ส่องม็อบใหม่รุ่นใหญ่ ‘ตู่’จตุพร ไล่ ‘ตู่’ประยุทธ์

ส่องม็อบใหม่รุ่นใหญ่ ‘ตู่’จตุพร ไล่ ‘ตู่’ประยุทธ์

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ผุดกลุ่มม็อบใหม่ ไทยไม่ทน ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

Advertisement

การชุมนุม “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” สำหรับคนที่มองคุณจตุพร พรหมพันธุ์ มองไปในทาง 2 แง่

แง่แรก มองคุณจตุพรด้วยความไม่เชื่อมั่น ว่าคุณจตุพรเพียงแค่ทำการบ้านต่อจากกลุ่มเคลื่อนไหวชุดก่อน หรือกลุ่มเยาวชนที่ทำการบ้านส่งครูไม่ครบ

หมายความว่า 2 หัวข้อที่ม็อบเยาวชนทำทิ้งไว้ ยังไม่เสร็จ คือ 1.การเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภา-ลาออก และ 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ คือคำตอบแรกที่มองว่า คุณจตุพรมาสะสางภารกิจตรงนี้ต่อให้เสร็จ

Advertisement

แต่อีกแง่ คนกลุ่มหนึ่งมองว่าที่คุณจตุพรเข้ามาในภาวะตรงนี้ เหมือนย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่คุณจตุพรนำขบวนการคนเสื้อแดงและประชาชน ออกมาขับไล่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี

ซึ่งเป็นเงื่อนไขเดียวกัน ที่ต้องการให้คุณประยุทธ์ลาออก จากอุดมการณ์ตรงนั้นมีความชัดเจนว่า คุณจตุพรปักธงประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้น

จึงเป็นทาง 2 แพร่ง ที่ทำให้คนรู้สึกชั่งใจว่าจะออกมาร่วมชุมนุมดีหรือไม่ มีวาระซ่อนเร้นใดๆ หรือเปล่า

ส่วนตัวมองว่า ณ ขณะนี้ ทิศทางการเคลื่อนไหวของคุณจตุพร คือ การระดมพันธมิตรหน้าใหม่ มากกว่า การโหมโรง หรือไทม์ไลน์ต่างๆ ก็อาจจะต้องไปโฟกัสวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ซึ่งเข้ารอบวง 7 ปีพอดี ที่คุณประยุทธ์เข้ามามีอำนาจทางการเมือง เวลาเดือนเศษตรงนั้นจะเป็นการระดมสรรพกำลังทั้งปวง ว่าจะมีใครบ้างที่กล้าเปิดหน้ามาขับไล่คุณประยุทธ์

โดยสถานการณ์ชุมนุมนี้ อาจถูกโยงเข้ากับการเมืองในสภาด้วย อย่างเรื่อง พ.ร.บ.ประชามติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา ที่ห้วงเวลานี้จะชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลประยุทธ์จะไปต่อได้หรือไม่

แน่นอนว่า แกนนำไม่ว่าจะ คุณพิภพ ธงไชย, คุณวีระ สมความคิด หรือคุณจตุพรเอง ในแง่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ตอบโจทย์อารมณ์ของคนทั้งหลาย

แต่ยังไม่ใช่แม่เหล็กชั้นดี ในการเรียกคนระดับกลางออกมาร่วมชุมนุมให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่

ผมคิดว่า เป็นการทดสอบและประวิงเวลา เพื่อดูมากกว่า การที่จะปราศรัยไปเรื่อยๆ เป็นการทดสอบอารมณ์ ซึ่งต้องมีเนื้อหาข้อมูลใหม่ๆ ที่จะเชื้อเชิญคนที่มีต้นทุนทางสังคมได้มากพอ และเอาความขัดแย้ง หรืออุดมการณ์ที่ไม่ลงรอยกัน พับเก็บไว้

ทุกคนต้องมองทิศทางปัญหา ณ เวลานี้ว่าคือ “รัฐธรรมนูญ” เป็นตัวปัญหาของการสร้างกติกา อันมีความได้เปรียบและเสียเปรียบของกลุ่มทางการเมือง ที่เวลานี้มองเห็นตรงกันแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา รัฐธรรมนูญฉบับนี้เอื้อประโยชน์ให้คุณประยุทธ์ รัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐ ให้ไปต่อ ตรงนี่ต่างหากที่กลายเป็นโจทย์ยากสำหรับคุณจตุพรเอง

