พิธา ชี้ โควิดระลอก 3 หนักกว่าเดิม ต้องเพิ่มศักยภาพตรวจหาเชื้อ อย่าผลักภาระวัคซีนให้เอกชน

พิธา ชี้ โควิดระลอก 3 หนักกว่าเดิม ต้องเพิ่มศักยภาพตรวจหาเชื้อ อย่าผลักภาระวัคซีนให้เอกชน

เมื่อวันที่ 11 เมษายน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ ‘โควิดระลอก 3 ประชาชนปลอดภัย-เศรษฐกิจไม่พัง’ ร่วมกับ พญ.ขวัญปีใหม่ พะนอจันทร์ แอดมินกลุ่ม เรียนรู้ สู้ Covid ผ่านทางเพจพรรคก.ก.

ในการสนทนา นายพิธา เริ่มต้นจากด้วยการชี้แจงผลการตรวจเชื้อโควิดของตนเองและบุตรสาวอย่างเป็นทางการว่ามีผลเป็นลบหรือไม่พบเชื้อ ส่วนสาเหตุที่ต้องเข้ารับการตรวจเชื้อเนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงจากการร่วมเดินทางไปพักผ่อนที่เกาะสมุยพร้อมบุตรและครอบครัวของเพื่อนลูกในวันที่ 4-6 เมษายน ต่อมา ได้รับแจ้งจากครอบครัวเพื่อนของบุตรสาวว่าตรวจพบเชื้อโควิด แม้ว่าก่อนหน้านี้ได้เคยตรวจหาเชื้อโควิดในวันที่ 8 เม.ย. ที่สภาผลเป็นลบ แต่ได้ตรวจอีกครั้งในช่วงเย็นวันที่ 10 เม.ย.ทันทีที่ได้รับแจ้ง ผลที่ทราบในวันนี้คือไม่พบเชื้อ แต่ก็จะขอกักตัวเพื่อสังเกตอาการ 14 วัน ตั้งแต่วันนี้ 11 – 25 เม.ย. เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ติดเชื้อและไม่แพร่เชื้อสู่สาธารณะ

พิธา เผยผลตรวจโควิดเป็นลบ ยังกักตัวสังเกตอาการต่ออีก 14 วัน

อย่างไรก็ตาม แม้อยู่ในช่วงกักตัวแต่ด้วยการแพร่ระบาดของโควิดระลอก 3 ที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งนี้ โดยได้เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมพูดคุยผ่านทางออนไลน์ เพื่อให้ความกระจ่างต่อประชาชนถึงสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ และการเตรียมตัวรับมือการระบาดที่อาจเลวร้ายลงในอนาคต

Advertisement

นายพิธา กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดระลอก 3 มีผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ เริ่มขาดแคลนบุคลากรทางสาธารณสุข มีการปฏิเสธการตรวจโควิดในหลายโรงพยาบาล เนื่องจากขาดน้ำยาตรวจและเตียงจากการพบผู้ติดเชื้อมากขึ้นทำให้มีอัตราการครองเตียงสูง นอกจากนี้ พิธายังแลกเปลี่ยนกับทัศนะกับ พญ.ขวัญปีใหม่ ซึ่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์ที่หนักหน่วงของพี่น้องบุคลากรสาธารณสุข เนื่องจากการระบาดครั้งนี้เป็นสายพันธุ์อังกฤษแตกต่างจากสองระลอกที่ผ่านมา ทุกอย่างจึงเกิดขึ้นเร็วมาก โดยระบบที่ผ่านมาเป็นแบบตั้งรับมาตลอด

เมื่อมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเกิดขึ้นพร้อมกันแต่บุคลากรและเตียงมีไม่มากจึงเต็มอย่างรวดเร็ว เพราะบุคลากรต้องแบ่งคือคนไข้เดิมก็ต้องดูด้วย ซึ่งสายพันธุ์นี้จะระบาดเร็วมากซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ผู้มีความเสี่ยงต้องมาตรวจจนโหลดส่วนห้องแล็บด้วย ปัญหาอาจมีทั้งน้ำยาหมดหรือน้ำยามีแต่ตรวจไม่ทัน แต่ก็มีความพยายามเร่งแก้ไข เช่น การตั้งโรงพยาบาลสนามที่ มธ.และบางขุนเทียน รวมถึงเริ่มมีการเคลียร์เตียง แต่ทุกคนยังหวั่นใจว่า ถ้ายังคงมีเคสวันละพันๆ แบบนี้ สองอาทิตย์ก็คงเต็มที่จึงต้องหามาตรการอย่างอื่นมาเสริม

