ผอ.รพ.เอกชน แจงไม่รับตรวจเหตุเตียงไม่พอ รับรอบนี้อันตราย แนะรัฐเร่งนำเข้าวัคซีนอื่น

‘ผอ.รพ.เอกชน’ หารือ ‘นายกฯ’ แจงไม่รับตรวจโควิด เพราะเตียงไม่พอ แนะ นำเข้าวัคซีนทางเลือก เร่งฉีดให้ปชช. เหตุอัตราแพร่ระบาดสูงกว่าเดิม

เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 9 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ให้สัมภาษณ์กรณีที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งประกาศไม่รับตรวจโควิด-19 เนื่องจากมีเตียงไม่เพียงพอ ว่า ตามปกติหากโรงพยาบาลไหนรับตรวจโควิด-19 เรามีข้อตกลงว่าโรงพยาบาลที่รับตรวจจะต้องรับคนไข้ที่มาตรวจไว้ แต่ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อหลายร้อยคนต่อวัน ทำให้เตียงเต็ม จึงนำเรื่องมาปรึกษากับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ซึ่งทางกรุงเทพมหานครและกองทัพบกก็จะเปิดโรงพยาบาลสนาม โดยในช่วงบ่ายทั้งสองหน่วยงานจะประชุมร่วมกัน นอกจากนี้โรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จำนวน 470 เตียง ก็จะเปิดรับ ในวันอาทิตย์ที่ 11 เมษายนนี้ หากกองทัพบก กองทัพเรือและกรุงเทพมหานครเข้ามาช่วยก็จะได้ประมาณ 3,000 เตียง ก็น่าจะเพียงพอ เพราะส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อยังอยู่ในกรุงเทพฯ

เมื่อถามว่า การที่โรงพยาบาลเอกชนไม่รับตรวจเชื้อโควิด-19 ทำให้ประชาชนมองภาพรวมว่าสถานการณ์วิกฤตแล้วใช่หรือไม่ นพ.เฉลิม กล่าวว่า ยอมรับว่าการระบาดในช่วงนี้อันตราย มีอัตราการติดเชื้อสูง เพราะเป็นเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ ถ้าเป็นไปอย่างนี้ และการจัดการเรื่องเตียงไม่ดี คนไข้อาจจะต้องกักตัวอยู่ที่บ้านซึ่งก็ไม่ดีเพราะอาจจะทำให้ติดคนที่บ้านได้ ขณะนี้คนที่ติดอาจจะเป็นคนที่แข็งแรง และอาจจะเป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ หากไม่กักตัวให้ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้สามารถเข้าไปรับการตรวจโควิด-19 ตามปกติได้ใช่หรือไม่ นพ.เฉลิม กล่าวว่า ประเด็นหลักคือ โรงพยาบาลไม่มีเตียงผู้ป่วยรองรับกรณีหากตรวจแล้วพบเชื้อ ไม่ใช่เรื่องการขาดแคนน้ำยาตรวจเชื้อ เท่าที่ทราบทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ขณะนี้มีการตรวจวันละเกือบ 20,000 คน

เมื่อถามว่า ปัญหาที่ไม่รับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐที่จะนำไปรักษาใช่หรือไม่ นพ.เฉลิม กล่าวว่า ข้อตกลงเมื่อ 2 มีนาคม 2563 เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นคือติดเชื้อเยอะบางที่มากกว่า 10% ถือว่าสูงมากและไม่มีเตียงรับ ถ้าหยุดการบริการเตียงก็จะโล่งแล้วค่อยมาเปิดใหม่

เมื่อถามว่า จะขอความร่วมมือผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงและยังไม่แสดงอาการไปอยู่ที่โรงพยาบาลสนามด้วยหรือไม่ เพื่อให้เตียงในโรงพยาบาลเพียงพอ นพ.เฉลิม กล่าวว่า คงเป็นขั้นตอนทางการแพทย์ การติดเชื้อครั้งนี้ต่างจากครั้งที่แล้ว เพราะในกรุงเทพฯ หากเห็นว่าไปกักตัวอยู่ในสถานที่รวม อาจจะไม่อยากไป เพราะบางคนมีกำลังจ่าย ดังนั้นหากถ้ามีอาการเบา ควรไปโรงพยาบาลสนาม หากอาการหนักให้มาที่โรงพยาบาล และ 80% ของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อังกฤษไม่ค่อยแสดงอาการ จึงอยากให้เตรียมสถานที่ในโรงพยาบาลไว้สำหรับเคสหนักมากกว่า

ADVERTISMENT

เมื่อถามถึงแผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของโรงพยาบาลเอกชน นพ.เฉลิม กล่าวว่า โรงพยาบาลเอกชนเห็นตรงกันว่า อยากให้องค์การอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนวัคซีนให้มากขึ้น และนำเข้ามาเพื่อขายให้กับเอกชน เพราะขณะนี้เรายังขาดแคลนวัคซีน โดยวัคซีนที่เข้ามาขณะนี้มีวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซนเนก้า 61 ล้านโดส และบริษัทซิโนแวค อีก 2 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชาชนได้ 31 ล้านคน แต่ทั้งหมดต้องฉีดประมาณ 40 ล้านคน โดยวัคซีนทางเลือก ทางองค์การเภสัชกรรมสามารถนำเข้ามาได้ง่ายที่สุด เพราะผู้ผลิตจะขายตรงให้กับรัฐบาลได้มากกว่าเอกชน