คลังมั่นใจ เงินพอเยียวยาโควิด ไม่ต้องกู้เพิ่ม เอกชนหวั่นรอบ3 วูบ 3แสนล้าน

สรุปข่าวหน้า 1 :  คลังมั่นใจเงินพอเยียวยาผลกระทบโควิด ไม่ต้องกู้เพิ่ม เอกชนหวั่นระลอก3 วูบ 3แสนล้านบาท ลุ้นฟื้นตัวพ.ค.

เมื่อวันที่ 13 เมษายน กรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ระลอกล่าสุดทำให้ยอดผู้ติดเชื้อกระจายเพิ่มไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จนส่งผลกระทบอย่างมาต่อภาคธุรกิจ ล่าสุดแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยเมื่อวันที่ 12 เมษายนว่า การประเมินผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ จากการระบาดของเชื้อโควิดรอบใหม่นี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล คาดว่าน่าจะสรุปได้ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นถึงการระบาดของ
โควิดรอบใหม่ล่าสุดนี้ รัฐบาลอาจพิจารณากู้เงินเพิ่มเติม เนื่องจากการระบาดครั้งนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูงนั้น ที่ผ่านมาการใช้เงินงบประมาณเพื่อการเยียวยาแต่ละรอบเฉลี่ย 1-1.2 แสนล้านบาทต่อเดือน ขณะที่วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท เพียงพอสำหรับนำมาใช้ตามมาตรการเยียวยา 2 เดือนหากส่วนนี้ไม่เพียงพอ รัฐบาลยังมีเม็ดเงินในส่วนของงบประมาณปี 2564 อาทิ งบกลางสำรองสำหรับการใช้จ่ายฉุกเฉินและจำเป็น จึงมองว่ายังไม่จำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม

  • อีคอนไทยชี้แรงงานกระทบซ้ำ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโควิดรอบที่ 3 คนที่ออกมาจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลสงกรานต์ อาจลดลง 20-30% ซึ่งกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว มีการประเมินว่าในปี 2564 จะมีรายได้ 1.21 ล้านล้านบาท คาดว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะไม่เข้ามาตามที่วางแผนไว้ รายได้อาจลดลงถึง 3 แสนล้านบาท จะกระทบต่อตลาดแรงงานที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว

นายธนิตกล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมา เช่น เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง ทำให้การท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นกลับมา แต่พอมาเจอการระบาดรอบที่ 3 คาดไว้ว่าจะกินเวลานานทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ธุรกิจการท่องเที่ยวปิดตัวไปแล้วกว่า 40% เช่นเดียวกับธุรกิจร้านอาหารที่กำลังฟื้นตัว แต่เกิดระบาดหลายรอบ มีการทุ่มทรัพยากรไปจำนวนมาก ก็เกิดภาวะกระสุนหมด

“ต้องระวังเรื่องตลาดแรงงานให้ดี ภาครัฐพยายามพูดออกมาให้เป็นปกติ แต่ภาคเอกชนเห็นว่าไม่ปกติ ซึ่งขัดแย้งกับเอกสารการจ้างงานของกระทรวงแรงงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ระบุว่าการจ้างงานหดตัว เฉลี่ย 5% ทุกประเภทการจ้างงาน แสดงว่าตลาดแรงงานยังคงมีความเปราะบาง ขณะเดียวกันแรงงานในประกันสังคม ตามมาตรา 33 เมื่อเทียบกับปีที่แล้วมีแรงงานหายไปเกือบ 6 แสนคน” นายธนิต กล่าว