นายพิธา กล่าวว่า ขนาดกรุงเทพฯ ซึ่งน่าจะมีทรัพยากรมากที่สุดยังเกิดภาวะเช่นนี้ จึงทำให้เราต้องมองไปถึงพื้นที่อื่นๆ เช่น สตูล หนองบัวลำภู ระนอง เพราะจากข้อมูลสาธารณสุขที่มีในมือตอนนี้พบว่า จังหวัดเหล่านี้มีเตียงน้อย มี ICU น้อย มีบุคลากรน้อย ยังไม่นับว่ามีเครื่องช่วยหายใจอยู่แค่ไหน ขณะที่ครั้งนี้การกลับบ้านช่วงสงกรานต์เกิดขึ้นทุกพื้นที่ การกระจายเชื้อครั้งนี้จึงลงไปถึงชุมชน

Advertisement

เรื่องความเหลื่อมล้ำทางสาธารณสุขจึงเป็นอีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงและต้องมองไปที่ร้อยวันข้างหน้าที่อาจมีไข้เลือดออก ปอดบวม หรือโรคประจำฤดูกาลมาทับซ้อน ข้อมูลเหล่านี้สามารถประเมินได้ตั้งแต่ตอนนี้ว่าตรงไหนมีความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขอยู่และต้องวางแผนได้ว่าจะเพิ่มอะไรตรงไหนบ้าง และจากข้อมูลงบประมาณที่พรรคได้ศึกษาพบว่ามีเพียงพอที่จะนำมาจัดการได้

ในประเด็นความกังวลถึงประสิทธิภาพของวัคซีน Sinovac เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ พญ.ขวัญปีใหม่ แสดงความเป็นห่วงไว้ เนื่องจากหากดูกรณี ประเทศชิลี เป็นตัวอย่างซึ่งฉีดวัคซีนครอบคลุมแล้ว 37% ของประชากร แต่กลับมีการระบาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะวัคซีน Sinovac ไม่สามารถป้องกันเชื้อที่กลายพันธุ์ได้ ปัญหาที่น่าเป็นห่วงของวัคซีน Sinovac มีหลายข้อด้วยกัน ตั้งแต่ข้อมูลรายละเอียดเฟส 3 ที่ปัจจุบันยังไม่ได้ตีพิมพ์ ทำให้ไม่มีข้อมูลของวัคซีนแบบที่ผ่าน peer review

ประการต่อมาคือ การระบาดครั้งนี้เกิดจาก สายพันธุ์อังกฤษ (B1.1.7) ซึ่งเพิ่งมีข้อมูลตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine ว่า วัคซีน Sinovac อาจจะมีประสิทธิภาพในการสร้างแอนตีบอดี้เพียง 50% กับไวรัสสายพันธุ์นี้ จึงค่อนข้างน่าเป็นห่วงเพราะข้อมูลจากผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac จะสร้างแอนตี้บอดี้ หรือระดับภูมิคุ้มกันในระดับที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว จึงทำให้หวั่นใจในการป้องกันสายพันธุ์ใหม่โดยเฉพาะในแง่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ในแง่ป้องกันความรุนแรงของโรคคงต้องรีบฉีดไปก่อนตามที่มี และยังแนะนำให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนเท่าที่จะสามารถเข้าถึงวัคซีนของรัฐได้

“ความหลากหลายวัคซีนสำคัญมาก เพราะมีอีกหลายสายพันธุ์ต่อคิวระบาด หลังจากนี้ที่น่ากังวลต่อไปคือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ความหลายหลายสายพันธุ์หรือการกลายพันธุ์เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องมีวัคซีหลายชนิด อย่างที่สองคือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อให้เปิดประเทศได้ เพราะการเปิดประเทศจะมีคนเข้ามาหลากหลาย สามยุโรปและอเมริกามีปัญหาเรื่องคนไม่อยากฉีดวัคซีนเพราะกลัวผลข้างเคียง แต่ความหลากหลายทำให้เขาสบายใจที่จะฉีดมากขึ้นเพราะมีตัวเลือก สุดท้ายการผลิตวัคซีนต้องใช้เวลา แต่โควิดต้องรีบใช้ เพราะความต้องการเยอะมาก ดังนั้น การมีหลากหลายจึงเป็นหลักประกันว่า ถ้าตัวหนึ่งมีปัญหาก็ไปใช้ตัวอื่นได้ ” พญ.ขวัญปีใหม่ กล่าว

