รายงานหน้า 2 : ส่องร่างพ.ร.บ.ประชามติ ให้สิทธิ‘ปชช.’5หมื่นชื่อ ลงคะแนนออนไลน์ได้

รายงานหน้า 2 : ส่องร่างพ.ร.บ.ประชามติ ให้สิทธิ‘ปชช.’5หมื่นชื่อ ลงคะแนนออนไลน์ได้

รายงานหน้า 2 : ส่องร่างพ.ร.บ.ประชามติ ให้สิทธิ‘ปชช.’5หมื่นชื่อ ลงคะแนนออนไลน์ได้

หมายเหตุ สาระสำคัญบางส่วนของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ….ที่รัฐสภาต้องหยุดพิจารณาถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มีนาคม เสียงโหวตเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่ให้รัฐสภาและประชาชนมีสิทธิขอทำประชามติได้ด้วย จึงต้องนำกลับไปแก้ไขใหม่ ต่อมาเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญวันที่ 7-8 เมษายน พิจารณาใหม่อีกครั้ง แต่ ส.ส.และ ส.ว.หลายคนลาประชุมไปตรวจหาเชื้อโควิด เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยง ทำให้มีผู้ประชุมเหลือน้อย นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จึงสั่งเลื่อนไปพิจารณาสมัยประชุมหน้า

หมวด 1 บททั่วไป

-มาตรา 10 เมื่อมีกรณีที่จะต้องจัดให้มีการออกเสียงตามที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 9 (1) ให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ และให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงตามวันที่กำหนดตามที่ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการ ซึ่งต้องไม่เร็วกว่าเก้าสิบวันและไม่ช้ากว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากประธานรัฐสภา

Advertisement

ในการแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานรัฐสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมและสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมโดยสรุปในลักษณะที่ประชาชน จะสามารถเข้าใจเนื้อหาสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้โดยสะดวกให้นายกรัฐมนตรีทราบ พร้อมกับส่งให้คณะกรรมการเพื่อดำเนินการต่อไปด้วย

-มาตรา 11 เมื่อมีกรณีที่จะต้องจัด ให้มีการออกเสียงตามมาตรา 9 (4) ให้ประธานรัฐสภาแจ้งมติเห็นชอบของแต่ละสภา ให้นายกรัฐมนตรีทราบ ในการแจ้งดังกล่าวให้ส่งสาระสำคัญของเรื่องที่จะขอทำประชามติในลักษณะที่ประชาชนจะสามารถเข้าใจ เนื้อหาสำคัญได้โดยสะดวกให้นายกรัฐมนตรีทราบด้วย

หลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 (5) อย่างน้อยต้องมีรายละเอียด เกี่ยวกับจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน ส่วนคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม และการถูกจำกัดสิทธิ ของผู้มีสิทธิเข้าชื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

Advertisement

เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรตามมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในการที่จะให้มีการออกเสียงตามมาตรา 9(2) (3) (4) หรือ (5) ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงตามวันที่กำหนดตามที่ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการ ซึ่งต้องไม่เร็วกว่าเก้าสิบวันและไม่ช้ากว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เว้นแต่กรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุผลความจำเป็นในทางงบประมาณหรือเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คณะรัฐมนตรีอาจกำหนดวันแตกต่างจากที่กำหนดไว้ได้ ในประกาศดังกล่าวต้องระบุเรื่องที่จะขอให้ประชาชนออกเสียงประชามติ โดยมีข้อความที่ชัดเจนเพียงพอที่จะให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นชอบหรือ ไม่เห็นชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติได้โดยสะดวก

-มาตรา 12 การออกเสียงให้ใช้วิธีลงคะแนนออกเสียงโดยตรงและลับ

การออกเสียงให้กระทำโดยใช้บัตรออกเสียง หรือคณะกรรมการอาจกำหนดให้กระทำโดยวิธีลงคะแนนออกเสียงทางไปรษณีย์ หรือออกเสียงโดยเครื่องลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีอื่น โดยวิธีการนั้นสามารถป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก และอาจใช้วิธีลงคะแนนวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธี และใช้ในเขตออกเสียงใดเขตออกเสียงหนึ่งหรือหลายเขตออกเสียง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

-มาตรา 13 การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น

หมวด 2 การให้ข้อมูลและการจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามติ

-มาตรา 14 ในการจัดทำประชามติตามมาตรา 10 ให้คณะกรรมการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญโดยสรุปที่ได้รับจากประธานรัฐสภาตามมาตรา 10 วรรคสอง ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

การเผยแพร่ข้อมูลตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องเผยแพร่ผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศให้มีการออกเสียง รวมทั้งจัดทำเอกสารเผยแพร่ข้อมูลส่งให้เจ้าบ้านทราบไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันออกเสียง และเผยแพร่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงหรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐด้วย

การจัดทำและการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะมีการออกเสียงตามวรรคหนึ่งต้องมุ่งให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องที่จะมีการออกเสียงและต้องไม่มีลักษณะเป็นการชี้นำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับเรื่องที่จะมีการออกเสียงนั้น

-มาตรา 15 เมื่อจะจัดให้มีการออกเสียงตามมาตรา 11 ให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดดำเนินการจัดทำข้อมูล ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ส่งให้คณะกรรมการก่อนวันประกาศให้มีการออกเสียงไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน

(1) ชื่อเรื่องที่จะจัดทำประชามติ และเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการทำประชามติ

(2) สาระสำคัญของกิจการในเรื่องที่ทำประชามติ

(3) ขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินกิจการในเรื่องที่ทำประชามติ

(4) ประมาณการค่าใช้จ่ายและที่มาของงบประมาณที่จะนำมาใช้จ่ายสำหรับกิจการในเรื่องที่ทำประชามติ

(5) ประโยชน์ได้เสียที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศชาติ ท้องถิ่น หรือประชาชน รวมทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น จากการดำเนินการพร้อมสรุปเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย

ให้คณะกรรมการเผยแพร่ข้อมูลตามวรรคหนึ่งให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป และให้นำความในมาตรา 14 วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับแก่การจัดทำข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวด้วย

-มาตรา 16 เมื่อได้ประกาศกำหนดวันออกเสียงแล้ว ให้คณะกรรมการเผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนการออกเสียงให้ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับทราบอย่างทั่วถึง

การจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่จะจัดให้มีการออกเสียงผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงหรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์จะต้องเปิดโอกาส ให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างรอบด้านอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ในกรณีที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการว่าผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ผู้ใดไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามวรรคสอง ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือให้กระทำการหรืองดเว้นการกระทำใดๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ตามที่เห็นสมควร

-มาตรา 16/1 ประชาชน พรรคการเมือง องค์กรเอกชน และกลุ่มต่างๆ ในสังคม ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อการออกเสียงได้โดยเสรี เสมอภาคและเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

ในกรณีเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อให้ข้อมูลในการออกเสียงที่กระทำโดยหน่วยงานของรัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชน พรรคการเมือง องค์กรเอกชน และกลุ่มต่างๆ ในสังคมได้เข้าร่วมอย่างเสรีและเท่าเทียม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

หมวด 6 การลงคะแนนออกเสียงและการนับคะแนนออกเสียง

ส่วนที่ 1 การลงคะแนนออกเสียงด้วยบัตรออกเสียง

-มาตรา 42 ในกรณีที่การออกเสียงในหน่วยออกเสียงแห่งใดไม่สามารถกระทำได้อันเนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่นถ้าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันออกเสียง ให้คณะกรรมการประจำเขตกำหนดที่ออกเสียงใหม่ ถ้าไม่อาจกำหนดที่ออกเสียงใหม่ได้ ให้ประกาศงดการออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นแล้วรายงานคณะกรรมการทราบโดยเร็ว

ในกรณีที่เหตุตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวันออกเสียง ให้คณะกรรมการประจำเขตหรือคณะกรรมการประจำหน่วยประกาศงดการออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นแล้วรายงานคณะกรรมการทราบโดยเร็ว

การดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

ให้คณะกรรมการกำหนดวันลงคะแนนออกเสียงใหม่สำหรับหน่วยออกเสียงนั้นโดยเร็ว เว้นแต่คณะกรรมการเห็นว่าจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงของหน่วยออกเสียงนั้นไม่เปลี่ยนแปลงผลการออกเสียงคณะกรรมการจะไม่จัดให้มีการลงคะแนนออกเสียงใหม่ในหน่วยออกเสียงนั้นก็ได้

ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่มีการจัดให้มีการลงคะแนนออกเสียงใหม่ มิให้ถือว่าผู้มีสิทธิออกเสียงเป็นผู้ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง

ส่วนที่ 2 การลงคะแนนออกเสียงทางไปรษณีย์

-มาตรา 42/1 ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรให้มีการลงคะแนนออกเสียงทางไปรษณีย์ ให้คณะกรรมการประกาศให้ผู้มีสิทธิออกเสียงใช้สิทธิลงคะแนนออกเสียงทางไปรษณีย์ได้

ผู้มีสิทธิออกเสียงที่ประสงค์จะใช้สิทธิออกเสียงทางไปรษณีย์ให้ยื่นคำขอต่อคณะกรรมการประจำเขตภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด

หลักเกณฑ์และวิธีการลงทะเบียน การลงคะแนนออกเสียง การนับคะแนนออกเสียง และการดำเนินการอื่นที่จำเป็นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

ส่วนที่ 3 การลงคะแนนออกเสียงโดยเครื่องลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีอื่น

-มาตรา 42/3 ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรให้มีการลงคะแนนออกเสียงโดยเครื่องลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ ในหน่วยออกเสียงใดหน่วยออกเสียงหนึ่งหรือหลายหน่วยออกเสียง ให้คณะกรรมการประกาศให้ผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นทราบ

หลักเกณฑ์และวิธีการลงคะแนนออกเสียง การนับคะแนนออกเสียงและการดำเนินการอื่นที่จำเป็นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

-มาตรา 42/4 ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรให้มีการลงคะแนนออกเสียงทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้คณะกรรมการประกาศให้ผู้มีสิทธิออกเสียงใช้สิทธิลงคะแนนออกเสียงทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้

ผู้มีสิทธิออกเสียงที่ประสงค์จะใช้สิทธิออกเสียงทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ยื่นคำขอต่อคณะกรรมการประจำเขตภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด

หลักเกณฑ์และวิธีการลงทะเบียนการลงคะแนนออกเสียง การนับคะแนนออกเสียง และการดำเนินการอื่นที่จำเป็นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

หมวด 8 การคัดค้านการออกเสียง

มาตรา 54 เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการว่าการออกเสียงในทุกหน่วยออกเสียงหรือบางหน่วยออกเสียงมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ไม่ว่าจะมีผู้ร้องเรียนหรือคัดค้านหรือไม่ ให้คณะกรรมการดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยโดยเร็ว และในกรณีที่เห็นว่าการออกเสียงมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้มีการออกเสียงใหม่หรือนับคะแนนออกเสียงใหม่ในทุกหน่วยออกเสียงหรือบางหน่วยออกเสียงก็ได้ แต่ต้องดำเนินการให้มีขึ้นไม่ช้ากว่าสามสิบวันนับแต่วันออกเสียง แต่ในกรณีที่การออกเสียงใหม่หรือการนับคะแนนออกเสียงใหม่จะไม่เปลี่ยนแปลงผลการออกเสียง คณะกรรมการจะมีมติไม่ให้มีการออกเสียงใหม่หรือนับคะแนนออกเสียงใหม่ก็ได้ แต่ต้องประกาศให้ประชาชนทราบถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำและเหตุผลที่ไม่ให้มีการออกเสียงใหม่หรือนับคะแนนออกเสียงใหม่

ผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่วยออกเสียงใดเห็นว่ามีกรณีตามวรรคหนึ่งในหน่วยออกเสียงที่ตนมีสิทธิออกเสียง มีสิทธิยื่นคำคัดค้านต่อคณะกรรมการโดยมีรายละเอียดแห่งพฤติการณ์หรือหลักฐานพอสมควรที่แสดงให้เห็นว่าการออกเสียงประชามตินั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมภายในสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่การลงคะแนนออกเสียงประชามติสิ้นสุดลง

วิธีการยื่นคำคัดค้านและวิธีการพิจารณาตามวรรคสองให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

ในระหว่างที่มีการดำเนินการออกเสียงใหม่หรือนับคะแนนออกเสียงใหม่ตามวรรคหนึ่ง ให้รอการประกาศผลการออกเสียงไว้ก่อนจนกว่าจะรู้ผลการออกเสียงใหม่หรือการนับคะแนนออกเสียงใหม่ดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image