การเมืองไทย ณ เวลานี้ เหมือนตัวเลขตลาดหุ้นมีสีแดง และสีเขียว เป็นความวูบวาบของนักลงทุน ซึ่งนักลงทุนในที่นี้ คือประชาชนที่จะกลายเป็น แมงเม่าทางการเมือง

เมื่อเห็นคนออกมาเยอะๆ คิดว่ารัฐบาลไปไม่รอดก็เฮโลกันไป แต่ถ้ารัฐบาลอยู่ต่อไป ก็รู้สึกว่าตัวเองเหนื่อยฟรีที่จะสู้ต่อ เพราะกลไกต่างๆ ของรัฐบาล ยังมีไพ่ในมือให้เล่นอีกเยอะ ไพ่ในมือที่สามารถเบี่ยงเบนกระแสความสนใจในการยื้อเวลา

แต่อย่าลืม หากเปิดหัวว่า ‘ปีนี้จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร’ อุณหภูมิ หรือ ทิศทางลมการเมือง จะหันเหไปทาง ผู้ว่าฯกทม.ทันที

ท้ายที่สุด รัฐบาลไม่ต้องการนำไปสู่สิ่งที่หลายคนวิเคราะห์ คือ ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ด้วยกติกาแบบเดิม ซึ่งถ้าทำอย่างนั้น เขารู้อยู่แล้วว่าเป็นการนับถอยหลังอนาคตของตัวเอง ว่าจะไม่เหลือทางเลือกอะไรอีก แม้ตัวเองจะได้เปรียบก็ตาม แต่วิกฤตทางการเมืองจะเกิดขึ้นทันที

ดังนั้น ไพ่ที่ว่า จะยุบสภา แล้วนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ผมว่าไม่ใช่ ส่วนรัฐประหาร ผมไม่เชื่อว่าจะมี เป็นไปไม่ได้เลย

ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

เท่าที่ฟังปราศรัยของม็อบนายจตุพร พรหมพันธุ์ ข้อเรียกร้องยังวนอยู่กับการเอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกไป ถ้ามองกันจริงๆ มีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ยังโอเคกับโครงสร้างปัจจุบัน คือระบบรัฐธรรมนูญ

พูดง่ายๆ คือแค่เปลี่ยนหัว ซึ่งอาจจะเป็นช่องทางหนึ่งในการส่งเสียงถึง พล.อ.ประยุทธ์ โดยที่ไม่ไปยุ่งกับเรื่องอื่น

แต่ถามว่าจะเป็นม็อบทางเลือกหรือไม่ ตอบไม่ได้เพราะในการปราศรัย ซึ่งหลายประเด็นบนเวทีที่เป็นการรวมตัวของคนหลายกลุ่มยังดูไม่มีเอกภาพ ว่าตกลงจะอย่างไรกันแน่

ถ้าอยากทำเป็นม็อบทางเลือกที่จะยิงไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก หรือยุบสภาก็ตาม คิดว่าข้อเสนอควรชัดกว่านี้

ต้องไม่ลืมว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์จะออกได้ มี 3 วิธี1.การถูกลงคะแนนไม่ไว้วางใจในสภา 2.ลาออก 3.ยุบสภา มีแค่ 3 วิธี แต่ครั้งนี้ยังไม่ชัด บอกแค่ว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ ถามว่าแล้วจะไปอย่างไรต่อ

ดังนั้น ม็อบนายจตุพรต้องมีความชัดเจนว่าจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ออกไปด้วยวิถีทางไหน เป็นไปไม่ได้เลยว่าจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ออกไปแล้วไม่กลับมาโดยไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าจะให้ไปอย่างถาวร ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ต้องลดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ทิ้งไป

สำหรับความขัดแย้งในฝ่ายประชาธิปไตยกันเอง หรือแม้แต่ในม็อบนายจตุพรเอง ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับการชุมนุมในช่วงแรก

ถึงที่สุดแล้วทุกคนต้องมาคุยกันว่าจะไปกันแบบไหน เส้นทางไหน อย่างที่นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์บอกว่าไม่ให้ชู 3 นิ้ว แต่พอเคลียร์กันจบ ทุกอย่างก็เหมือนเดิม การยอมรับกันได้ตรงนี้ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี

การชุมนุมของกลุ่มนายจตุพรเพิ่งเริ่มต้น ข้อเสนอ ข้อเรียกร้องก็ยังไม่ชัด สิ่งที่ทุกการชุมนุมต้องทำความเข้าใจกับมวลชนคือ ต้องชัดเจนในเป้าหมายและวิธีการมากกว่านี้

ดังนั้น นายจตุพร ต้องเคลียร์ตัวเองว่าจะไปทางไหน จะแก้รัฐธรรมนูญ ลดอำนาจ ส.ว. หรือ พล.อ.ประยุทธ์ออกไปแล้ว เอาคนอื่นขึ้นมาภายใต้การสนับสนุนของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐหรือไม่?!

