57% และ 0.43% ของประชากร ซึ่งเป็นอัตราที่น้อยกว่าประเทศไทยทั้งคู่ โดยในกรณีของเวียดนามอัตรากำลังพลต่อประชากรลดลง 67% โดยเปรียบเทียบ และของมาเลเซียลดลง 38% โดยเปรียบเทียบ

Advertisement

ส่วนในฐานข้อมูลของ World Bank ใช้ตัวเทียบที่แตกต่างไปเล็กน้อยคือ เทียบอัตรากำลังพลต่อกำลังแรงงานของประเทศนั้น (คือ ไม่รวมเด็กและผู้สูงอายุ) และเป็นการเทียบระหว่างปี 2533 กับปี 2561

ผลออกมาใกล้เคียงกันกล่าวคือ กองทัพไทยของเรามีอัตรากำลังพลต่อ  กำลังแรงงานเพิ่มขึ้น จาก 0.95% ของกำลังแรงงาน ในปี 2533 มาเป็น 1.17% ของกำลังแรงงาน ในปี 2561 (หรือเพิ่มขึ้น 23% โดยเปรียบเทียบ)

ในขณะที่ภาพรวมของทั้งโลกลดลงจาก 1.11% (มากกว่าไทย) มาเป็น 0.81% (น้อยกว่าไทย) ของกำลังแรงงาน ในช่วงเวลาเดียวกัน (หรือลดลง 27% โดยเปรียบเทียบ)

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง (อัตรากำลังพล 0.75% ของกำลังแรงงานในปี 2561) และ กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (อัตรากำลังพล 0.70% ของกำลังแรงงานในปีเดียวกัน) แล้วพบว่า ประเทศไทยมีอัตรากำลังพลต่อกำลังแรงงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งสองกลุ่มประเทศ (ที่ไทยเป็นสามาชิกอยู่) ถึง 56% และ 67% ตามลำดับ

ส่วนในกรณีของประเทศเวียดนามและมาเลเซียนั้น อัตรากำลังพลของเวียดนามต่อกำลังแรงงานลดลงจาก 3.18% ในปี 2533 เป็น 0.92% ของกำลังแรงงาน ในปี 2561 และมาเลเซียลดลงจาก 1.84% มาเป็น 0.88% ของกำลังแรงงานในช่วงเวลาเดียวกัน หรือลดลง 71% และ 52%% ตามลำดับ

และจากการลดลงของอัตรากำลังพลดังกล่าว ทั้งสองประเทศซึ่งเคยมีกำลังพลต่อกำลังแรงงานมากกว่าไทย ปัจจุบันนี้ทั้งสองประเทศล้วนมีกำลังพลต่อกำลังแรงงานน้อยกว่าไทยแล้วทั้งสิ้น

สำหรับเพื่อนบางท่านที่อยากเห็นตัวอย่างของประเทศที่มีอัตรากำลังต่อประชากรเพิ่มขึ้น ก็มีหลายประเทศนะครับ เช่น เมียนมา เพิ่มจาก 0.50% ของประชากรในปี 2528 เป็น 0.98% ของประชากรในปี 2558 (เพิ่มขึ้น 96%) กัมพูชา เพิ่มจาก 0.45% มาเป็น 1.23% ของประชากรในช่วงเวลาเดียวกัน (เพิ่มขึ้น 172%) หรือสิงคโปร์ เพิ่มจาก 2.01% ของประชากร มาเป็น 2.67% ของประชากร (เพิ่มขึ้น 33%) เป็นต้น แต่โดยภาพรวมแล้ว ประเทศส่วนใหญ่มีอัตรากำลังพลลดลง ดังที่เห็นในค่าเฉลี่ยของทั้งโลก และของกลุ่มประเทศต่างๆ ซึ่งผมได้แสดงไปแล้ว

เมื่อเห็นแนวโน้มและภาพรวมทั้งโลก และในกลุ่มประเทศตามชั้นเศรษฐกิจที่เราอยู่ และเพื่อนบ้านที่มีสถานะทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกับเราแล้ว ผมคิดว่า อัตรากำลังพลของกองทัพไทยนั้นเกินกำลังไปมาก และจะกลายเป็นภาระทั้งทางงบประมาณ และภาระต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนเอง (ในกรณีของการเกณฑ์ทหาร)
เพราะฉะนั้น ด้วยจำกัดทางงบประมาณ และสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 และรูปแบบการดูแลความมั่นคงของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ผมคิดว่าก็น่าจะถึงเวลาที่เราทบทวนอัตรากำลังพล และการเกณฑ์ทหารของเราอย่างจริงจัง โดยพิจารณาแนวโน้มการบริหารจัดการของทั้งโลกประกอบกันด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image