รัฐสภาเห็นชอบ หลักเกณฑ์ 5 หมื่นชื่อ เสนอเรื่องทำประชามติ ‘ฝ่ายค้าน’ อ้างจำนวนมากเกินไป

รัฐสภา เห็นชอบ หลักเกณฑ์ 5 หมื่นชื่อ เสนอเรื่องทำประชามติ ด้านฝ่ายค้านอ้างจำนวนมากเกินไป

เมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ มี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม

เวลา 10.25 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ชี้แจงถึงรายละเอียดการแก้ไขเนื้อหามาตรา 10-11 และมาตรา 20/3 ที่คณะกรรมการกฤษฎีกานำไปปรับปรุงให้สอดคล้องกับเนื้อหามาตรา 9 ที่รัฐสภามีมติให้ปรับปรุงแก้ไขในการประชุมครั้งที่แล้ว โดยในส่วนมาตรา 10 เกี่ยวกับการให้ทำประชามติภายใน 90-120 วัน นับจากวันที่ประธานรัฐสภาส่งเรื่องการทำประชามติให้นายกรัฐมนตรีทราบ ไม่มีสมาชิกคนใดคัดค้าน ที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 449 ต่อ 0 งดออกเสียง 2

ส่วนมาตรา 11 เกี่ยวกับเรื่องจำนวนผู้เสนอเข้าชื่อทำประชามติ ที่ร่าง กมธ.เสียงข้างมาก ระบุให้มีประชาชนเข้าชื่อ 5 หมื่นคนขึ้นไป โดยมี กมธ.เสียงข้างน้อย และสมาชิกหลายคน อาทิ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เห็นแย้งว่า เป็นจำนวนมากเกินไป ควรกำหนดแค่ 1 หมื่นคน ก็เพียงพอ เพราะไม่ว่าจะเสนอไปกี่รายชื่อ อำนาจชี้ขาดจะทำประชามติหรือไม่ก็ยังอยู่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)

Advertisement

ด้าน นายชูศักดิ์ ศิรินิล กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า การทำประชามติไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่ ครม.มีมติเห็นสมควร เพราะอาจมีกรณีอื่นๆ ที่ทำประชามติได้ เช่น การทำประชามติระดับพื้นที่ ระดับภาค ที่ไม่ต้องใช้ประชาชนทั้งประเทศเข้าชื่อ ดังนั้น การไปเพิ่มจำนวนผู้เข้าชื่อทำประชามติเป็น 5 หมื่นชื่อนั้น ถ้าต้องทำประชามติในพื้นที่ จะเป็นจำนวนมากเกินไป

อ่านข่าว : กมธ.ประชามติ เคาะใหม่ใช้เสียง ปชช. 50,000 ชื่อ เสนอทำประชามติ สุดท้ายได้ทำหรือไม่ เป็นอำนาจ ครม.

นายชูศักดิ์ ระบุว่า การเข้าชื่อเพื่อทำประชามติตามมาตรา 11 นั้น แม้ประชาชนจะเข้าชื่อ แต่สุดท้ายต้องให้ ครม.เป็นผู้พิจารณาจะอนุญาตให้ทำประชามติหรือไม่ ถ้า ครม.ไม่เห็นชอบก็ทำประชามติไม่ได้ การให้ประชาชนเข้าชื่อเป็นการริเริ่มทำประชามติเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะสำเร็จผลต้องทำประชามติ จึงควรกำหนดไว้ 10,000 คน น่าจะเหมาะสมแล้ว

Advertisement

หลังจากที่ประชุมอภิปรายครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมลงมติเห็นด้วยตามที่ กมธ.เสียงข้างมากเสนอมาด้วยคะแนน 347 ต่อ 154 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 2

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image