พิมพ์เขียวรธน.ฉบับพปชร. แก้5ปมย่อย-คงอำนาจส.ว.

พิมพ์เขียวรธน.ฉบับพปชร. แก้5ปมย่อย-คงอำนาจส.ว.

พิมพ์เขียวรธน.ฉบับพปชร.
แก้5ปมย่อย-คงอำนาจส.ว.

หมายเหตุ – แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ ที่แถลงโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และความเห็นของ น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.)


ไพบูลย์ นิติตะวัน
ส.ส.บัญชีรายชื่อ
รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ขณะนี้ ส.ส.พรรค พปชร.ได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา ได้ลงนามรายชื่อทั้งหมดครบแล้วและจะยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในวันที่ 7 เมษายนนี้ โดยประเด็นที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนในระหว่างที่เป็นกรรมาธิการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้านและ ส.ว. จนความคิดเห็นตกผลึกในรายมาตรา จนยกร่างออกมาเป็นญัตติดังกล่าว 5 ประเด็น ใน 13 มาตรา

Advertisement

คือ ประเด็นที่ 1.แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพแก้ไขมาตรา 29, 41 และ 45 เป็นการเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรมซึ่งเพิ่มขึ้นอีก 8 อนุมาตราในมาตราที่ 29 และเพิ่มให้ชุมชนมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากรัฐอย่างเหมาะสมจากรัฐในการฟ้องหน่วยงานของรัฐ

ซึ่งเดิมในมาตรา 41 เขียนให้มีการฟ้องร้องเฉยๆ แต่ชุมชนไม่ทราบว่าจะฟ้องร้องอย่างไร จึงต้องเขียนเพิ่มให้

ประเด็นที่ 2 พรรคการเมืองในขณะนี้ทุกพรรคมีปัญหาการทำไพรมารีโหวต ดังนั้นเพื่อแก้อุปสรรคการทำงานของพรรคการเมือง จึงแก้ไขมาตรา 45 โดยนำรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 47 มาใช้แทน และเป็นการแก้ไขระบบเลือกตั้งมาตรา 83, 85, 86, 90, 91, 92 และมาตรา 94 โดยแก้ไขให้การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นแบบบัตรสองใบ

Advertisement

ซึ่งจะเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 และให้ ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน รวมทั้งมีการแก้ไขให้การประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้ประกาศผลภายใน 60 วัน ก็จะแก้ให้มีการประกาศผลภายใน 30 วัน

รวมทั้งให้พรรคการเมืองใดที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตแล้วไม่น้อยกว่า 100 เขต จึงมีสิทธิที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้มีพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นส่งแต่ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นปัญหาให้กับคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ในการเผยแพร่ผู้สมัครไปทั่วประเทศและหากไม่แก้จะทำให้มีพรรคการเมืองหลายร้อยพรรค เมื่อแก้ประเด็นนี้แล้วจะทำให้เหลือเพียงพรรคการเมืองหลาย 10 พรรคที่เข้าหลักเกณฑ์

ซึ่งคิดว่าเพียงพอที่ประชาชนจะเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งด้วยคะแนนหนึ่งเสียงของท่าน และพรรคการเมืองใดได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศให้ถือว่าไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งและไม่ให้นำคะแนนเสียงดังกล่าวมารวมคะแนนเพื่อหาสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งประเด็นนี้เพื่อไม่ให้มี ส.ส.ปัดเศษ

ดังนั้นพรรคการเมืองต้องได้ ส.ส.อย่างน้อย 1% ถึงจะได้ ส.ส.หนึ่งคน นอกจากนั้นแก้ไขเมื่อมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ภายใน 1 ปีจะไม่มีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่

ประเด็นที่ 3 เสนอแก้ไขมาตรา 144 การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 60 มีปัญหากระทบต่อการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องการจัดทำงบประมาณ จึงได้เอาข้อความตามรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 168 มาใช้แทน

ประเด็นที่ 4 การแก้ไขมาตรา 185 เพื่อแก้ไขอุปสรรคการทำงานของ ส.ส.และ ส.ว.ให้สามารถติดต่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ปัจจุบัน ถ้าประชาชนเดือดร้อนจะขอร้องให้ ส.ส.หรือ ส.ว.ติดต่อราชการทำไม่ได้ เพราะเป็นการก้าวก่ายแทรกแซง ดังนั้นการแก้ไขมาตรา 185 โดยใช้รัฐธรรมนูญปี 40 มาตรา 114 มาใช้แทน

ประเด็นที่ 5 แก้ไขบทเฉพาะกาล มาตรา 270 เปลี่ยนแปลงอำนาจวุฒิสภา ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 60 ดำเนินการอยู่ฝ่ายเดียว จึงเปลี่ยนให้เป็นอำนาจรัฐสภาเพื่อให้ ส.ส.และ ส.ว.มีอำนาจติดตามและเสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และการจัดทำตามยุทธศาสตร์ชาติ

พรรคพลังประชารัฐมีความตั้งใจแน่วแน่ ที่จะให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นกับประชาชนและไม่มีความขัดแย้งรวมทั้งเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จ โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่จะให้เสียในการทำประชามติ ที่ใช้เวลาน้อย ที่สำคัญคิดว่าในการยื่นแก้ไขในวันที่ 7 เมษายนนี้ และจะมีการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญในวันที่ 22 พฤษภาคม

