คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : บัฟ+250 และรัฐธรรมนูญฉบับภาษาลู

ชัดเจนขึ้นในระดับหนึ่งแล้วว่า ท่าทีของฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรที่จะแก้รัฐธรรมนูญ 2560 จะออกมาในทางที่เป็นการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยเริ่มจากการแก้ไขในเรื่องอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาก่อน

เพราะผ่านมาสองปีของอายุสภาชุดนี้ เราเห็นได้ชัดเจนว่าวุฒิสภานั้นเหมือนเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่อยู่ในอีกสาขาสภาหนึ่ง บทบาทของสมาชิกบางคนเลือนๆ ไปกับสมาชิกพรรครัฐบาลไปก็มี เพราะพวกเขาก็เคยเป็นกลุ่มเป็นก้อนเดียวกันมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งพร้อมจะสำแดงเดชได้เสมอในวาระใดก็ตามที่จะต้องอาศัยการประชุมร่วมกันของสองสภา ดังที่เราได้เห็นกันไปแล้วหลายครั้ง ล่าสุดคือวาระของความพยายามแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ดังนั้นในวาระที่จะต้องประชุมร่วมกันดังกล่าว เสียงที่ฝ่ายค้านจะต้องเอาชนะไม่ใช่เสียงของพรรคร่วมรัฐบาล แต่หมายถึงเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลบวกกับอีก 250

ที่หนักหนาที่สุดคือ อำนาจตามบทเฉพาะกาลที่ให้สมาชิกวุฒิสภามีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะยังคงใช้บังคับอยู่ต่อไปจนสิ้นวาระของวุฒิสภาชุดนี้ นั่นก็เท่ากับว่าต่อให้มีการเลือกตั้งใดๆ จนถึงกลางปี พ.ศ.2567 ต่อให้พรรคพลังประชารัฐ (หรือตอนนั้นอาจจะเป็นพรรคอะไรก็ตาม) ได้คะแนนเสียงเท่าไรก็ตาม แต่เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อใด พรรคการเมืองต่างๆ ที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นอันเข้าใจกันว่า เสียงที่จำเป็นที่จะตั้งรัฐบาลให้ได้ คือ 375 ไม่ใช่ 250 และฝ่ายผู้ครองอำนาจรัฐก็มีอยู่ในมือแล้ว 250 บวกกับที่เลือกตั้งเข้ามาได้ จะกี่เสียงกี่ที่นั่งก็ตาม ว่าไปสภาพก็เหมือนตอนตั้งรัฐบาลในช่วงหลังเลือกตั้ง 2562 นั่นแหละ

ความได้เปรียบพิเศษนี้ ถ้าเป็นภาษาอีสปอร์ต ก็ต้องเรียกว่าผู้เล่นฝ่าย “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” มี “บัฟ” (Buff) พิเศษที่บวกพลังโจมตี 250 พลังป้องกัน 250 ในเกมที่ผู้เล่นคนอื่นทีมอื่นมีพลังกันในระดับหลักสิบ
หรือมากที่สุดคือ 100 กว่าๆ (แถมผู้เล่นบางทีมติด “คำสาป” หรือ “พิษงูเห่า” ให้พลังลดลงไปเรื่อยๆ ด้วย)

Advertisement

และแน่นอนว่าในเกมการเมือง ยิ่งฝ่ายใดได้เปรียบในทางการเมืองเท่าไร ก็จะยิ่งสร้างความได้เปรียบนั้นเพิ่มขึ้นทวีคูณไปเรื่อยๆ ด้วยอำนาจในการเข้าถึงอำนาจรัฐ การจัดการนโยบาย งบประมาณ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนอำนาจอิทธิพลเชิงคุณค่าความเชื่อ ผ่านกระบวนการทางการศึกษาและวัฒนธรรม

ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคร่วมรัฐบาลจึงเป็นเหมือนความพยายามที่จะ “ดีบัฟ” (Debuff) ความได้เปรียบนี้เอง ไม่งั้นเกมนี้คนอื่นไม่เป็นอันต้องเล่น ด้วยการเสนอลดอำนาจ ส.ว. แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรานั้นก็มีเกราะป้องกันอยู่ที่เงื่อนไขว่ารัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น จะได้รับความเห็นชอบ ก็ต่อเมื่อได้รับเสียงเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
ของวุฒิสภา ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256

พูดง่ายๆ คือต่อให้ ส.ส.ทั้งสภาซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนนั้นร่วมใจกันที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าหา ส.ว. มาร่วมด้วยได้ไม่ถึง 84 คนก็หามีประโยชน์อันใดไม่

