“สนธิรัตน์” ชี้รธน.ใหม่ ต้องหลากหลาย อย่าแข็งทื่อ ใจกว้างกับอนาคต รองรับโลกเปลี่ยน

“สนธิรัตน์” ขยับเขียนรธน.ใหม่ ต้องหลากหลาย อย่าแข็งทื่อ ใจกว้างกับอนาคต รองรับโลกเปลี่ยน 

วันนี้ (5 เม.ย.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ได้เผยแพร่ข้อเขียน เรื่อง “รัฐธรรมนูญ” จากฉันทามติของทุกภาคส่วนและสะท้อนความแตกต่างหลากหลายทางการเมือง” ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า

“ช่วงที่ผ่านมาเราคุยกันเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมาตลอด ได้ไปเจอบทความจากเว็ปไซต์ และงานต่างๆ ที่พูดถึงว่าเราจะร่างรัฐธรรมนูญกันบนหลักการอะไร ผมเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าแนวโน้มรัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องมาจากฉันทามติของทุกภาคส่วนและสะท้อนความแตกต่างหลากหลายทางการเมือง ครับ

“รัฐธรรมนูญ ก็เหมือนพิมพ์เขียวของบ้านดีๆ นี่แหละครับ การที่เราจะสร้างบ้านให้ได้อย่างที่คิด สถาปนิก วิศวกร และนายช่างคุมงานก็ต้องร่วมกันทำงานให้สอดคล้องกัน แล้วถ้าเราอยากได้ประเทศแบบไหน ก็ต้องเริ่มต้นที่การออกแบบรัฐธรรมนูญครับ แต่ต้องไม่ลืมครับว่าหลักการร่วมกันที่เราอยากเห็นนั้น จะเกิดขึ้นได้เมื่อเราให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมขบคิด ร่วมกันตกผลึกจนกลั่นออกมากลายเป็นมติของมหาชน เราคงต้องยอมรับครับว่าเนื้อหารัฐธรรมนูญจำเป็นยืนตามหลักสากล ต้องทำให้เห็นว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ซึ่งท้ายที่สุดก็คือการผ่านการทำประชามตินั่นเอง

“การเปิดพื้นที่ให้กับทุกคนทุกฝ่ายเข้ามาร่วมขบคิด ยังเป็นกลไกแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่เราหลายคนอยากจะหลุดพ้น แถมยังเป็นกระบวนการเรียนรู้ปัญหาไปพร้อมกันในระยะยาวด้วย พื้นที่ถกเถียงสาธารณะตรงนี้แหละครับที่เราต้องการ เพราะมันชี้วัดว่า เราใจกว้างกับอนาคตและเข้าใจอดีตของเราแค่ไหน ทำให้เรานำเอาปัญหาปัจจุบันทางการเมืองขึ้นมาถกเถียงกัน ยอมกันบ้าง หลีกกันบ้างเป็นปกติของประชาธิปไตย เกิดเป็นบรรทัดฐานว่าใครจะมีอำนาจ อำนาจนั้นมาจากไหน และจะตรวจสอบอำนาจนั้นยังไง

Advertisement

“แต่รัฐธรรมนูญก็ต้องไม่แข็งทื่อเกินไปจนแก้ไม่ได้ และก็ต้องไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามการตีความของอำนาจรัฐ เราอาจเรียกลักษณะแบบนี้ว่าศักยภาพของความเปลี่ยนแปลง รัฐธรรมนูญควรยอมให้มีความแตกต่างหากหลายมากพอ แต่ก็ไม่ควรมากหลายเกินไปจนไร้เสถียรภาพ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่สะท้อนความหลากหลายก็เท่ากับเราจงใจให้ความสำคัญกับบางฝ่าย บางกลุ่ม ขณะที่ละทิ้งกลุ่มอื่นๆ ไว้ข้างหลัง

“เราอยู่ในสังคมที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วครับ สังคมก็มีวัฒนธรรมหลัก วัฒนธรรมปลีกย่อยแตกแขนงเต็มไปหมด สังคมเราคุ้นเคยกับการถกการเถียงกันมากขึ้น ยอมรับในความแตกต่างหลากหลายทางความคิดกันง่ายขึ้น รัฐธรรมนูญที่ดีต้องทันต่อสิ่งเหล่านี้ให้ได้ มีพื้นที่ตอบสนองรองรับส่วนเสียงที่หลากหลายเหล่านี้ เพราะมันคือเพดานต่ำสุดของการเมืองประชาธิปไตย ครับ”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image