นายพิธา กล่าวว่าว่า เรื่องแผนวัคซีนแบบแทงม้าตัวเดียวได้เคยอภิปรายในสภาเพื่อเตือนให้รัฐบาลเตรียมพร้อมมาแล้วหรืออาจพูดได้ว่า ถ้าทำตั้งแต่ตอนนั้นจะมีเวลาเตรียมการไม่น้อยกว่า 7 เดือน เพราะในสถานการณ์ทวิวิกฤตแบบนี้ คือมีทั้งวิกฤตสาธารณสุขและวิกฤตเศรษฐกิจ ไวรัสสามารถกลายพันธุ์ได้หลายรูปแบบและในทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องรับผู้คนหลายกลุ่มเข้ามาเพื่อเปิดประเทศ จึงต้องมีมาตรการที่สมดุล ซึ่งสิ่งที่จะสร้างความมั่นใจได้ก็คือวัคซีน แต่ประเทศไทยเราเผาเวลาไปมาก เอาไข่ใส่ตระกร้าใบเดียวซึ่งได้อภิปรายไปแล้วในสภา แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการแก้ปัญหาและเพิ่งมาตัดสินใจแบบวัวหายล้อมคอก แต่ก็ยังดีที่ยังทำ

นายพิธา กล่าวว่า เพื่อทำความเข้าใจความแตกต่างของโควิดระลอก 3 จากระลอกสองในภาพรวมว่า การระบาดระลอก 3 มีความน่ากังวลกว่าสองระลอกที่ผ่านมา เพราะเชื้อเป็นสายพันธุ์อังกฤษที่ติดต่อง่ายกว่าเดิม 70 % และมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า 64 % มีการระบาดที่ไม่ได้ถูกจำกัดวง แต่แพร่กระจายสู่ชุมชนแล้ว ทำให้การเปิดไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อเพื่อเฝ้าระวังการระบาดแทบจะไม่เกิดประโยชน์ ขณะที่วัคซีนที่ไทยเร่งฉีดอยู่คือ Sinovac ซึ่งไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ได้ดีนัก โดยป้องกันได้เพียง 50 % และการฉีดก็ยังทำได้น้อยมาก ปัจจุบันมีคนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มมีเพียง 0.1 % ของประชากรทั้งประเทศ

“ภายใต้การบริหารของรัฐบาล เราจะเดินหน้าไปสู่จุดไหน มาตรการที่รัฐบาลเริ่มดำเนินการตอนนี้ คือ ตั้งโรงพยาบาลสนาม แต่ก็ยังมีปัญหาถกเถียงว่า โรงพยาบาลสนามยังไม่เพียงพอ ตั้งล่าช้า และไม่ชัดเจนว่าการใช้งานโรงพยาบาลสนามเพื่อการใด มีข้อเสนอแนะว่า ผู้ที่ไม่ได้มีอาการมาก ไม่จำเป็นต้องถูกกักไว้ที่โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลทั่วไป เพื่อประหยัดเตียงและประหยัดทรัพยากรสาธารณสุข แต่ควรให้โรงพยาบาลสนามเป็นที่รองรับผู้ป่วยที่มีอาการมากเท่านั้น

นอกจากนี้แนวทางเดิมที่ระบุให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสูงตรวจฟรีเท่านั้น ถูกข้อวิจารณ์อย่างมากในแวดวงสาธารณสุขว่าทำให้ควบคุมการระบาดไม่ทันการณ์ เพราะสถานการณ์นี้ยากจะประเมินว่าใครเสี่ยงสูงหรือต่ำ เพราะเชื้อกระจายสู่ชุมชนแล้ว หากประชาชนต้องเสียเงินตรวจเองก็จะทำให้ตรวจพบเชื้อได้ช้า และน้อยกว่าที่ควร ทำให้การควบคุมโรคทำได้ยากมาก ส่วนการให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้ก็ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ ว่าเอกชนเจรจาซื้อวัคซีนจากบริษัทใหญ่ๆได้ยากกว่า พลังต่อรองน้อยกว่า และอาจเสียเวลากว่า

ส่วนแนวทางการไม่ล็อกดาวน์แต่ให้จังหวัดออกมาตรการควบคุมการระบาดเอง พบว่ามากกว่า 30 จังหวัด กำหนดให้ประชาชนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงต้องกักตัว 14 วัน เมื่อเดินทางถึงจังหวัด หรือต้องรับการตรวจ Rapid test ทันทีที่เดินทางถึงจังหวัด ทำให้เกิดความยุ่งยากวุ่นวาย และรวมคนหมู่มากโดยไม่จำเป็น เช่นที่ บุรีรัมย์ ประชาชนนับพันคนต้องไปรอตรวจ rapid test ในพื้นที่เดียวกัน” นายพิธา กล่าว

