ความไม่เท่าเทียมในมุมมองของ ศ.เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน

เมื่อข้าพเจ้าเริ่มศึกษาเรื่องความไม่เท่าเทียมนั้น ได้เชิญศาสตราจารย์เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน หรือที่เรียกติดปากกันว่า “อาจารย์เบน” หรือ “ครูเบน” มาบรรยายให้คณะนักวิจัยในทีมฟัง ท่านมีมุมมองที่น่าสนใจจึงจะนำมาเล่าสู่กันฟัง และเพื่อเป็นการรำลึกถึงท่านที่เพิ่งจากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2558 นี้

อ.เบนเป็นนักสังคมศาสตร์คนสำคัญของโลก มีผลงานเด่นเกี่ยวกับอินโดนีเซีย มีผลงานชิ้นสำคัญที่พิมพ์ทั่วโลกกว่า 30 ภาษา คือ หนังสือ Imagined communities: reflections on the origin and spread of nationalism. (ฉบับภาษาไทยชื่อ ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม) และยังมีงานเขียนที่วิเคราะห์วิพากษ์การเมืองวัฒนธรรมไทยในมุมมองใหม่ๆ ที่น่าสนใจ อีกทั้งงานแปลรวมเรื่องสั้นไทยชิ้นสำคัญ ในหนังสือชื่อ In the mirror: literature and politics in Siam in the American era และงานอื่นๆ อีกมากมาย ข้าพเจ้าใคร่สดุดีความเป็นนักวิชาการ ความเป็นครู และความเป็นเพื่อนที่ดีของท่าน การจากไปอย่างกะทันหันในวัยยังไม่ถึง 80 เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ดังที่ อ.เกษียร เตชะพีระ ได้กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ผมเสียใจอย่างสุดซึ้งและเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของวงวิชาการศึกษาไทย”

ในเรื่องความไม่เท่าเทียม อ.เบนให้ความสนใจกับมิติการเมือง วัฒนธรรม คือ “การพินิจพิเคราะห์ การต่อสู้ทาง ‘การเมือง’ ในฐานะที่เป็นพื้นที่ของการช่วงชิงการครองอำนาจนำ (hegemony)” (ประจักษ์ ก้องกีรติ การเมืองวัฒนธรรมไทย ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ พ.ศ.2558)

อาจารย์บอกว่า “คนจำนวนมากรวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์คิดว่าความไม่เท่าเทียมเป็นผลหรือเป็นภาวะที่เกิดจากกระบวนการทางสังคม เช่น การแข่งขันทำธุรกิจ นี่เป็นวิธีคิดผิดๆ ความไม่เท่าเทียมเป็นกระบวนการที่รุนแรงก้าวร้าว และยังเป็นเป้าหมายของสังคมร่วมสมัยส่วนมากเสียอีกด้วย ความไม่เท่าเทียมสะท้อนความกระหายอยากได้การยอมรับจากสังคม การได้รับความยกย่อง และการทำให้คนอื่นสยบยอมตามและเชื่อฟัง ซึ่งอีกด้านหนึ่งของเหรียญเดียวกันนี้ก็คือ ความน่าดูถูก ความอดสู และการลดค่าตนเอง”

Advertisement

อีกนัยหนึ่งมนุษย์กระหายความไม่เท่าเทียมและคงมันไว้ เพื่อให้ตนเองมีอำนาจเหนือกว่าคนอื่นๆ

อ.เบนวิเคราะห์ให้ฟังว่า “ความกระหาย” นี้ สำแดงออกมาในรูปแบบของความรุนแรงแบบโต้งๆ ในสมัยโบราณเห็นได้จากการชนะสงครามแล้วสยบคนเป็นทาส หรืออ้างอิงว่าสืบสายเลือดที่พิเศษกว่าคนอื่นใด และใช้ความเชื่อในลัทธิบุตรแห่งสวรรค์ หรือลัทธิเทวราชา สยบให้คนอื่นเชื่อถือและยอมตาม แล้วก็ประสบความสำเร็จอย่างมากเป็นเวลานาน จนกระทั่งกำเนิดคำขวัญ “ความเท่าเทียม เสรีภาพ และภราดรภาพ” ขึ้นเมื่อ 220 กว่าปีที่ผ่านมา

บังเกิด ‘ความไม่เท่าเทียม’ ได้สร้างความกลัวอย่างเหลือหลาย และได้นำไปสู่กระบวนการทำให้ความไม่เท่าเทียมยังคงอยู่ต่อไป

