เปิดศึกอีกรอบ แก้ไข รัฐธรรมนูญ การเมือง เพิ่มอุณหภูมิ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังกลายเป็นความขัดแย้งอีกรอบทางการเมือง

เมื่อ น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐในฐานะโฆษกพรรค เปิดเผยว่า

“ขณะนี้พรรค พปชร.ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … ฉบับสมบูรณ์แล้ว โดยเตรียมที่จะยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราต่อที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 7 เมษายนนี้

วันนี้พรรคพร้อมที่จะหาทางออกประเทศ ด้วยการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ในทางที่ไม่ขัดกับกฎหมายและความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

Advertisement

ทั้งนี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวถึงเนื้อหาว่า ร่างของพรรค พปชร.ที่จะแก้ไข จะใช้เสียง ส.ส.ร้อยคนขึ้นไปยื่นแก้ไข

มีทั้งหมด 5 ประเด็น 13 มาตรา ประกอบด้วย

1.ระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียว จะแก้ไขเป็นบัตร 2 ใบ คือประกอบด้วย ส.ส.เขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน

Advertisement

2.มาตรา 29 เพิ่มสิทธิเสรีภาพในกระบวนการยุติธรรมให้แก่ประชาชน และสิทธิชุมชนจะให้รัฐจัดให้มีทนายความในการต่อสู้คดีกับภาครัฐ

3.มาตรา 144 ปรับปรุงเกี่ยวกับการเข้าไปใช้งบประมาณของประเทศให้มีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น กลับไปใช้เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2550

4.มาตรา 185 ผ่อนคลายให้ ส.ส.สามารถเข้าไปติดตามข้าราชการและช่วยเหลือความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเพิ่มขึ้น

และ 5.มาตรา 270 ในบทเฉพาะกาล แก้ไขให้รัฐสภา โดย ส.ส. ส.ว.เข้าไปติดตาม เสนอแนะเร่งรัดการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ จากเดิมที่ให้ ส.ว.ดำเนินการเพียงลำพัง

ไม่มีการแตะต้องวุฒิสภา

ขณะที่พรรค พปชร.เคลื่อนไหว พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นคนตั้งเงื่อนไขต่อการร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่แรกว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีความเคลื่อนไหวเช่นกัน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เมื่อต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จต้องมาแก้รายมาตรา

ในฐานะหัวหน้าพรรคได้สั่งฝ่ายกฎหมายของพรรคยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขรายมาตราอย่างน้อยที่สุด แก้มาตรา 256 เป็นการสะเดาะกลอนเพื่อให้ประตูประชาธิปไตยเปิด

รวมถึงเรื่องอำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ในวันที่ 7-8 เมษายน พรรค ปชป.จะขอเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลให้ร่วมลงชื่อเพื่อนำไปเสนอต่อประธานรัฐสภาต่อไป

ขณะที่ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. เปิดเผยการหารือร่วมกับตัวแทน 3 พรรค ประกอบด้วยพรรคภูมิใจไทย คือ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา คือ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายชินวรณ์ด้วย

จากการหารือมีความเห็นร่วมกันที่จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา จะแยกเสนอเป็นรายฉบับดังนี้

ฉบับที่ 1 ประเด็นมาตรา 256 แก้ไขจากยากให้ง่ายขึ้น โดยใช้เสียง 3 ใน 5

ฉบับที่ 2 ประเด็นมาตรา 272 ส.ว.ไม่มีสิทธิโหวตนายกรัฐมนตรี

ฉบับที่ 3 ประเด็นหมวดสิทธิเสรีภาพและสิทธิชุมชน

ฉบับที่ 4 ประเด็นหมวดการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและธรรมาภิบาล

ฉบับที่ 5 ประเด็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

และฉบับที่ 6 ประเด็นที่ระบบการเลือกตั้งเป็นระบบบัตร 2 ใบ

โดยได้มอบหมายให้พรรค ปชป.ไปยกร่างและนำกลับมาหารือร่วมกันอีกรอบในสัปดาห์หน้า โดยคาดว่าจะเสนอต่อประธานรัฐสภาได้ในสมัยประชุมที่จะถึงนี้แน่นอน

แตะอำนาจ ส.ว. และปลดล็อกแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ไปดูความเคลื่อนไหวกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายรัฐบาล

จากรายงานข่าวเบื้องต้น ทราบว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เตรียมเปิดแคมเปญรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ในวันที่ 6 เมษายน ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ชูสโลแกน “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์”

ตั้งเป้า 6 เดือนนับจากนี้ ล่ารายชื่อ 1 ล้านรายชื่อ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา

ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เช่น ยกเลิก ส.ว. ปฏิรูปที่มาศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เพื่อไม่ให้กลายเป็นเครื่องมือฝักฝ่ายการเมืองใช้จัดการฝ่ายตรงข้าม ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและกฎหมายปฏิรูปประเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้นายปิยบุตรจะเป็นผู้นำคาราวานออกเดินสายทั่วประเทศเพื่อล่ารายชื่อ

เริ่มจากการเปิดตัวเเคมเปญที่ กทม. จากนั้นออกเดินสายไปที่ 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น และปัตตานี

หากได้ครบ 1 ล้านรายชื่อช่วงปลายปี 2564 นายปิยบุตรจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ารัฐสภาต่อไป

เป้าหมายคณะก้าวหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ รื้อนั่งร้านระบอบสืบทอดอำนาจ

แค่เริ่มต้นตั้งแท่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบใหม่ เป้าหมาย เนื้อหา กลยุทธ์ ที่ปรากฏก็แตกต่างกัน

พรรค พปชร. เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่แตะวุฒิสภา ย่อมมีเป้าหมายที่คะแนนเสียงสนับสนุน

พรรคร่วมรัฐบาลทั้งพรรค ปชป. พรรค ภท. และพรรค ชทพ. ที่ต้องเดินหน้ามาตรา 256 ก็เพราะได้เคยให้คำมั่นสัญญาไปแล้ว

ข้อเสนอที่แตกต่างระหว่างพรรค พปชร.กับพรรคร่วมรัฐบาล ในประเด็นนี้ จะกลายเป็นคำตอบเรื่องจุดยืน และตอบคำถามเรื่องการฮั้ว

ส่วนข้อเสนอของคณะก้าวหน้าจะกลายเป็นแรงกดดันทันทีเมื่อผู้ลงชื่อได้ตามเป้า 1 ล้านคน

แต่ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะสนองเป้าหมายลดความขัดแย้งยังคงเป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา จะสะท้อนให้เห็นการตอบสนองความต้องการทางการเมือง

แต่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งจะตอบสนองเป้าหมายลดความขัดแย้ง

การจะขับเคลื่อนไปถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ต้องผ่านการประชามติ ซึ่งขณะนี้ต้องรอ พ.ร.บ.ประชามติฉบับใหม่ประกาศใช้

ดังนั้น กฎหมายประชามติจึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ สมควรจะต้องเฝ้าจับตามอง

แต่ความเคลื่อนไหวทั้งหมดล้วนบ่งชี้ต่อไปว่า ความร้อนแรงทางการเมืองยังไม่ยุติ

ศึกแก้ไขรัฐธรรมนูญยังเป็นชนวนร้อนแรงต่อไป

และจะยิ่งร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าการเมืองจะบรรลุเป้าหมายลดความขัดแย้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image