ก้าวไกล’ ยันจุดยืนลุยผลักดัน กม.ประชามติ ลั่นจากองค์ประชุมที่เหลือ มีสภาเดี่ยวก็เพียงพอ

‘ก้าวไกล’ ยันจุดยืนเดินหน้าผลักดัน กม.ประชามติ ลั่นจากองค์ประชุมที่เหลือ มีสภาเดี่ยวก็เพียงพอ

เมื่อวันที่ 8 เมษายน นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก.ก. กล่าวถึงกรณีการประชุมสมัยวิสามัญที่ล่มไปแล้ว ว่า พรรคก้าวไกลไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ เปิดวิสามัญครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 คงไม่ต้องพูดถึงงบประมาณในการจัดการประชุม ซึ่งการประชุมครั้งนี้เหลืออีกเพียงไม่กี่มาตราเท่านั้น เเต่จะต้องมีการเรียกเรียกประชุมใหม่อีกครั้ง เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ

นายณัฐชา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนการอ่านพระบรมราชโองการปิดสมัยประชุม นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก.ก. ได้ลุกขึ้นยกมือขอพูดกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีเพื่อนสมาชิกทั้งในห้องอาหาร ด้านหน้าหรือที่นั่งอยู่ด้านในเเต่ไม่ได้กดปุ่มเเสดงตน โดยกำลังจะลุกขึ้นพูดเเต่นายชวนได้ใช้สิทธิมอบหมายให้ฝ่ายเลขาฯ กล่าวปิดสมัยประชุม

นายณัฐชา ระบุว่า ตนสงสัยว่าพ.ร.บ. ฉบับนี้เขียนกันยากขนาดนั้นเลยหรือ หรือเป็นเพราะกลุ่มบุคคลใดไม่ได้ดั่งใจเเล้วไม่อยากให้ผ่านหรือไม่ ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติหากกฎหมายของฝ่ายรัฐบาลไม่ผ่านด้วยกรณีใดๆก็เเล้วเเต่ อาจจะต้องมีการยุบสภาเกิดขึ้น เเต่วันนี้สมาชิกฝ่ายค้านทุกพรรคอยู่กันอย่างหนาเเน่นมีการลงมติเเสดงตนให้ เเต่กลับมีการตีรวน พูดจาสอดเสียดจากทั้งส.ว. เเละส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ทั้งๆ ที่วันนี้เราต้องการให้ผ่านกฎหมายที่สำคัญของประเทศชาติอีกหนึ่งกฎหมาย

Advertisement

“ตนอยากฝากถึงประชาชนว่าเราจะต้องตระหนักกันอีกครั้งว่าสถานการณ์การเมืองในตอนนี้ไม่สู้ดีนัก วันนี้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลเดินทางผ่านมาครึ่งหนึ่งเเล้ว การเเก้รัฐธรรมนูญก็รู้อยู่เเล้วว่าควรเเก้อย่างไรเเละต้องพึ่งประชามติ เเต่วันนี้ความบริสุทธิ์ใจเเละความจริงใจไม่เกิดขึ้นเลย หากเป็นเป็นเช่นนี้เเล้วเราจะดำเนินการต่อได้อย่างไร” นายณัฐชา กล่าว

ด้านนายณัฐวุฒิ กล่าวว่า พวกเราอาจไม่ได้เห็นด้วยในรัฐธรรมนูญปี 60 แต่อย่างน้อยในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหมวดหมู่ว่าด้วยการทำประชามติ 2 ประการ ได้แก่ การทำประชามติที่จะรองรับเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และการทำประชามติในเรื่องที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรในมาตรา 166 ฉะนั้นเราจึงไม่อาจเดินหน้าในการทำประชามติได้ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เรื่องระดับพื้นที่หรือเรื่องระดับประเทศ เนื่องจากไม่มีกฎหมายประชามติ