ผมจะกราบเรียนประธานรัฐสภาว่าขอให้มีการจัดประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 25 พฤษภาคม เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่พรรคพลังประชารัฐเสนอเป็นวาระแรก ดังนั้นถ้าพิจารณาในวาระแรกได้ ในวันที่ 25 พฤษภาคม กรรมาธิการคงจะพิจารณาใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนแล้วเสร็จปลายเดือนมิถุนายน และเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 ที่ประชุมรัฐสภา ต้นเดือนกรกฎาคม และวาระที่ 3 น่าจะกลางเดือนหรืออย่างช้าก็ปลายเดือนกรกฎาคม

ซึ่งคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญที่พรรคพลังประชารัฐเสนอคาดว่าจะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา เพราะจากการพูดคุยทาง ส.ว.ก็เห็นชอบด้วย

ขอเรียกร้องไปยังฝ่ายค้านหรือ ส.ส.ที่ต้องการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พิจารณาเนื้อหาตามที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ และเชื่อว่าฝ่ายค้านน่าจะเสนอญัตติคล้ายๆ กันเพื่อให้ได้รับการยอมรับร่วมกัน เพราะ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐจะไม่ยอมรับในเนื้อหาที่เกินไปกว่า 5 ประเด็นที่นำเสนอ

โดยเฉพาะข้อเสนอให้ตัดอำนาจของวุฒิสภา เกี่ยวกับการร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา อย่างไรก็ตาม ญัตติที่เสนอ มีเพียง ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ เพียงพรรคเดียวที่ร่วมลงชื่อ ขณะนี้ยังรอให้ ส.ส.ได้ลงชื่อ ส่วนที่ไม่ร่วมเสนอญัตติร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลอีก 3 พรรคนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เพราะอาจมีความเห็นไม่ตรงกัน

ทั้งนี้ผมขอยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐมีความต้องการจะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญ ทั้ง 279 มาตรา สามารถที่จะเสนอแก้มาตราใดก็ได้ แต่สิ่งที่เสนอนั้นยืนยันว่าจะไม่สร้างความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาลเพราะเป็นประโยชน์กับประชาชนและไม่ใช่การชิงอำนาจรัฐ

ส่วนเหตุผลของการเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้ง จากจัดสรรปันส่วนผสม ไปเป็นการเลือกตั้งระบบปกติเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นเป็นไปตามความเห็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 ของ ส.ส.ในสภา ที่ต้องการให้กลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

อย่างไรก็ตาม ผมไม่คิดว่าการปรับระบบเลือกตั้งดังกล่าวจะทำให้พรรคการเมืองบางพรรคได้เปรียบหรือเสียเปรียบระหว่างกัน ส่วนที่แก้ไขแล้วมีผลกระทบกับบางพรรคนั้น ส่วนตัวมองว่าต้องรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส.ที่ต้องการให้แก้ไขเนื้อหา

อรุณี กาสยานนท์
โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.)

ข้อเสนอการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคพลังประชารัฐ เห็นได้ชัดว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางเทคนิคที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วเมื่อครั้งร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เช่น เรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียว และการคิดคำนวณสูตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่แก่นของปัญหากลับไม่ถูกหยิบยกมาแก้ไข คือ เรื่องหลักการประชาธิปไตยในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ
โดยเฉพาะที่มา ส.ว. ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนและมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นเครื่องมือในการค้ำยันอำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาจนถึงทุกวันนี้ รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ

ดังนั้นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรค พปชร. ครั้งนี้ จึงเป็นเพียงการพยายามรักษาผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ยื้อเวลาตบตาประชาชนแบบศรีธนญชัยที่มีเป้าหมายในการสืบทอดอำนาจเท่านั้น

ที่ผ่านมาพรรคพลังประชารัฐ ร่วมมือกับ ส.ว. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ในวาระ 3 กลางที่ประชุมรัฐสภา ปิดโอกาสปิดหนทางที่พี่น้องประชาชนจะได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและสร้างประชาธิปไตย

ข้อเท็จจริงนี้ประชาชนทั้งประเทศรับรู้เช่นเดียวกัน แล้ววันนี้จะมายื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรายิ่งแสดงให้เห็นความไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และถูกสังคมตั้งคำถามถึงวาระซ่อนเร้นที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการกระทำครั้งนี้

ที่ผ่านมาพฤติกรรมของรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ ต่อการจัดทำร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ มีท่าทีที่จะไม่ยอมให้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา ซ้ำรอยร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้ง

จึงเป็นสิ่งที่ตอกย้ำอย่างชัดเจนถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลและพรรค พปชร. ที่ไม่ได้ต้องการให้อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยมีเป้าหมายในการสร้างประชาธิปไตยมาโดยตลอด การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะต้องนำไปสู่การสร้างประชาธิปไตยให้ประชาชนเช่นกัน

โดยในสัปดาห์หน้าแกนนำพรรคและ ส.ส.จะมีการหารือกันเพื่อสรุปแนวทางในการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและสร้างประชาธิปไตย

รวมทั้งแนวทางในการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา ให้ผ่านออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมาย เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสามารถนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image