บทนำมติชน : สกัดความรุนแรง

บทนำ สกัดความรุนแรง

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. เผยแพร่รายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2563 โดยมองสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสถานการณ์เกี่ยวกับการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ว่าสถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง จากการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์การชุมนุมของ กสม. ส่วนใหญ่พบว่าไม่มีเหตุการณ์รุนแรง แม้จะมีการกระทบกระทั่งกันอยู่บ้าง แต่ทั้งสองฝ่ายพยายามใช้ความอดทนอดกลั้นเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง

กสม.มีความเห็นว่า มีการชุมนุมสองกรณีที่บริเวณแยกปทุมวันและหน้ารัฐสภาที่รัฐใช้มาตรการยุติการชุมนุมโดยการฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีเข้าใส่ผู้ชุมนุม โดยเฉพาะการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่แยกปทุมวันนั้น กสม.เห็นว่ายังไม่ปรากฏลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรงจนถึงขั้นต้องใช้มาตรการสลายการชุมนุม การฉีดน้ำผสมสารเคมีจึงเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมรัฐยังคงทำหน้าที่ดูแลการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชนโดยไม่ได้แทรกแซงการใช้เสรีภาพดังกล่าวแม้ในบางกรณีผู้จัดการชุมนุมไม่ได้แจ้งการชุมนุมตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 แต่การชุมนุมยังคงดำเนินต่อไปได้

รายงานของ กสม.ระบุอีกว่า ในส่วนการกระทำผิดระหว่างการชุมนุม ตำรวจมีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ชุมนุมและออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งหลังจากสอบปากคำแล้วได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างดำเนินคดี ซึ่งสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยตามกติกา ICCPR แต่พบปัญหาอุปสรรคการจำกัดการแสดงความคิดเห็น และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยพบว่าเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2563 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งระงับหรือลบจำนวน 50 คำสั่งศาล 1,145 URLs การกระทำดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ

Advertisement

รายงานของ กสม.ระบุต่อไปว่า การใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง หรือ hate speech ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความแตกต่างทางความคิดเห็น การใช้วาจาสร้างความเกลียดชังต่อฝ่ายที่มีความเห็นตรงข้ามปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงภาพวาดการ์ตูนล้อเลียน ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง และอาจลุกลามบานปลายได้ โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์มีผู้นำเนื้อหาที่มีระดับความรุนแรงและลักษณะการสื่อสารความเกลียดชังไปเผยแพร่ในวงกว้าง อาจทำลายวัฒนธรรมการเคารพซึ่งกันและกันคุกคามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นำไปสู่การทำลายบรรยากาศการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของบุคคล รวมทั้งกรณีการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

รายงานของ กสม.ฉบับนี้ ทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายผู้ชุมนุม รวมไปถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสมานฉันท์น่าจะนำไปศึกษาเพิ่มเติม ถือว่า กสม.เป็นองค์กรที่มองความขัดแย้งระหว่างรัฐกับกลุ่มผู้ชุมนุมในปี 2563 แล้วสะท้อนออกมาเป็นรายงานภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งหากสามารถนำเอาหลักดังกล่าวมาปฏิบัติ อาจทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีวิธีการต่อผู้ชุมนุมที่ดีกว่านี้ ส่วนผู้ชุมนุมก็จะได้ระมัดระวังการชุมนุมที่นำไปสู่ความรุนแรง เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมกันสกัดความพยายามของบุคคลบางกลุ่มที่ต้องการขยายความขัดแย้งให้กลายเป็นความเกลียดชังและสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image