Advertisement

นายณัฐวุฒิ ระบุว่า ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นกฎหมายที่รัฐบาลจำเป็นต้องเสนอเพื่อให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณา แต่กฎหมายฉบับนี้แตกต่างจาก พ.ร.บ. หลายฉบับ ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมฝ่ายค้านได้มีการยกร่างพ.ร.บ.ประชามติ แต่ไม่อาจเสนอในสัดส่วนของพรรคฝ่ายค้านประกบกับร่างของรัฐบาลได้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีในการตีความว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายปฏิรูป หมายความว่าต้องมีการพิจารณาในรัฐสภา ซึ่งจะเห็นได้ว่ากฎหมายฉบับนี้มีการพิจารณามาแล้วถึง 3 ครั้ง และในท้ายที่สุดก็ยังไม่ถึงฝั่งฝัน ตนคิดว่ารัฐบาลจะต้องตอบคำถามประชาชนว่าเกิดอะไรขึ้น หรือไม่อยากให้มีการทำประชามติ หรือห่วงว่าจะมีการทำประชามติในเรื่องใด

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า พวกเราอาจไม่ได้เห็นด้วยในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่มีเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับเป็นอำนาจของประชาชน โดยการให้ประชาชนทำประชามติก่อน แต่สิ่งเหล่านี้วันนี้ยังไม่เกิดขึ้น และตนเริ่มไม่มั่นใจว่าพรบประชามติฉบับใหม่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้จริงหรือไม่

“นอกจากนี้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ในเนื้อหาหลักมี 67 มาตรา ซึ่งในวันนี้เราเดินมาถึงมาตราที่ 53 แล้ว ที่เหลืออยู่เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น คือ หมวด 8 ว่าด้วยการคัดค้านการออกเสียงประชามติ กับหมวด 9 ว่าด้วยการกำหนดโทษต่างๆ ซึ่งกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาลนั้น ปกติองค์ประชุมเป็นเรื่องของรัฐบาล ผมเคารพเพื่อนสมาชิกจากพรรคที่ติดโควิด แต่พรรครัฐบาลที่เหลือ รวมถึงบทบาทของสมาชิกวุฒิสภาที่แสดงให้เห็นในสภาอีกครั้งหนึ่งนั้น เป็นการตอกย้ำว่าความจริงแล้วหมวดหมู่ว่าด้วยกฎหมายปฏิรูปอาจไม่จำเป็นต้องมี องค์ประชุมที่เหลือ 370 กว่าคนจาก 700 กว่าคน มีแค่สภาเดี่ยวก็เพียงพอ” นายณัฐวุฒิ กล่าว

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า หากติดตามการประชุมวันนี้จะเห็นว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นั่งอยู่ในห้องประชุม เพราะนอกจากกฎหมายประชามติ ยังมีกฎหมายที่สำคัญ คือ ประมวลยาเสพติด ซึ่งนายสมศักดิ์ ประกาศชัดเจนว่ากฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ที่กำลังจะพิจารณาจะนำไปสู่การลดจำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดที่วันนี้มีหลักแสนคน จะคืนผู้ต้องขังในคดียาเสพติดประเภทผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัด และจะคืนคนเหล่านี้ให้กับสังคมที่ช่วยกันเยียวยาฟื้นฟู สรุปแล้วรัฐบาลไม่เห็นความสำคัญเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติดหรือ และแม้จะมีการเปิดประชุมสามัญในเดือนพฤษภาคมไม่ได้หมายความว่าจะมีการประชุมร่วมรัฐสภาในทันที หรือหากรัฐบาลใจไม่ด้านพอในการดำเนินการต่อ อาจจะยอมรับว่านี่คือความผิดพลาดและอาจจะยุบสภาไปก่อน หมายความว่าพรบประชามติและประมวลกฎหมายยาเสพติดอาจจะไม่เกิดขึ้น

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า ตลอดสองวันที่ผ่านมาจะเห็นบทบาทของพรรคฝ่ายค้านที่ร่วมประชุมครบถ้วนสมบูรณ์มาโดยตลอด และร่วมอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงแสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ไม่เห็นสิ่งเหล่านี้จากพรรคร่วมรัฐบาล พรรคก้าวไกลยืนยันว่าไม่ว่าจะเปิดสมัยประชุมวิสามัญหรือสมัยประชุมสามัญ เราจะเดินหน้าผลักดันพ.ร.บ.ประชามติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image