Advertisement

อ.เบนได้เสนอหัวข้อต่างๆ ในมิติด้านการเมือง วัฒนธรรม ของความไม่เท่าเทียมที่ควรมีการศึกษาในกรณีของไทย อาจารย์เสนอหลายเรื่องแต่จะขอกล่าวถึง 2 เรื่องในที่นี้ ได้แก่ หนึ่ง การศึกษาเรื่อง title หรือคำนำหน้าชื่อ หลัง 2475 ไม่มีการให้ราชทินนามใหม่กับชายไทยใดๆ เลย แต่ทำไมผู้หญิงจึงยังมีโอกาสได้คำนำหน้าเป็น “ท่านผู้หญิง” “คุณหญิง” คำถามวิจัยคือ ทำไมผู้หญิงได้คำนำหน้า แต่ผู้ชายไม่ได้

เรื่องที่ 2 ที่ อ.เบนเสนอให้ทำ คือ ให้นักภาษาศาสตร์ศึกษาการใช้สรรพนาม หรือคำที่เรียกแทนคำนามต่างๆ ในสังคมเมืองใหญ่ เป็นคำที่มีระดับของสถานภาพทางสังคมติดอยู่ด้วย อาจารย์บอกว่า ผู้หญิงจะได้รับผลกระทบมาก เพราะมักถูกเรียกว่า “หนู” หรือ “น้อง” เสมอๆ ซึ่งหลายๆ ครั้งผู้พูดอาจจะอายุน้อยกว่าหรือมีวุฒิภาวะด้อยกว่าผู้ถูกเรียกด้วยซ้ำไป

สรรพนามที่สำแดงความเป็นกันเอง แต่ผู้ฟังไม่อาจใช้กับผู้พูดได้ก็มีให้เห็นบ่อย ที่สำแดงระดับความไม่เท่าเทียม เช่น ตำรวจ ใช้คำอั๊วลื้อกับคนขี่จักรยานยนต์ แต่ถ้าถูกเรียกกลับอาจจะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ

อ.เบนเสนอให้นักภาษาศาสตร์ศึกษาที่มาของคำที่มีนัยลดค่า หรือเชิงดูถูกแฝงฝังอยู่ในภาษา ว่าเกิดมาได้อย่างไร เพราะอะไร ทำไมยังคงอยู่แม้บริบทสังคมจะเปลี่ยนไปแล้ว ให้ศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยว่าต่างกันไหม อย่างไร

โครงการที่ 3 เป็นเรื่อง “แจ๋ว” อาจารย์สงสัยว่าทำไมแม่บ้านยังต้องมีคนรับใช้ แม้ว่าขณะนี้เราจะมีเครื่องทุ่นแรงต่างๆ มากมาย อ.เบนเล่าว่า แม่บ้านมักจะบ่นว่าคนรับใช้ขี้เกียจทำงาน ไม่ได้เรื่อง และยั่วยวนสามีของพวกเธอ อ.เบนคิดว่า แม่บ้านอยากมีคนรับใช้เพราะว่าเอาอย่างวัฒนธรรมชนชั้นสูงนั่นเอง

แล้วอาจารย์ก็หันมาวิเคราะห์ตัวเอง โดยเล่าว่า เพื่อนที่เป็นสตรีนิยมวิจารณ์ว่าเขาไม่เห็นใจผู้หญิงเสียเลย แม่บ้านเนี่ยอยากมีคนรับใช้ จะได้ไม่ต้องเป็นคนใช้ของสามีตะหาก

ในภาวะที่สังคมไทยร่วมสมัย มีความพิลึกพิลั่นสูง มีสตรีนิยม ซึ่งเป็นแนวคิดสังคมหลังความสมัยใหม่ แต่ไม่มีความเป็นสมัยใหม่ เช่น ทุนนิยมอุตสาหกรรม จึงเกิดพันธมิตรแบบพิลึกพิลั่น เช่น สตรีนิยมกับสิ่งที่เหลือจากสังคมก่อนสมัยใหม่

อ.เบนบอกว่า เพื่อนสตรีนิยมพูดถูกต้องแล้ว และนี่เป็นเหตุผลที่ต้องศึกษาความย้อนแย้งที่เกิดขึ้น

คณะวิจัยรับฟังการบรรยายด้วยความตื่นตาตื่นใจ แต่ในท้ายที่สุดไม่มีใครรับคำแนะนำของ อ.เบนเลย บอกว่าทำยาก ซึ่งน่าเสียดายมาก อ.ผาสุกอาจจะต้องทำโครงการวิจัยเรื่องความไม่เท่าเทียมภาค 2

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image