รายงานหน้า 2 : วิพากษ์‘โควิดรอบ3’ ผลกระทบ-การแก้ปัญหา

รายงานหน้า 2 : วิพากษ์‘โควิดรอบ3’ ผลกระทบ-การแก้ปัญหา

รายงานหน้า 2 : วิพากษ์‘โควิดรอบ3’ ผลกระทบ-การแก้ปัญหา

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการประเมินสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรอบ 3 ทั้งการบริหารจัดการวัคซีน ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การเมือง และมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไรนั้น

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

รายงานหน้า 2 : วิพากษ์‘โควิดรอบ3’ ผลกระทบ-การแก้ปัญหา

Advertisement

สถานการณ์การระบาดระลอกนี้ถือว่าหนักมาก ทั้งในแง่ปริมาณและความครอบคลุมทั้งประเทศ ความวิตกกังวลของประชาชน บวกกับการเกิดในช่วงสงกรานต์ที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะฟื้นเศรษฐกิจได้บ้าง

ก่อนหน้านี้ในหลายจังหวัด รัฐบาลเริ่มปล่อยวัคซีนไปแล้ว เช่น จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ เพราะเชื่อว่าอย่างน้อย ถ้ามีวัคซีนจะรองรับการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่ปรากฏว่าผลไม่ได้เป็นไปตามนั้น โควิดเกิดระบาด การท่องเที่ยวชะลอตัว เท่ากับว่าเป็นการซ้ำเติมวิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

Advertisement

ส่วนในทางการเมืองเอง เป็นประเด็นที่เรื้อรังมาตลอดตั้งแต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะกรณีของวัคซีน ตอนนี้กลายเป็นการเมืองของโควิดแล้ว สังคมไม่รู้ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความลวง ข้อมูลของฝั่งรัฐก็ทำให้ประชาชนไม่ค่อยไว้วางใจ

ในขณะที่ฝ่ายค้านเองก็นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นการเมืองในการทำให้เห็นว่ารัฐบาลมีปัญหาในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด เราใช้โควิดเป็นการเมืองจนบางครั้งไม่มีพื้นที่กลางสำหรับประชาชนในการหาทางออกร่วมกันท่ามกลางภาวะวิกฤต บวกกับสถานการณ์ที่หนักมากจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจมาก

เพราะครั้งนี้เกิดขึ้นมาจากคนในฝั่งรัฐบาล และปรากฏว่าสถานที่เกิดซ้ำรอยให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบราชการในการแก้ปัญหาธุรกิจสีเทา ย้ำให้เห็นว่าไม่มีมาตรการอะไรเลย ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ในกรณีต่างๆ 1.แรงงานต่างด้าว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าทหาร ตำรวจมีส่วนรู้เห็น 2.บ่อนที่ระยอง ตำรวจก็มีส่วนรู้เห็น 3.ทองหล่อ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตำรวจรู้เห็น สะท้อนกลับไปถึงการแก้ปัญหาของรัฐไทยที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด

นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงสภาวะ 2 มาตรฐาน เวลาเกิดขึ้นกับกลุ่มวีไอพี นักธุรกิจระดับใหญ่ รัฐบาลมีท่าทีที่ไม่ค่อยจริงใจในการแก้ปัญหา มาตรการต่างๆ ถูกผลักภาระไปสู่ภาคประชาชนทั้งหมด เราไม่เห็นวิธีการแก้ปัญหาในเชิงรุก และการมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมสำหรับผู้กระทำผิดจากกระบวนการที่สร้างปัญหาสู่สังคม สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ส่วนตัวไม่มั่นใจว่าการที่ประชาชนทยอยกลับต่างจังหวัดครั้งนี้ จะคืนสู่เมืองอีกครั้งหรือไม่ เพราะเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง

สิ่งสำคัญคือในภาวะวิกฤตแบบนี้ รัฐบาลต้องมีความสามารถในการสื่อสารให้ได้มากที่สุด เพราะตอนนี้ข้อมูลกระจัดกระจายมาก ไม่รู้ว่าข่าวไหนจริง หรือปลอม ไม่รู้ว่าข้อมูลชุดไหนจริง หรือปลอม ประชาชนอยู่ด้วยความหวาดวิตก

ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

รายงานหน้า 2 : วิพากษ์‘โควิดรอบ3’ ผลกระทบ-การแก้ปัญหา

ในทางการแพทย์ของเราเชื่อถือได้ แต่อำนาจรัฐที่เป็นหลุมดำ ทำให้ทุกอย่างดูมีปัญหาไปหมด การแพร่ระบาดของโควิดในบ้านเราเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งเป็นมุมมืดของอำนาจรัฐ เช่น ธุรกิจมืด กล่าวคือ โควิดระบาดในหลุมดำ นี่คือปัญหา เพราะมาตรการที่ออกมาโดยตลอด ตามที่ ศบค.แถลง มีกฎระเบียบต่างๆ มากมาย ซึ่งเป็นการบริหารจัดการในมุมเปิด

อย่างไรก็ตาม ในการระบาดตั้งแต่แรงงานต่างด้าวเป็นต้นมา หรือแม้กระทั่งคลัสเตอร์ในช่วงหลัง เกิดจากมุมมืดทั้งสิ้น

ส่วนตัวมองว่าหลังจากการระบาดในรอบปัจจุบัน ความเชื่อถือในอำนาจรัฐในการจัดการจะสำคัญมากกว่า หรือพอๆ กับการนำเข้าวัคซีน ความท้าทายต่อไปมี 2 ประเด็นคือ 1.จะสามารถสร้างความโปร่งใสในประเด็นวัคซีนได้อย่างไร 2.ความเพียงพอของโรงพยาบาลสนาม และการถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

สำหรับด้านเศรษฐกิจ การหวังพึ่งพาเรื่องของการท่องเที่ยว การนำนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศเป็นหลักคงเป็นไปไม่ได้ ปัญหาที่ต้องคำนึงคือในหลายประเทศ วัคซีนก็ถูกตั้งคำถามในประสิทธิภาพ

ส่วนด้านการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ตอนนี้อยู่ในช่วงซัมเมอร์ การแพร่กระจายในห้องเรียนลดความเสี่ยงลง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือปัญหาที่สืบเนื่องจากปีที่แล้ว คือ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 หลายคนเรียนออนไลน์ โดยยังไม่เคยเรียนในห้องเรียนเลย ซึ่งจะเป็นปัญหาที่สั่งสมในปีที่ 2 ที่จะเปิดเทอมในเดือนมิถุนายนนี้

แน่นอนว่าการเรียนออนไลน์ ประสิทธิภาพไม่เท่าในห้องเรียน จึงอยากเห็นมาตรการที่ออกจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในระยะยาว เรื่องการประกันคุณภาพการศึกษา ในรูปแบบการเรียนออนไลน์ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่างๆ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน และต่างก็มีมาตรฐานของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์แบบนี้อาจไม่ได้ใช้เวลาเพียง 1-2 ปี บางคนพูดถึงปี 2566 ด้วยซ้ำไป คือ ใช้เวลา 3 ปี ถ้าบัณฑิตที่จบออกไป ไม่ได้มีการเรียนรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทปอ.ต้องมีมาตรฐานการศึกษาในด้านการเรียนออนไลน์ออกมาให้ชัดเจน

นโยบายที่อยากเห็นคือการนำนักเรียนเข้าสู่ห้องเรียนได้อย่างปลอดภัย ซึ่งอย่างน้อยวัคซีนสามารถสร้างหลักประกันได้

หากวัคซีนและยาในประเทศเราเองมีประสิทธิภาพไม่ด้อยกว่าต่างประเทศ จะลดปัญหาเรื่องข้อกังขาในความโปร่งใสไปได้มาก ว่ายี่ห้อใดนำเข้าแพง

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

รายงานหน้า 2 : วิพากษ์‘โควิดรอบ3’ ผลกระทบ-การแก้ปัญหา

สิ่งแรกที่ต้องการเห็นรัฐบาลทำอย่างเร่งด่วนคือ การเปิดโอกาสให้มีการจัดหาวัคซีนทางเลือกที่มีความรวดเร็วมากขึ้น และรัฐจะต้องหาแนวทางที่จะทำให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมในการติดสินใจเชิงนโยบายอย่างชัดเจน หลังจากโควิด-19 ระบาดมานานกว่า 16 เดือน เพราะวันนี้ยังไม่เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ขณะที่มีการระบาดแล้ว 3 ระลอก จึงสะท้อนภาพให้เห็นว่ายังไม่มีอะไรที่จะขับเคลื่อนเดินหน้า เพื่อทำให้ทุกภาคส่วนเห็นโอกาสที่ดีในอนาคตกับการแก้ไขปัญหานี้

แต่กลายเป็นว่าหลายเรื่องที่ผ่านมา ได้สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาลอย่างชัดเจน