และว่า หากมาตรการยังเป็นอยู่เท่านี้ scenarios หรือฉากทัศน์ที่อาจเกิดขึ้นได้คือ การระบาดใหญ่ ที่ทำให้สุดท้ายจำเป็นต้องล็อกดาวน์และสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจมากกว่าเดิม ดังนั้น ตนจึงมี ข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤติในหลายประเด็น คือ โรงพยาบาลสนาม ควรตั้งในพื้นที่ระบาดสูงทั้ง 4 มุมเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ผนวกกับพิจารณาใช้โรงแรมเป็นพื้นที่กักตัวสำหรับคนที่ไม่มีอาการ เพื่อลดการระบาด บริหารทรัพยากรง่าย

โรงพยาบาลปกติ ใช้ศักยภาพในการวินิจฉัย ดูแลเคสหนัก และ ICU อย่างเต็มที่ งดการผ่าตัดที่ไม่จำเป็น เลื่อนนัดคนไข้ที่ไม่ด่วน เคลียร์ ICU ให้พร้อมรับคนไข้โควิด และมี active surveillance เฝ้าระวังการติดเชื้อของหมอพยาบาลหน้างาน

เพิ่มศักยภาพการตรวจหาเชื้อ การตรวจเชื้อต้องทำเป็น Mass testing อาจทำได้หลายวิธี จากตัวแบบหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ใช้วิธีส่งชุดตรวจให้ประชาชนถึงบ้านฟรี 2 ครั้งต่อสัปดาห์ อินเดีย ใช้วิธีตั้งจุดตรวจในสถานที่ชุมชน โดยเฉพาะจุดที่มีการระบาดสูง รวมถึงตามห้างสรรพสินค้าและสถานีรถไฟ เกาหลีใต้ ทำจุดตรวจแบบไดรฟ์ทรูทั่วประเทศ

นายพิธา กล่าวว่า วัคซีน จัดหาและฉีดอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ยังมองว่ารัฐไม่ควรผลักภาระให้เอกชนต่างคนต่างซื้อ เนื่องจากการซื้อวัคซีนโดยทั่วไป บริษัทใหญ่จะเจรจากับรัฐบาลมากกว่า จึงยังเป็นหน้าที่หลักของรัฐในการต้องเร่งจัดหาวัคซีนที่หลากหลายเจ้าที่สุด เพื่อให้เหมาะกับประชาชนที่มีอายุและความเสี่ยงต่างกัน รวมถึงเพื่อรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ ควรเน้นวัคซีนที่ผลิตแบบ mRNA เช่นไฟเซอร์และโมเดอร์นา แม้แพงกว่าก็จำต้องจ่าย ซึ่งตอนนี้หากจะได้วัคซีนมาอย่างเร็วทันการณ์ อาจต้องจ่ายแพงกว่า 2-3 เท่าจากราคาปกติก็ต้องทำ เนื่องจากคุ้มค่ากับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่รัฐต้องแบกรับจากการระบาดของโรค

โดยรัฐอาจนำวัคซีนที่ซื้อมาขายให้โรงพยาบาลเอกชน โดยมีเงื่อนไขว่าแต่ละโรงพยาบาลที่ซื้อวัคซีนไปจากรัฐจะต้องมีโควต้าฉีดวัคซีนฟรีให้กับประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงในอัตราส่วนตามแต่รัฐตกลงกับเอกชน เพื่อให้เอกชนช่วยผ่อนภาระการฉีดวัคซีนไปจากโรงพยาบาลรัฐ ทำให้การฉีดวัคซีนทำได้เร็วขึ้น และรัฐอาจต้องเข้าไปอุดหนุนเอกชนบางส่วน อาจจะคนละครึ่งเพราะราคาวัคซีนอาจสูงจนทำให้บางกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงยากแต่จำเป็นต้องฉีด เช่น ภาคการท่องเที่ยว ก็จะทำให้วัคซีนไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้ โดยอาจใช้มาตราการทางภาษีมาเพื่อแบ่งเบาประชาชนด้วยการให้เอกชนมาเป็นส่วนสนับสนุน

“สิ่งที่รัฐควรให้กับประชาชนตอนนี้คือการให้ข้อมูลสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมา เพื่อการเตรียมพร้อมรับมือโควิดอย่างเท่าทัน ก่อนจะสายเกินไป ถ้ามัวแต่ปกปิดความจริง สุดท้ายจะนำไปสู่การล็อกดาวน์อยู่ดี และทุกอย่างจะพังทลาย คนก็ตาย เศรษฐกิจก็พัง เราไม่อยากเห็นการล็อกดาวน์อีกครั้ง เพราะฉะนั้นขอให้รัฐบาลรับข้อเสนอเหล่านี้ไปพิจารณา เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ” นายพิธา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image