วิโรจน์ อาลี
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การชุมนุมเพิ่งเริ่มต้นมีการวางจุดยืนที่ชัดเจน แต่ทำให้มีข้อถกเถียงพอสมควร และเป็นความพยายามเพื่อรวมคนหลากสีโดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์

หากมองเข้าไปการชุมนุมครั้งนี้ยังมีประเด็นที่เห็นว่าข้อเรียกร้องของกลุ่มมวลชนอื่นๆ เหมือนจะทะลุเพดานไปแล้ว แต่ข้อเรียกร้องของนายจตุพรยังไปไม่ไกล เหมือนเป็นการลดทอนความเคลื่อนไหวของคณะราษฎรที่ผ่านมาหรือไม่

ส่วนตัวมองว่าการจับทิศทางของนายจตุพรครั้งนี้ก็ต้องการหามวลชนเพิ่มเติมและลดข้อเรียกร้องของคณะราษฎรเหลือเพียง 2 ข้อไม่เอาข้อที่ 3 เชื่อว่าทำให้ลักษณะของมวลชนขยายตัวออกไป

ขณะที่ในช่วงแรกการชุมนุมยังมีแค่คนเสื้อแดงร่วมเวที จะทำอย่างไรให้มวลชนคนเสื้อเหลืองที่เดิมอาจจะไม่พอใจจากการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือมวลชนคนเสื้อแดงอีกกลุ่มยังลังเลจะเข้ามาร่วมขับเคลื่อนกับนายจตุพร

ซึ่งช่วงแรกยังมีมวลชนไม่มาก แต่ต้องดูว่าระยะต่อไปจะมีเครือข่ายอื่นมาเติมหรือไม่

ขณะที่การชุมนุมต้องดูว่าคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดง จะก้าวผ่านความขัดแย้งในอดีตได้หรือไม่ คนเสื้อแดงอาจจะคิดว่าผลทางการเมืองมาถึงวันนี้มาจากการเคลื่อนไหวของคนเสื้อเหลืองหรือไม่ และเดิมในอดีตเคยมีการตักเตือนแล้วแล้วกลับมาสู่จุดเดิมแล้วความขัดแย้ง ความสูญเสียที่ผ่านมา จะเคลียร์ใจระหว่างคน 2 สีได้อย่างไร แล้วคนเสื้อเหลืองก็อาจจะคิดว่าหากเอา พล.อ.ประยุทธ์ออกไปแล้วจะเอานักการเมืองที่ไม่มีคุณภาพกลับมาอีกรอบหรือไม่ ดังนั้นการรวมกันของมวลชนสีเสื้อต้องรอการเจียระไน

นอกจากนั้น การเคลื่อนไหวครั้งนี้ถูกมองว่าจะไปลดทอนการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิตนักศึกษาหรือไม่ เนื่องจากเงื่อนไขข้อเรียกร้องไปไม่ถึงเพดาน เพราะฉะนั้นการประเมินความสำเร็จในการทำงานมวลชนครั้งนี้ เบื้องต้นคงประเมินได้ยาก และต้องดูระยะยาวว่านายจตุพรจะพาประชาชนไปถึงจุดไหน

ต้องดูว่ามวลชนต่างๆ กลุ่มไหนจะเข้ามาร่วมมือกันหลังจากการต่อสู้ในประวัติศาสตร์ที่แตกต่างทางความคิด ต่างอุดมการณ์ยังมีร่องรอยของบาดแผลถึงปัจจุบัน จากผู้ที่ได้รับผลกระทบ และท้ายที่สุดต้องดูว่าจะประนีประนอมเพื่อไล่ พล.อ.ประยุทธ์ได้จริงหรือไม่

วันนี้การชุมนุมถือว่าเป็นแค่จุดเริ่มต้น หากจะทำให้สำเร็จประชาชนต้องมาแบบมืดฟ้ามัวดิน และหัวใจสำคัญต้องดูว่ากลุ่มชนชั้นนำจะมาร่วมเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้อย่างไร

แต่ถ้ารัฐบาลยังใช้กลไกอำนาจในการควบคุมความเคลื่อนไหวได้ ก็อาจมีปัญหา ดังนั้นนายจตุพรต้องนำคนที่คิดต่างในบางประเด็นแต่เห็นร่วมในเป้าหมายเดียวกันออกมาให้มากที่สุด