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาที่รัฐบาลเคยใช้รูปแบบการรวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลาง หรือกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดตัดสินใจดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ จากสถานการณ์ขณะนี้ เห็นได้ว่าการแก้ปัญหายังไม่มีเอกภาพ

แต่ละจังหวัดตัดสินใจโดยไร้กรอบไร้ทิศทาง ทำให้เกิดความสับสนในเรื่องการเดินทางระหว่างจังหวัด แนวทางการกักตัว 14 วัน ซึ่งมีการนำปัญหาเป็นตัวตั้งแล้วมุ่งสู่การสร้างหลักการ โดยไม่สร้างหลักการแล้วนำไปแก้ปัญหา

ดังนั้นการตัดสินใจที่เกิดขึ้นของแต่จังหวัดดูเหมือนไร้ทิศทาง ที่สำคัญในภาพรวมยังไม่เห็นการแก้ไขอย่างยั่งยืน ด้วยการปรับแผนยุทธศาสตร์และแนวทางการฟื้นฟู ทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว

สิ่งที่สะท้อนความล้มเหลวจากภาครัฐอีกประการ คือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่กำหนดไว้ ไม่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาโควิด-19 ได้อย่างเป็นรูปธรรม

รวมทั้งการใช้แผนปฏิรูปประเทศ การแก้ปัญหารัฐบาลต้องสร้างการมีส่วนร่วม ต้องประเมินจากการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมาว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่

จากโครงสร้างรัฐที่มีการใช้อำนาจลักษณะรวมศูนย์ ปัญหาจากการระบาดอย่างหนักขณะนี้ ยังไม่มีผู้มีอำนาจออกมาบอกว่าเรื่องนี้จะต้องยกให้เป็นวาระแห่งชาติ

สำหรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิดในรอบ 16 เดือนได้สร้างปัญหาอย่างมากมาย การช่วยเหลือแก้ไขเยียวยาเป็นเพียงมาตรการเฉพาะหน้า

แต่ยังไม่มีการแก้ปัญหาในเชิงระบบอย่างชัดเจน หากมีกระบวนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาดที่ต่อเนื่องยาวนาน ความเดือดร้อนของประชาชนจะมีมากขึ้น สะท้อนถึงประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลและกลายเป็นปัญหาทางการเมืองในอนาคต

ขณะที่การใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นเพื่อควบคุมโรคที่ผ่านมามักเอาผิดกับกลุ่มบุคคลที่ไม่มีเส้นสาย ไม่มีพรรคพวก ทำให้เห็นว่าการใช้กฎหมายบางเรื่องยังอยู่ภายในระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์

การแก้ปัญหาแบบนี้ไม่ช่วยการวางรากฐานการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ทำให้เกิดการยอมรับ เพราะต้นตอการระบาดของโรคเกิดจากความบกพร่องของหน่วยงานภาครัฐมากกว่าเกิดจากประชาชน

ในรอบแรกเกิดจากสนามมวยใน กทม. การระบาดรอบต่อมาเกิดจากการเคลื่อนย้ายแรงงานเถื่อน การเปิดบ่อนการพนันมีการจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐ

รอบล่าสุด มาจากสถานบันเทิง ที่หน่วยงานรัฐมีหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อควบคุมและจัดระเบียบสังคม แต่หลังมีการระบาดทุกครั้ง ประชาชนจะเห็นการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่บกพร่องจากเรื่องเหล่านี้น้อยมาก

วีระศักดิ์ เครือเทพ
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายงานหน้า 2 : วิพากษ์‘โควิดรอบ3’ ผลกระทบ-การแก้ปัญหา

สถานการณ์การระบาดในปัจจุบันทางการแพทย์มองว่ามีความรุนแรงมากขึ้น แต่ในแง่ของการบริหารจัดการจากระบบราชการ กลายเป็นว่ารัฐบาลเริ่มไร้ทิศทาง หากเทียบกับการระบาดในระลอกที่ผ่านมา ทั้งการวางยุทธศาสตร์ หรือท่าทีของรัฐจะเน้นการควบคุม และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่อย่างแข็งขัน

แต่การระบาดระลอกใหม่ หากให้ประเมิน ก็คาดว่ารัฐบาลคงเห็นผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่ไหวจากการควบคุมอย่างแข็งขัน กลายเป็นหย่อนยาน และอาจมีการลอยแพเกิดขึ้นหรือไม่ เนื่องจากหลักการทำงานรัฐได้กระจายให้แต่ละจังหวัดดูแลพื้นที่ กำหนดแนวทางกันเอง จึงเป็นที่มาของนายกรัฐมนตรีเคยกล่าวว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด

สำหรับท่าทีแบบนี้เกิดจากรัฐไม่มีนโยบายที่มีการรวมศูนย์สั่งการเหมือนในอดีต หากติดตามสถานการณ์วันนี้ อาจจะรุนแรงกว่าที่ผ่านมา แต่ยุทธศาสตร์รัฐไม่มีอะไรที่ชัดเจนแบบเดิม

ดังนั้น จึงน่ากลัวว่าประชาชนและภาคธุรกิจเอกชนเริ่มจะไม่เห็นแสงสว่าง เมื่อทุกภาคส่วนไม่เห็นชัดเจนว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะยุติอย่างไร ก็มีปัญหาจากการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชนหรือเดินหน้าธุรกิจ และความไม่ชัดเจนแบบนี้จะทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่ต่างจากการสั่งล็อกดาวน์เมื่อปีก่อน

ทั้งที่ก่อนสงกรานต์ 2564 ภาคธุรกิจได้วางแผนหารายได้จากการลงทุนไว้แล้ว แต่สถานการณ์พลิกอย่างรวดเร็ว โดยที่รัฐบาลไม่มีทีท่าอะไรที่ชัดเจน

หากเลือกได้ระหว่างความเสียหายจากการสั่งล็อกดาวน์ หรือหากจะปล่อยให้ความเสียหายเกิดขึ้นคล้ายการล็อกดาวน์ในสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐก็ควรกลับไปเน้นมาตรการเข้มเหมือนเดิม โดยบอกความจริงกับประชาชนว่าไม่มีงบประมาณเยียวยาจากภาวะเศรษฐกิจ

แต่รัฐควรห่วงว่า หากปล่อยให้โควิดระบาดไปเรื่อยๆ โดยไม่ควบคุม ก็จะทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อยาวนานมากกว่าเดิม

ดังนั้นรัฐควรออกมาถามประชาชนว่าจะยอมกลับไปใช้มาตรการเหมือนช่วงต้นปี 2563 หรือไม่ ก็อาจจะพอหยุดยั้งการแพร่ระบาดที่แรงได้ ขณะที่ผลเสียด้านเศรษฐกิจปีนี้ ช่วงเดียวกันกับปีก่อน ประเมินว่าไม่แตกต่างกัน

สำหรับความเชื่อมั่นจากการบริหารวัคซีนป้องกันโควิด ถึงปัจจุบันมีความชัดเจนว่ายังไร้ทิศทาง แผนที่รัฐบาลเคยบอกว่าจะดำเนินการให้ครบตามเป้าหมาย ดูเหมือนจะล่าช้าหากเทียบสัดส่วนประชากร เพราะปัจจุบันยังฉีดไม่ถึง 1% ของจำนวนประชากร และยังไม่เห็นการปรับแผนของรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรให้วัคซีนนำเข้ามาให้มากกว่าเดิม

ขณะที่หลายประเทศพยายามวิ่งหาวัคซีน แต่ไทยยังไม่ได้มีความเคลื่อนไหวแบบนี้ เพราะการเจรจากับผู้ซื้อ 2 รายเดิมก็ยังไม่เพิ่มจำนวน การหาผู้ขายรายใหม่ก็ยังไม่มี วันนี้ขอให้รัฐบาลเร่งรัดในการทำงานให้มากกว่านี้

ส่วนแนวทางแก้ปัญหาโควิด สังคมต้องการเห็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด มีความเท่าเทียมกัน อย่าให้ประชาชนตั้งคำถามว่า รัฐบาลนี้จะใช้กฎหมายกับประชาชนเพียงกลุ่มเดียว โดยละเว้นการใช้กับผู้มีอำนาจในรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยหรือไม่

หากรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาโรคระบาดได้จริงจัง ก็ควรบังคับใช้กฎหมายให้มีมาตรฐาน อย่าเลือกปฏิบัติ และขอให้ตั้งข้อสังเกตว่าการระบาดของโควิดทุกครั้งไม่ได้มีคลัสเตอร์ที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมือง

ดังนั้นก็ขอให้พิจารณาว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสถานการณ์โรคระบาดจะเหมาะสมหรือไม่ รัฐเคยประสบความสำเร็จในการควบคุมโรค จากการใช้กฎหมายนี้บ้างหรือไม่ หากประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ในปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image