4 นักกิจกรรม 1 นักข่าว ขึ้นรับฟังคำสั่งศาลราชบุรี คดีรณรงค์ประชามติ ก่อนให้ประกันตัว

 

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม เมื่อเวลา 09.00 น. นายปกรณ์ อารีกุล นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ นายทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท นายอนันต์ โลเกตุ นายอนุชา รุ่งมรกต และนายภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย พร้อมด้วยทนายความ ได้เดินทางมารับฟังคำสั่งศาลจังหวัดราชบุรี กรณีจำเลยได้ดำเนินการเผยแพร่ข้อความ และสติ๊กเกอร์สีน้ำเงิน มีข้อความระบุว่า “ 7 สิงหา ร่วมกัน VOTE NO กับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” ซึ่งมีความหมายว่าให้ร่วมกันออกเสียงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการร่างธรรมนูญจัดทำขึ้น ซึ่งกำหนดให้มีการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม

โดยในเอกสารมีการเขียนระบุว่า จำเลยทั้ง 5 ได้บังอาจร่วมกันดำเนินการเผยแพร่ข้อความระบุว่า “7 สิงหา ร่วมกัน VOTE NO กับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” ซึ่งมีความหมายว่าให้ร่วมกันออกเสียงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้น ซึ่งกำหนดให้มีการออกเสียงในวันดังกล่าว ด้วยการแจกจ่ายรูปลอก (สติ๊กเกอร์) ซึ่งมีข้อความดังกล่าวให้แก่ประชาชนทั่วไป และพรรคพวกของจำเลย ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิออกเสียง อันเป็นการดำเนินการเผยแพร่ข้อความในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง อันมีลักษณะเป็นการปลุกระดมโดยมุ่งหวังเพื่อให้มีผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง อันเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ในการกระทำการก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

นายปกรณ์กล่าวว่า จากกรณีประชามติที่อำเภอบ้านโป่ง ทำให้ผมพร้อมพวกถูกฟ้องจาก สภ.บ้านโป่ง ว่าได้ทำผิด พ.ร.บ. ประชามติ  ม. 61 วรรค 2 จากการที่ขับรถไปที่อำเภอบ้านโป่งเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม เดิมเรามาที่ศาลและหลังจากศาลนัดมารายงานตัวจากที่เราได้ยื่นประกันไว้ก่อนก็ได้นัดมาวันนี้ แต่พอมาถึงปรากฏว่าได้พบทางอัยการจังหวัดราชบุรีได้ยื่นฟ้องในคดีนี้ และศาลก็ได้รับฟ้องโดยในคำบรรยายฟ้องของอัยการได้เขียนว่าเราบังอาจเผยแพร่สติ๊กเกอร์ที่มีข้อความว่าโหวตโน กับอนาคตที่ไม่ได้เลือกเพียงเรื่องเดียว ส่วนเรื่องอื่นๆ ไม่ได้บรรยายฟ้องมา ทั้งนี้ยังคงยื่นฟ้องเราในความผิดฐานละเมิด พ.ร.บ.ประชามติ และไม่พิมพ์ลายนิ้วมือด้วย นอกจากนี้ยังขอให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของพวกเราทั้ง 5 คน เป็นเวลา 10 ปี วันนี้ศาลได้สอบถามเบื้องต้นว่าเราจะให้การอย่างไรและยังคงยืนยันที่จะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ดังนั้นศาลจึงได้นัดมาในวันที่ 21 กันยายน เพื่อเข้ากระบวนการของศูนย์สมานฉันท์ปรองดอง ถ้าเรายังคงให้การปฏิเสธอีกก็คือการไม่ยอมเข้ากระบวนการ ศาลก็จะนัดอีกครั้งในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ โดยวันนี้ศาลได้ให้ประกันตัวไป วงเงินคนละ 140,000 บาท

Advertisement

201608291429505-20041020124557

“ส่วนในวันที่ 21 กันยายน ถ้าการปรองดองคือการที่เราต้องทำผิดเราก็คงปฏิเสธ และเรายืนยันมาตลอดเนื้อหาเอกสารทั้งหมดเรื่องประชามติ ซึ่งเราคิดว่าเราไม่ได้บิดเบือนเราเชื่อโดยสุจริตใจว่าจากเอกสารที่เป็นข้อมูลจริงและเห็นพฤติกรรมที่บ้านโป่งก็ยังไม่ได้มีการแจกจ่ายการรณรงค์อะไรเป็นแค่อยู่ในรถเฉยๆอย่างที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด ถ้าเราไปรับสารภาพ เพื่อที่จะเข้าสู่กระบวนการปรองดองก็ถือว่าเราโกงตัวเอง โกหกประชาชนมาตลอดด้วย ดังนั้นกรณีนี้คงคิดว่ายืนยันที่จะปฏิเสธ” นายปกรณ์กล่าว

นายปกรณ์ยังกล่าวอีกว่า หลังจากที่กระบวนการประชามติแล้ว จริงๆ แล้วเสียงที่โหวตรับ 15 ล้านคน  แต่เสียงโหวตไม่รับ 10 ล้านคน คิดว่ามีความหมาย และตัวเลขที่บอกว่าประชาชนถึงมากกว่าครึ่งออกไปโหวตโดยไม่ได้อ่านร่างก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เมื่อรัฐธรรมนูญบังคับใช้เราทั้งหมดก็จะได้รับผลที่เกิดขึ้นร่วมกัน จึงเป็นช่วงเวลาที่ได้ถอดบทเรียนร่วมกันในสังคมไทยสุดท้ายประชามติ 7 สิงหาคม ได้พัฒนากระบวนการในประเทศไทยหรือไม่ ถ้าไม่ ถ้าในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีการเสนอทำให้แก้รัฐธรรมนูญหรือมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เป็นเรื่องในอนาคต พวกเราคิดว่าการเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 10 ปี มันรุนแรงกว่าการติดคุก ถ้าแค่แจกสติ๊กเกอร์ซึ่งก็ยืนยันว่าไม่ได้มีลักษณะไปถึงขั้นปลุกระดม สติ๊กเกอร์ก็ไม่ได้บิดเบือน เพราะเขียนว่าโหวตโนไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก ถามว่า ส.ว. 250 คน เราได้เลือกหรือไม่ เราได้มีส่วนร่วมยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image