Advertisement

ทั้งหมดนี้อาจเป็นที่มาของประโยคที่ไม่รู้ว่าเพราะมั่นใจถึงขีดสุดหรือแค่หลุดปากที่เขาพูดออกมาราวกับเย้ยหยันในครั้งหนึ่งว่า “…ถ้าระแวงว่าผมจะสืบทอดอำนาจก็ไปแก้ (รัฐธรรมนูญ) มา จะเลือกผมหรือไม่เลือกผมก็ไม่ได้ขัดข้อง ไม่เลือกก็ได้ ก็ไปแก้มา แก้ให้ได้ก็แล้วกัน…”

“บัฟระดับเทพ” นี้มีที่มาอันน่าเจ็บใจ เพราะนอกจากการวางกลไกกับดักทางกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยมือหมกเม็ดในตำนานแล้ว ยังเกิดจากการที่ได้รับเสียงประชามติเห็นชอบพร้อมกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย ซึ่งพวกเขาก็ถือเอาความที่บทเฉพาะกาลนี้ได้รับความเห็นชอบจากประชามติคำถามพ่วงด้วยนี่แหละ มาใช้เป็นข้ออ้างปิดปากฝ่ายที่เรียกร้องต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายที่พยายามชี้ให้เห็นว่า การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ของ “ประยุทธ์” หลังรัฐประหารนั้นเป็นความไม่ชอบธรรมสืบทอดอำนาจอย่างไร

ย้อนไปในตอนที่มีการให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติว่าจะให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ รัฐธรรมนูญชั่วคราวในขณะนั้นยังให้อำนาจสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอประเด็นอื่นใดที่สมควรให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพิ่มเติม หรือที่เรียกว่า “คำถามพ่วง” ไปกับการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญด้วยก็ได้

ซึ่งคำถามพ่วงดังกล่าวมีว่า “เห็นด้วยหรือไม่ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ควรกำหนดในบทเฉพาะกาลว่าระหว่าง 5 ปีแรก ตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบบุคคลสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

จะเห็นว่า ในคำถามพ่วงดังกล่าวไม่ได้ถามตรงๆ ว่า จะให้ ส.ว.ที่แต่งตั้งโดย คสช.ในขณะนั้นมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่ แต่ใช้การซ่อนไว้อย่างแยบยลด้วยคำว่า “ที่ประชุมร่วมรัฐสภา”

ซึ่งอันนี้ต่อให้เป็นนักกฎหมายแต่ไม่ได้คุ้นเคยกับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายมหาชนอ่านผ่านๆ ก็อาจจะนึกไม่ออกว่าหมกเม็ดอะไรตรงไหนไว้ และด้วยคำว่า “รัฐสภา” มันก็ชี้นำให้ผู้อ่านรู้สึกว่า มันก็ถูกต้องแล้วนี่ ที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจากความเห็นชอบ หรือการเลือกของรัฐสภา ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

โดยอาจจะไม่ทันนึกว่า รัฐสภานั้นหมายถึงสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา และเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่ได้มาในสภาวะอันไม่ปกติที่ไม่อาจเรียกได้เลยว่านั่นคือตัวแทนของประชาชน

ซึ่งถ้าจะอธิบายให้เห็นความหมกเม็ดของคำถามพ่วงนี้ได้ จะต้องเอารัฐธรรมนูญมาโยงมากางกันให้ดูสามสี่มาตรา จึงจะรู้ว่าการ “เห็นด้วย” กับคำถามพ่วงนี้ คือการมอบความได้เปรียบอันมหันต์ให้หัวหน้าคณะรัฐประหารในขณะนั้นครอบงำประเทศนี้ต่อไปอีกแม้มีการเลือกตั้งแล้ว อย่างที่เราได้เห็นผลของมันกันในวันนี้

แล้วทำไมจึงไม่มีใครอธิบายเช่นนั้น ก็ต้องย้อนกลับไปกล่าวถึง “เครื่องมือ” อย่างหนึ่งของผู้มีอำนาจในขณะนั้น คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ซึ่งกำหนดความผิดที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไว้ประการสำคัญในมาตรา 61 วรรคสอง ที่ว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” ซึ่งมีโทษจำคุกถึง 10 ปี ปรับได้ถึง 200,000 บาท พร้อมโทษทางการเมืองคือการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 5 ปีด้วย

มาตราดังกล่าวจึงถูกใช้เป็นอาวุธ และเครื่องมือในการปิดปากใครก็ตามที่พยายามรณรงค์ หรือชี้ให้ผู้คนเห็นถึงความหมกเม็ดของรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงดังกล่าวนั้น มีการจับกุมดำเนินคดีต่อบุคคลจำนวนมาก จากรายงานของไอลอว์ มีผู้ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญนี้ถึง 64 ราย ซึ่งแม้ว่าต่อมาศาลจะพิพากษายกฟ้องเป็นส่วนใหญ่ แต่การใช้กฎหมายดังกล่าวก็สมประโยชน์ไปแล้วที่ทำให้การออกมาชี้ให้ผู้คนเห็นถึงความหมกเม็ดของรัฐธรรมนูญนั้นทำได้ยากและมีอุปสรรคถึงติดคุกติดตะราง