Advertisement

นายธนิต กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเป็นคำตอบสุดท้าย ถ้าตอบเรื่องนี้ไม่ได้ ก็ตอบคำถามอื่นไม่ได้ ขณะนี้ไทม์ไลน์การฉีดวัคซีนไม่มีความชัดเจน มีความล่าช้าในการฉีด ต้องรอให้มีการะบาดหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงถึงจะฉีดวัคซีน แบบนี้ใช้ไม่ได้ จะต้องฉีดให้ทั่วถึงอย่างเร็วที่สุด ส่วนภาคการส่งออกที่ยังพอเดินหน้าได้ แต่ยังมีความเปราะบางอยู่เพราะขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก ตัวเลขการนำเข้าเพื่อการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น 20% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ส่วนเรื่องจีดีพี ถ้าในไตรมาสที่ 2 ไม่ขยายตัวได้ที่เท่าที่ควร การจะดึงจีดีพีทั้งปีขยายตัวถึง 3-4% คงเป็นเรื่องที่ยาก เอกชนประเมินเบื้องต้นว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 2.6-2.7% เท่านั้น

  • ซีไอเอ็มบีชี้การบริโภคลดวูบ

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดใหญ่ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นอีกระลอก มีความเป็นไปได้สูงที่ภาครัฐจะจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนอีกครั้ง ซึ่งจะกระทบทางเศรษฐกิจเป็นรอบที่ 3 แต่หากควบคุมได้ดีขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาเปิดมากขึ้น การใช้จ่ายจะดีขึ้นในเดือนพฤษภาคม แต่แม้จะสิ้นสุดการระบาดรอบ 3 นี้ การบริโภคก็ยังเสี่ยงโตช้าด้วยปัจจัยอื่น ย้อนกลับไปช่วงก่อนโควิดระบาด การบริโภคภาคเอกชนก็โตต่ำกว่าการเติบโตของจีดีพี เรียกง่ายๆ ว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตจากภายนอกมากกว่าภายในประเทศ ปีนี้ก็เช่นกัน หากดูการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์แต่ละสำนัก จะเห็นภาพคล้ายคลึงกันคือการบริโภคเอกชนโตต่ำกว่า 3%

นายอมรเทพ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปัจจุบันหากไม่นับผลกระทบจากการระบาดโควิดรอบ 3 นี้ ด้านการบริโภคก็ยังมีความเสี่ยงเติบโตช้าด้วย 4 ปัจจัยหลัก คือ 1.ขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนการฟื้นได้ด้วยกำลังซื้อคนไทยยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง 2.ขาดการลงทุน เอกชนยังคงชะลอการลงทุน เพราะโรงงานต่างๆ เลือกที่จะระบายสต๊อกสินค้าก่อนเร่งผลิต หรือแม้กำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นแต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดระบาด ทำให้การลงทุนใหม่ๆ ยังเลื่อนออกไป หวังพ.ค.เศรษฐกิจเริ่มฟื้น

Advertisement

นายอมรเทพ กล่าวว่า 3.ขาดความเชื่อมั่น ปัจจุบันยังเห็นคนออมเงินค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นกลุ่มคนพอมีเงิน มีฐานะ กลุ่มนี้กลับลังเลที่จะใช้เงิน อาจห่วงภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นไม่เต็มที่ คงหวังให้มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้มากขึ้น เช่น เพิ่มการลดหย่อนภาษี หรือลดภาษีรายได้ และ 4.ขาดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย มาตรการรัฐในการลดค่าครองชีพและกระตุ้นการบริโภคผ่านเงินโอนจากรัฐบาลกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 พฤษภาคม หากไม่มีการต่ออายุมาตรการเหล่านี้และให้เงินเพิ่มเติม เกรงว่าคนจะไม่ใช้จ่ายมากเท่าที่เป็นอยู่ อาจต้องรอดูว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นได้ดีขึ้นจนคนกลุ่มอื่นๆ ใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2 นี้

“การระบาดรอบนี้มีผลต่อการบริโภคที่อาจชะลอในเดือนเมษายนในแทบทุกหมวด แต่หมวดอาหาร เครื่องดื่มอาจไม่ลดลงแรงเท่ากลุ่มอื่น เพราะได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาล เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นในเดือนพฤษภาคม แต่ที่น่าห่วงสำหรับเศรษฐกิจไทยคือการใช้จ่ายของคนไทยยังเติบโตช้าด้วยปัจจัยอื่นนอกจากโควิด ซึ่งน่าจะมีผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำอยู่ในปีนี้” นายอมรเทพกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image