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การชุมนุมที่จะมีผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ในบริบทการเมืองขณะนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการเมืองปัจจุบันแตกต่างจาก 10 กว่าปีก่อน ที่กลุ่ม นปช.เคยออกมาเคลื่อนไหว และขณะนี้มีปัจจัยหลายประการเข้ามาเพิ่มเติม เช่น การบังคับใช้กฎหมาย

สำหรับบรรดาแกนนำของ นปช. ก็ต้องยอมรับว่าการรวมพลังของแกนนำจะไม่เหมือนเก่า เพราะฉะนั้น การประกาศของนายจตุพรที่มีการชุมนุมร่วมกับอีกหลากหลายกลุ่ม ในอดีตบางกลุ่มบางราย เคยอยู่ตรงข้ามกับ นปช. มีทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ เสื้อหลากสี ก็ยิ่งทำให้การประสานเป็นเนื้อเดียวของนายจตุพรและนปช.จะไม่เหมือนเดิม

ปัจจุบันความสำเร็จจะมีเพียงการตั้งประเด็นที่ทำให้เกิดการระดมมวลชนได้ หรือเป็นที่สนใจของสังคม ต้องสร้างอัตลักษณ์ร่วมของกลุ่มให้เกิดขึ้น เรื่องของหน้าต่างแห่งโอกาสจะต้องเปิด ทำให้การเคลื่อนไหวประสบความสำเร็จได้

แต่ถ้ามองเข้าไปในการทำมวลชนครั้งนี้ จะเห็นว่าในแง่ของการตั้งประเด็น โดยพุ่งเป้าไปที่พลเอกประยุทธ์กับการบริหารงานที่มีความผิดพลาด ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาจากการที่สังคมตั้งคำถามในเรื่องของการใช้อำนาจที่ผ่านมา หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าอาจทำให้เป็นประเด็นที่ประชาชนสนใจ

แต่วันนี้อย่าลืมว่าความสนใจของประชาชนมีหลากหลายมากขึ้น เพราะกลุ่มอุดมการณ์ในสังคมไม่เหมือนเดิมในอดีต ที่มีเพียงเสื้อเหลืองเสื้อแดง แต่วันนี้มีความกว้างขวางของอุดมการณ์ ทำให้คนบางกลุ่มสนใจ แต่อีกหลายกลุ่มไม่สนใจ

ส่วนการสร้างอัตลักษณ์ร่วม มีการสลายสีเสื้อให้เหตุผลว่าทุกคนคือคนไทยต้องออกมาเรียกร้องเพื่อรักษาประเทศชาติ ขณะที่หน้าต่างแห่งโอกาส ต้องบอกกันตรงๆ ว่าวันนี้จุดเปลี่ยนยังไม่เกิดขึ้นในสังคม จะเห็นได้จากการเคลื่อนไหวใหญ่ของคณะราษฎร 2563 ที่เกิดขึ้นถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ แม้ว่าปลายปีที่แล้วจะมีจุดเปลี่ยนทั้งเรื่องเศรษฐกิจ โควิด-19 แต่ยังเป็นประเด็นที่ไม่เปิดกว้างมากเพียงพอสำหรับหน้าต่างแห่งโอกาส กระทั่งกระแสของคณะราษฎรลดลงไปมาก

ดังนั้น นายจตุพรเข้ามาในโอกาสนี้ก็ยังไม่ใช่จังหวะที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของนายจตุพรและบรรดากลุ่มต่างๆ อาจจะต้องอาศัยระยะเวลาที่ทำให้เกิดการขยายตัวของมวลชน เพราะขณะนี้ยังไม่มีจุดเปลี่ยนที่ชัดเจน

ขณะที่ศักยภาพของรัฐบาลและกลุ่ม 3 ป.ยังรับมือกับการชุมนุมได้ โดยเฉพาะปัจจัยภายในของ 3 ป.ไม่มีอะไรที่เป็นจุดเปราะบาง เพราะความสัมพันธ์มีมากกว่าเพื่อนร่วมงาน

แต่เป็นเพื่อน พี่ น้อง เป็นมิตรภาพส่วนบุคคล

ส่วนปัจจัยภายนอกอาจมีบ้างเป็นครั้งคราว เชื่อว่าโดยภาพรวมยังพอไปได้ เพราะไม่มีอะไรมากดดันให้มีผลกระทบกับเสถียรภาพกับการทำหน้าที่ในขณะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image