ในที่สุดประชามติเสียงข้างมากเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ก็เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ 16,820,402 เสียง คิดเป็นร้อยละ 61.35% ไม่เห็นชอบ 10,598,037 เสียง คิดเป็นร้อยละ 38.65 และเห็นชอบด้วยกับคำถามพ่วง 15,132,050 เสียง คิดเป็นร้อยละ 58.07 ไม่เห็นชอบ 10,926,648 เสียง คิดเป็นร้อยละ 41.93

ดังนั้นการให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงอันเป็นเกราะมหาเทพของ “ประยุทธ์” และพวกพ้องของเขา ก็เหมือนการที่ให้ใครสักคนมาถามคุณด้วยภาษาลูว่า “เจ้าจะขายวิญญาณมาเป็นข้าช่วงใช้ฉัน
หรือไม่” ให้คุณตอบได้เพียงว่าใช่หรือไม่ใช่ และห้ามใครก็ตามที่รู้ภาษาลูแปลให้คุณฟัง หรือถ้าใครพยายามทำเช่นนั้น ก็จะถูกสาปให้เป็นกระถางต้นไม้

ที่เล่าไปข้างต้นเพื่อจะย้ำอีกครั้งว่า พลังอำนาจที่ทำให้พวกเขาไม่ยำเกรงใดๆ เราเลยนั้นเกิดจากอะไรและมีจุดเริ่มต้นจากไหน และความพยายามที่จะลดทอนพลังอำนาจเช่นนั้นก็ยากยิ่งดังได้กล่าวไป

การที่พรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลหันไปใช้แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรานั้น ก็อาจจะเป็นเหตุจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ว่า เมื่อประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติ การที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญเก่าจึงต้องใช้วิธีการเดียวกัน คือการให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อน ซึ่งฝ่ายพรรคการเมืองอาจจะเห็นว่ามีความยุ่งยากช้านานเกินไป รวมถึงความไม่แน่นอนว่ากระบวนการประชามติจะถูกแทรกแซง หรือล่อลวงได้อีกหรือไม่

แต่ก็ดังได้กล่าวไปแล้วว่า เงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรานั้น อย่างไรเสียก็ต้องไปจบที่ความเห็นชอบของ ส.ว.อย่างน้อยหนึ่งในสามของทั้งหมดอยู่ดี ซึ่งด้วยความได้เปรียบระดับนี้ และด้วยเนื้อหาที่จะเป็นการลดอำนาจของพวกเขา โอกาสสำเร็จนั้นก็ไม่ได้ดูมีหวังกว่ากันเท่าไรเลย

หนทางการให้ประชาชนออกเสียงประชามติเพื่อ “ยกเลิก” รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ เพื่อยกร่างใหม่ แม้อาจจะยุ่งยากและกินเวลายาวนาน และอาจมีปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยแทรกมากกว่า แต่ถ้ามันสำเร็จมันก็จะสำเร็จได้โดย ส.ว.ยากจะขวาง ด้วยเหตุผลสองประการคือ ประการแรก คือวิธีการดังกล่าวได้รับรองแล้วโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่าเป็นอำนาจของประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญที่จะกระทำได้ และเหตุผลในเชิงความเป็นจริงของความโน้มเอียงของบรรยากาศในสังคมประเทศ ซึ่งหากประชาชนอันเป็นเสียงส่วนใหญ่ออกเสียงประชามติกันว่าไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว ย่อมเป็นกระแสกำลังให้บุคคลธรรมดาที่ยังมีกายเนื้อซึ่งเจ็บตายได้อย่าง ส.ว. แต่ละคนนั้นต้องคิดให้หนักหากจะเอาตัวไปขวางคลื่นกระแสดังกล่าว

เพียงแต่สิ่งที่เรายังคงต้องระวัง ก็คือวิธีการออกแบบคำถามประชามตินั่นแหละว่าอย่าให้หมกเม็ดเหมือนสมัยคำถามพ่วงรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประชามติก็ต้องเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายข้อดีข้อเสียของคำถามประชามติอย่างเสรีและยุติธรรมเพียงพอด้วย

เพราะหาไม่แล้ว เลารูล่อกู้ล่องตู๊หลู่ยูลับกู้ละรุลอบบูลระปุลาชูลิปธูไลยตูลายภู่ล่ายตูลระลู้ลุทธ์หยุเล็นปู้ลู้ผู้ลำนูลันกูล่อตูไลปู้

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image