เดินหน้าชน : กินรวบ

พรรคพลังประชารัฐเปิดหน้าฉายเดี่ยว เตรียมยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 รายมาตรา ต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา วันที่ 7 เมษายนนี้

เป็นการตกผลึกจะแก้ไข 13 มาตรา 5 ประเด็น ประกอบด้วย

ประเด็นที่ 1 ให้ชุมชนมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากรัฐ

ประเด็นที่ 2 แก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส. เป็นแบบใช้บัตรสองใบ ให้ ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน

Advertisement

ประเด็นที่ 3 แก้ไขมาตรา 144 เพื่อเปิดช่องให้ ส.ส.สามารถแปรญัตติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ

ประเด็นที่ 4 เปิดช่องให้ ส.ส.และ ส.ว.ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ในการติดต่อกับทางราชการได้

ประเด็นที่ 5 ให้ ส.ส.และ ส.ว.มีอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และการจัดทำตามยุทธศาสตร์ชาติ

Advertisement

เมื่อไล่เรียงในแต่ละประเด็น ไม่มีส่วนไหนสัมผัสแตะต้องอำนาจของ ส.ว. ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่หลายฝ่ายเห็นว่าเป็นหนึ่งในปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ที่สำคัญพรรคพลังประชารัฐยังตีกันพรรคการเมืองอื่นที่เห็นต่างไปจากนี้ ผ่านการให้สัมภาษณ์ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้า พปชร. ไปยังฝ่ายค้านหรือ ส.ส.ที่จะยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณาเนื้อหาตามที่พลังประชารัฐเสนอ ไม่เช่นนั้น ส.ส.ของพลังประชารัฐจะไม่ยอมรับเนื้อหาที่เกินไปกว่า 5 ประเด็นที่นำเสนอข้างต้น

ควบคู่กันไปมี 3 พรรคร่วมรัฐบาล ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา กำลังร่วมกันฟอร์มญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ดูเหมือนค่ายแม่พระธรณีบีบมวยผมจะเอาการเอางานกว่าเพื่อน

แม้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ แห่งประชาธิปัตย์ จะบอกว่าทั้งสามพรรคได้พูดคุยกันแล้ว วางกรอบคร่าวๆ ไว้ 6 ประเด็น

-มาตรา 256 เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ ส.ว.มีบทบาทสำคัญ ไม่ให้มีข้อกำหนดเงื่อนไขยากเกินไป จนแทบจะเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

-มาตรา 272 เกี่ยวกับการให้อำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

-การเพิ่มสิทธิเสรีภาพสิทธิชุมชน

-การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและธรรมาภิบาล

-การกระจายอำนาจ

-ระบบการเลือกตั้ง

แต่เมื่อจับอาการของอีกสองพรรคก็ยังมีอาการคล้ายแบ่งรับแบ่งสู้

อย่างน้อยมีสุ้มเสียงจากนายภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกภูมิใจไทย ที่ระบุว่าภูมิใจไทยกำลังยกร่างแก้รัฐธรรมนูญเช่นกัน หากร่างประชาธิปัตย์มีประเด็นไม่ขัดแย้งกับแนวทางพรรคมากนัก ก็สามารถร่วมลงชื่อเสนอด้วย และอยากให้ประชาธิปัตย์ช่วยสนับสนุนร่างของภูมิใจไทยด้วย

เป็นอันว่า ตกลงจะร่วมกันเสนอญัตติ หรือต่างคนต่างยื่น หรือผลัดกันเกาหลัง

หรือต่อให้ 3 พันธมิตรจับมือไปด้วยกัน ต้องไม่ลืมว่า ส.ว.นับเป็นหลักประกันของการสืบทอดอำนาจ การเดินหน้าแก้ไขในมาตรา 256 มาตรา 272 ก็อาจส่งผลไปเพิ่มรอยร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลมากขึ้น จากที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ที่สุดหากพรรครัฐบาลร่วมเดินกันต่อไปไม่ได้ กระแสการยุบสภาที่พูดกันก่อนหน้านี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกินความเป็นไปได้

ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐจะไปได้จนสุดซอย หรือเกิดอุบัติเหตุยุบสภาขึ้นมาจริง และต้องใช้กติกาการเมืองเดิม

ล้วนเป็นคุณกับพลังประชารัฐและพี่น้อง “3 ป.” ทั้งสิ้น

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image